xs
xsm
sm
md
lg

“ตราสารศุกูก : ตอนที่ 1 ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Smart Money Smart Life
โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน


วันนี้ขอแนะนำตราสารใหม่ๆ ที่คาดว่าจะเริ่มมีการออกในปีนี้ คือ ตราสารศุกูก ซึ่งเป็นตราสารที่สอดคล้องกับการลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งหลายท่านคงสงสัยว่าการลงทุนตามหลักศาสนาอิสลามแตกต่างจากการลงทุนโดยทั่วๆไปอย่างไร แล้วทำไมถึงต้องมีตราสารตัวนี้ออกมา ผมขออธิบายอย่างนี้ครับ

หลักศาสนาของชาวมุสลิมกำหนดให้ลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจต้องห้าม และไม่รับและจ่ายดอกเบี้ย โดยธุรกิจที่สามารถลงทุนได้ ได้แก่
การผลิตสินค้า ยกเว้น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด สื่อและสิ่งพิมพ์ที่ใช้ภาพเปลือย การพนัน สุกร
การค้า ยกเว้น การค้าปลีกหรือค้าส่ง การค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด สื่อและสิ่งพิมพ์ที่ใช้ภาพเปลือย การพนัน สุกร
การบริการ ยกเว้น บ่อนการพนัน สถาบันการเงินที่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ย บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการลงทุนในดอกเบี้ย ผับ บาร์ สนามม้า

และด้วยข้อกำหนดเรื่องธุรกิจต้องห้ามและการไม่รับดอกเบี้ยนี่เอง จึงทำให้ทางเลือกการออมและการลงทุนของชาวมุสลิมมีน้อย โดยมักอยู่ในรูปการฝากทรัพย์ การลงทุนในสัญญาเช่า และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจก็ย่อมมีทั้งผู้มีเงินออมส่วนเกิน และผู้ต้องการเงินลงทุน และเพื่อให้คนทั้งสองฝ่ายมาพบกันได้ กฏหมายอิสลามจึงมีช่องทางในการระดมทุนในรูปของการเป็นหุ้นส่วนหรือการร่วมระดมทุน (Venture Capital) ซึ่งถือเป็นการร่วมดำเนินธุรกิจและแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน

ตราสารศุกูก เป็นตราสารแสดงสิทธิในการได้รับผลตอบแทนจากการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้ถือตราสารได้รับจะอยู่ในรูปค่าเช่า ค่าผ่อนชำระ หรือส่วนแบ่งกำไร แต่ห้ามรับเป็นดอกเบี้ย และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ขอเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างตราสารหนี้โดยทั่วๆไปและตราสารศุกูก ดังนี้ครับ

ที่ผ่านมาตลาดการเงินอิสลามมีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเติบโตสูงกว่าตลาดทุนโดยรวมเสียอีกเนื่องจากชาวมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมัน และมีความต้องการลงทุนตามหลักศาสนา ซึ่งมีการคาดกันว่าในอีกสองถึงสามปีข้างหน้า มูลค่าตลาดสินทรัพย์อิสลามจะสูงขึ้นเป็น 3 - 4 ล้านดอลลาร์สรอ. จากมูลค่าตลาดปี 2550 ที่ 1.3 ล้านดอลลาร์สรอ.

ประเทศมาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เป็นผู้นำตลาดการเงินอิสลาม โดยในช่วงปี 2548 -2551 มูลค่าตลาดการเงินอิสลามเติบโตขึ้นเฉลี่ย 20% ต่อปี และพัฒนาการอีกประการหนึ่ง ก็คือ หลายๆประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดการเงินอิสลามมากขึ้น อาทิ สิงค์โปร และฮ่องกง

ด้วยเหตุนี้เอง แผนพัฒนาตลาดทุนของบ้านเราจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดการเงินอิสลาม เพื่อมุ่งหวังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ และคาดว่าภายในปีนี้ คงมีตราสารศุกูกออกและเสนอขายในบ้านเราอย่างแน่นอน สำหรับสัปดาห์หน้า จะกลับมาเล่าถึงรูปแบบของตราสารศุกูกอย่างละเอียดนะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น