เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2554 ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์พี (ดอกเบี้ยนโยบาย) เพิ่มขึ้นอีก 0.25% ตามที่ตลาดคาดการณ์เอา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับเพิ่มขึ้นเป็น 2.25% โดยกนง.ให้เหตุผลในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาจาก เริ่มมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และมีอัตราเร่งตัวสูง ขณะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยของไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค กนง.จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ปรับขึ้นขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามหลายคนมองว่าหากดอกเบี้ยยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น การลงทุนอะไรจะเหมาะสมกับสถานการณ์เช่นนี้ แล้วจะต้องปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมกับทิศทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต.....
สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล Fund SuperMart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มองว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยในปี 2554 ที่เราคาดการณ์ไว้จะอยู่ที่ 2.75%-3% ซึ่งการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่เหมาะสมกับภาวะเช่นนี้คือ การลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี หากสังเกตจะเห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือ บลจ. ส่วนใหญ่เริ่มหันมาเปิดขายกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 2 ปี แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 3-6 เดือน
อย่างไรก็ตามเรามองว่า การจัดสรรพอร์ตการลงทุนในช่วงนี้ควรจะให้น้ำหนักไปยังกองทุนตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ มากกว่าจะเลือกหุ้นเข้ามาอยู่ในพอร์ต เนื่องจากเรามองว่าระยะกลางมีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยจะมีความผันผวนคล้ายกลับปี 2008 ที่ผ่านมาจากปัจจัยหนี้สาธารณะของประเทศในฝั่งยุโรป ปัญหาตลาดแรงงานการว่างงานของสหรัฐฯ รวมไปถึงอัตราเงินเฟ้อในประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น
"การปรับพอร์ตในช่วงนี้เราแนะนำให้ลดการลงทุุนในกองทุนหุ้น แต่เพิ่มการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี โดยเฉพาะ 3-6 เดือนเป็นต้น พร้อมกับเลือกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ หรือ Global Bond เข้ามาเติมการลงทุนในระยะกลาง จากที่เราเลือกลงทุนระยะสั้นคือ ตราสารหนี้ระยะสั้น และการลงทุนในกองทุนหุ้นที่ต้องลงทุนแบบระยะยาวไปแล้ว"สานุพงศ์ กล่าว
สำหรับการที่เราแนะนำให้นักลงทุนเลือกกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศเช่นกองทุน Global Bond เข้ามาอยู่ในพอร์ตการลงทุนด้วยนั้น เนื่องจากจังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแต่ละประเทศที่ปรับขึ้นในอัตราที่ต่างกัน รวมถึงช่วงเวลาที่ต่างกัน ส่งผลให้เกิดการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน ลดความผันผวนจากการลงทุน เป็นต้น โดยการลงทุนกองทุนประเภทดังกล่าวควรลงทุนระยะยาว จะช่วยสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจให้กับนักลงทุนอีกด้วย แต่ไม่ใช่ว่ากองทุนประเภทนี้จะไม่มีความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งเรื่องของค่าเงิน ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
กองทุนที่เราอยากแนะนำกองทุน TMB Global Bond Fund (TMBGF) ของบลจ.ทหารไทย มีจุดเด่นคือ กองทุนหลักมีกลยุทธ์สร้างกำไรส่วนเพิ่มจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยในช่วงที่ผ่านมา กองทุนหลักเลือกลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลของประเทศกลุ่ม AEM และยุโรปบางประเทศ เช่นสวีเดนและโปแลนด์ที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่งและไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหากลุ่ม PIIGS โดยเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มแข็งค่าเหนือดอลล่าร์สหรัฐ อันเป็นสถานการณ์ที่สร้างกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนให้กับกองแม่ สอดคล้องกับมุมมองของเราที่ว่าดอลล่าร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าหรือทรงตัวในระดับอ่อนค่าในระยะยาว
แต่สำหรับนักลงทุนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้ เราแนะนำกอง KFTRBของ บลจ.AYF เพื่อเป็น Core-Investment ในส่วนของพอร์ตตราสารหนี้ โดยกองทุนหลักมีกลยุทธ์ทีต่างออกไปคือ เน้นสร้างผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาและอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ กองทุนหลักมีสัดส่วนการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจ เห็นความผันผวนตามตลาดพันธบัตรสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา แต่เรายังเชื่อว่าด้วยมุมมองที่ชัดเจนต่อภาพเศรษฐกิจโลกและการบริหารอย่างเป็นระบบของ PIMCO จะสามารถสร้างผลตอบแทนเป็นที่น่าพอใจได้ในระยะยาว จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยลดข้อจำกัดในการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศนอกจากนี้ทั้ง 2 กองทุนที่แนะนำข้างต้นได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนลงทุนกับกองทุนที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนได้รับการยอมรับจากสถาบันจัดอันดับหลายแห่งว่ามีความเชี่ยวชาญในการลงทุนในตราสารหนี้
สานุพงศ์ ยังทิ้งท้ายอีกว่า การปรับพอร์ตการลงทุนนักลงทุนควรคำนึงถึงความเสี่ยงของแต่ละบุคคลด้วยว่า จะรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้นักลงทุนควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ หรือ ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อที่จะปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนให้เหมาะกับตนเอง และจุดประสงค์ในการลงทุนอีกด้วย