xs
xsm
sm
md
lg

สหรัฐฯ-ยูโรโซนยังไม่พ้นวิกฤติ KTAMแนะจับตาหนี้สาธารณะพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ฝ่ายวิจัยบลจ.กรุงไทย ประเมินเศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวเล็กน้อยจากแรงกระตุ้น QE2 และนโยบายรอบใหม่ของโอบามาแต่ต้องระวังปัญหาตัวเลขคนว่างงานรวมถึงหนี้สาธารณะที่จะพุ่งสูงขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศยูโรโซนยังไม่พ้นวิฤกติปัญหาหนี้สาธารณะยังกดดันส่งผลเศรษฐกิจชะลอตัว

รายงานข่าวจากฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯในระยะสั้นมีทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายส่วนบุคคลที่ดีขึ้น การขาดดุลการค้าที่ลดลง ซึ่งฝ่ายวิจัยเห็นว่าเป็นผลจากการจับจ่ายใช้สอยตามฤดูกาลที่ดีกว่าในปีก่อนๆ แต่หลังจากที่ผลของการใช้จ่ายตามฤดูกาลหมดลง เศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะได้รับแรงกระตุ้นรอบใหม่จากมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ของโอบามา มูลค่า 8.58 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯครอบคลุมมาตรการเช่น การขยายโครงการลดหย่อนภาษีผู้มีรายได้ทุกระดับชั้นออกไปอีก 2 ปี จากเดิมจะหมดอายุ 1 มกราคม 2554 การลดภาษีที่ดินเป็นระยะเวลา 2 ปี การขยายระยะเวลาการให้สวัสดิการแกคนว่างงานออกไปอีก 13 เดือน การลดภาษีสวัสดิการสังคมที่ลูกจ้างต้องจ่ายลง 2.0% อยู่ที่ 4.2% เป็นเวลา 1 ปี และการยกเว้นภาษีให้แก่ธุรกิจเป็นต้น

นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหรือ FED ยังคงดำเนินมาตรการ QE2 ต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯได้รับแรงกระตุ้นจากทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน ดังนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯจึงน่าจะให้เติบโตได้ถึง 3.4% ในปี 2554 จากที่คาดไว้เดิมที่ 2.7% อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญของสหรัฐฯคือ อัตราการว่างงานที่สูงและภาวะซบเซาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งจะยังคงมีอยู่ และอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ 3.4% ไม่ช่วยให้ปัญหาดังกล่าวดีขึ้นมากนักอีกทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะของสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นจาก 97% ของ GDP ณ สิ้นพ.ย. 2553ซึ่งอาจทำให้เกิดความกังวลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของสหรัฐฯได้

ขณะเดียวกันปัญหาหนี้สาธารณะยังเป็นประเด็นสำคัญกดดันเศรษฐกิจยูโรโซน ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและกดดันให้รัฐบาลหลายประเทศในยูโรโซนดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทางการคลังจนกระทั่งประสบกับปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยในไตรมาสที่ 3/2553 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรขยายตัว 1.9%YoY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 2.0%YoY ทั้งนี้ EU คาดว่าในปี 255 เศรษฐกิจยูโรโซนจะขยายตัวเพียง 1.5% ชะลอลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.7% โดยปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นได้นำมาสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆหลายครั้ง และอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในปี 2554 นี้

อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโบายการเงินในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรปได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing Rate)ไว้ที่ 1.0% ตามเดิม เนื่องจากเห็นว่าแรงกดดันเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับปานกลาง และขยายเวลาการให้กู้แบบอัตราดอกเบี้ยคงที่แก่ธนาคารพาณิชย์ระยะเวลา 3 เดือน โดยไม่จำกัดวงเงินออกไปจนถึงไตรมาส 1 ปี 2554 เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในระบบ

โดยฝ่ายวิจัยบล.กรุงไทย มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำต่อไปจนถึงครึ่งหลังปี 2554 เป็นอย่างน้อย โดยนโยบายการเงินแบบขยายตัวยังจำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากนโยบายการคลังมีข้อจำกัด

ขณะที่เศษฐกิจจีนจะขยายตัวชะลอลงในปี 2554 โดยอัตราการเติบโตที่ 8.3% จากประมาณ 10% ในปี 2554 ซึ่งเป็นปีแรกของแผนพัฒนา 5 ปีฉบับที่ 12 ที่เน้นการสร้างความสมดุลและการพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจจีนในช่วงนี้ต่อไป แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าน่าจะอยู่ประมาณ 4.2% ทำให้ทางการจีนต้องคุมเข้มนโยบายทางการเงินเพิ่มขึ้น น่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์อีกหลายครั้งในปีหน้า โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2554 ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องต่อไป แต่มีแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องทั่วโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์สูงขึ้น ทั้งนี้ในเดือนธันวาคมอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 3.5% และ 2.0% ตามลำดับ ขณะที่รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องการจำกัดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั่วไปให้อยู่ที่ 3.0% ส่วนธนาคารเกาหลีใต้ (BOK) ตั้งเป้าที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2.4% ในช่วงปี 2010-2012 ซึ่งฝ่ายวิจัยบลจ.กรุงไทยคาดว่า BOK มีแนวโน้มที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปในปี 2554 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5%

สำหรับปัญหาทางการเมืองในคาบสมุทรเกาหลียังค่อนข้างตึงเครียด แม้ว่าเกาหลีใต้และสหรัฐฯดำเนินการซ้อมรบประจำปีเสร็จสิ้นโดยไม่มีการตอบโต้จากเกาหลีเหนือ แต่เกาหลีใต้จะดำเนินการซ้อมรบอีกในวันที่ 7-8 มกราคม ที่ผ่านมา ด้วยการจำลองเหตุการณ์ทหารเกาหลีเหนือแทรกซึมข้ามพรหมแดนในทะเหลือง ทั้งนี้ S&P's มองว่าขณะนี้ยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดสงครามขึ้นและคงแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่ Stable แต่หากมีสัญญาณว่าความขัดแย้งลุกลามออกไปก็อาจปรับลดความน่าเชื่อถือของเกาหลีใต้หลายขั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น