"ในการใช้บริการโบรกเกอร์เอง เชื่อว่าผู้จัดการกองทุน คงต้องพิจารณาถึงคุณภาพ บทวิจัยที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่บลจ.ต้องการจากโบรกเกอร์ เพราะประเด็นนี้ มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญ ต่อผลตอบแทนของกองทุน"
เป็นข่าวคราวไม่แพ้วงการโบรกเกอร์ สำหรับธุรกิจกองทุนรวม ในประเด็นค่าธรรมเนียม ซื้อขายหุ้น (คอมมิชชัน) ...ล่าสุด มีกระแสข่าวออกมาว่า มีไอ้โม่ง แหกมติที่ตกลงร่วมกันแล้วระหว่างบริษัทสมาชิกด้วยกัน จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา แม้ว่าประเด็นนี้ จะไม่ใหญ่โตอะไร แต่หากพูดถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนอย่างเราๆ ท่านๆ แน่นอนว่า มีส่วนพอสมควรกับผลตอบแทนที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับ
สำหรับข้อตกลงในการใช้ค่าคอมมิชชัน ที่บริษัทสมาชิกในสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) ตกลงร่วมกันนั้น กำหนดเอาไว้ที่อัตราไม่ต่ำกว่า 0.20% แต่จากการแข่งขันในส่วนของบริษัทหลักทรัพย์ หรือโบรกเกอร์ ที่คิดค่าคอมมิชชัน 0% ทำให้ล่อตาล่อในนักลงทุนสถาบันอย่างกองทุนรวมเช่นกัน
...ประเด็นนี้ มีหลากหลายๆ ความเห็นจากคนในวงการกองทุนรวมในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา วันนี้ "ASTVผู้จัดการกองทุนรวม" ขอหยิบมารีวิวกันให้ดูอีกรอบ อ่านแล้ว คงต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจว่า แนวทางไหน น่าจะเหมาะสมและได้ประโยชน์กันทุกฝ่ายมากที่สุด
แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมท่านหนึ่ง กล่าวกับเราว่า จริงๆ แล้วประเด็นนี้ ทางสมาคม หรือบริษัทจัดการเอง น่าจะมีพันธะต่อผู้ถือหน่วยลงทุน นั่นคือ การสร้างประโยชน์สูงสุดต่อผู้ถือหน่วย ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของคนอื่น ซึ่งการไปกำหนดค่าคอมมิชชันที่ 0.20% นั้น ส่วนตัวมองว่า หากมีการเปิดเสรี น่าจะมีประโยชน์กับเจ้าของเงินมากกว่า
ทั้งนี้ ในหลักการแล้ว ไม่ว่าจะทำข้อตกลงอะไรก็ตาม ก็ควรอยู่ในกรอบและผลประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่เพื่อใครคนหนึ่ง หรือผู้ประกอบการใดผู้ประกอบการหนึ่ง
"บทบาทของผู้จัดการกองทุน คือ รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหน่วย ถ้าทำอะไรที่ต่างจากการรักษาเงินของลูกค้า ก็ถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้จัดการกองทุน"
...สมชัย บุญนำสิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า **หากปล่อยให้คิดค่าคอมมิชชันอย่างเสรี จะไม่ทำให้ บลจ.ขนาดเล็ก เสียเปรียบ บลจ.ขนาดใหญ่ เพราะต้นทุนของโบรกเกอร์ไม่ต่างกัน** ทำให้น่าจะคิดค่าคอมมิชชันในอัตราเดียวกัน ซึ่งในประเด็นนี้ หากสมาคมบริษัทจัดการลงทุนไม่สามารถควบคุมให้บริษัทสมาชิกใช้ค่าธรรมเนียม ซื้อขายหุ้นในอัตรา 0.2% เท่ากันได้ ก็ควรจะปล่อยเสรี เพราะการลดค่าคอมมิชชันลงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วย
เขาย้ำว่า ในส่วนของบลจ.กรุงไทย เบื้องต้น จะปฏิบัติตามข้อกำหนดของสมาคมฯ ไปก่อน ซึ่งเชื่อว่า จะไม่ทำให้ บลจ.กรุงไทย เสียเปรียบ บลจ. อื่นที่ได้ค่าคอมมิชชันต่ำกว่า 0.2% เพราะคาดว่า ปัญหาดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น
“หลังจากนี้สมาคมฯ จะต้องไปคุยกันว่า จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ด้วยว่า จะดำเนินการกับสมาชิกอย่างไร เพราะในขณะนี้ปัญหายังอยู่ที่ว่า สมาคมโบรกเกอร์เองยังควบคุมกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นหากมีโบรกเกอร์มาเสนอค่าคอมมิชชันต่ำกว่า บลจ.ควรจะใช้บริการหรือไม่”
ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด หรือเอวายเอฟ กล่าวว่า ในส่วนของบลจ.ที่เลือกใช้บริการกับโบรกเกอร์ค่าคอมมิชชั่น 0% เขาอาจจะคิดถึงผู้ถือหน่วยลงทุนของเขาจริง แต่เชื่อว่าไม่มีของฟรีในโลกท้ายที่สุดทุกอย่างล้วนมีต้นทุน และเชื่อว่าในระยะยาวคงทำแบบนี้ไปได้ไม่ตลอดเช่นกัน ซึ่งในเรื่องค่าคอมมิชชั่น 0% ประเด็นคือนอกจากผู้ถือหน่วยที่บลจ.ต้องคำนึงถึงแล้ว ในส่วนของพันธมิตรทางธุรกิจเองเราก็ต้องคำนึงถึงเช่นกัน ซึ่งการมีบริการที่ดี บทวิเคราะห์ที่ดี เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญในส่วนนี้มากกว่า แล้วถ้าจะรับบทวิเคราะห์จากโบรกเกอร์หนึ่ง แล้วไปซื้อขายกับอีกโบรกเกอร์หนึ่งซึ่งคิดค่าคอมมิชชั่น 0% ก็ดูจะไม่ค่อยดีเท่าไรนัก บริษัทเองคงไม่ทำเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าประเด็นนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของบริษัทในธุรกิจแต่ประการใด เพราะสไตล์ของบลจ.อยุธยา เป็นแบบนี้ บลจ.ไหนอยากจะใช้โบรกเกอร์ค่าคมอมมิชชั่น 0% ก็ถือเป็นสิทธิ์ แต่เมื่อมีข้อตกลงเป็นมติร่วมกันแล้วก็ควรจะเคาระมติที่ทำร่วมกันด้วยเช่นกัน
"ต้องบอกว่า เอวายเอฟเอง ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากพอร์ตการลงทุนส่วนใหญ่ ไม่มีการซื้อขายบ่อยมากนัก เพราะสไตล์การลงทุนของเราเน้นการลงทุนระยะยาว โดยหุ้นแต่ละตัวที่จะเข้าไปลงทุนนั้น เราจะมองไปข้างหน้า 5 ปีว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง"
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีโบรกเกอร์เสนอโปรโมชั่นค่าคอมฯ 0% มาให้บริษัทพิจารณาเช่นกัน แต่ในส่วนนี้เราให้ความสำคัญกับคุณภาพ บทวิเคราะห์ ของโบกเกอร์เหล่านั้นมากกว่า เพราะว่าเป็นส่วนสำคัญที่มีผลต่อผลการดำเนินงานของกองทุน ในขณะที่ค่าคอมฯ เอง มีผลน้อยมาก
...ผลจากการแหกกฏดังกล่าว ทำให้ทางสมาคมบริษัทจัดการลงทุน โดย"วรวรรณ ธาราภูมิ" ในฐานะนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน บอกว่า คงต้องมีการเรียกบรรดาสมาชิกมาหารืออีกครั้งว่า จะทำตามข้อตกลงเดิมที่ได้หารือกันไว้คือ จ่ายค่าคอมมิชชั่นในอัตราไม่ต่ำกว่า 0.20% หรือไม่ เพราะถ้าหากไม่ต้องการทำตามข้อตกลง ก็ให้ยกเลิกข้อตกลงเดิมไป แล้วปล่อยเสรีให้จัดการกันเอง
อย่างไรก็ตาม มองว่าเรื่องนี้ มองว่าถ้าปล่อยเสรีแล้ว ยังไง บลจ.ขนาดใหญ่ก็ได้เปรียบ บลจ.ขนาดเล็กอยู่แล้วเพราะมีปริมาณการซื้อขายมากกว่า
"เรื่องนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีการกระทำจริงหรือไม่ หรือใครเป็นคนฝ่าฝืน แต่ในเมื่อตกลงกันแล้วก้อควรทำตาม อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ เราลงโทษเขาไม่ได้อยู่แล้ว เพราะเป็นเพียงการตกลงร่วมกันเท่านั้น เพียงแต่หลังจากนี้ คงต้องมีการสอบถามสมาชิกและหารืออีกครั้งว่า จะยังยืนยันข้อตกลงเดิมหรือไม่ ถ้าหากไม่ก้อล้มโต๊ะไปเลย”
...สุดท้ายแล้ว คงต้องติดตามกันดูว่า จะมีข้อตกลงออกมาอย่างไร และเชื่อว่าประเด็นที่น่าจะได้รับการกล่าวถึงในวงสนทนาครั้งนี้ น่าจะให้ความสำคัญกับประโยชน์ต่อผู้ถือหน่วยเป็นหลัก ซึ่งประเด็นค่าคอม 0% เอง เชื่อว่าคงไม่ใช่เป็นปัญหาสำหรับวงการกองทุนรวมในช่วงนี้ เพราะเรื่องนี้คงเกิดขึ้นในระยะสั้นเท่านั้น สุดท้ายแล้ว ตัวโบรกเกอร์เองที่จะต้องรับภาระต้นทุนเอง ดังนั้น ในการใช้บริการโบรกเกอร์เอง เชื่อว่าผู้จัดการกองทุน คงต้องพิจารณาถึงคุณภาพ บทวิจัยที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่บลจ.ต้องการจากโบรกเกอร์ เพราะประเด็นนี้ มีผลอย่างมีนัยยะสำคัญ ต่อผลตอบแทนของกองทุน