xs
xsm
sm
md
lg

ออมเงินเมื่อไหร่และอย่างไรดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ - เงินทองต้องวางแผน
โดยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)


หลายๆ คนมีคำถามที่คล้าย ๆ กันว่า "จะเริ่มออมเงินเมื่อไหร่ และออมอย่างไรดี" ซึ่งนับเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นคำถามพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับทุกคนทุกยุคสมัย  ที่ ณ วันนี้มี "ทัศนคติที่ถูกต้อง"  เกี่ยวกับเรื่องประโยชน์ของการออมเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออมเพื่อเรียนต่อ ออมเพื่อแต่งงาน  หรือการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณ ฯลฯ

ที่จะต้องกล่าวถึงคำว่า " ทัศนคติที่ถูกต้อง"  เป็นเพราะว่า  "ทัศนคติเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิต" สำหรับทุกเรื่อง ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตามเราก็ต้องมีทัศนคติที่ดีกับสิ่งนั้นก่อน  แต่กว่าจะเกิดทัศนคติที่ดีได้ ต้องผ่านขั้นตอนการทำความรู้จัก และเรียนรู้ทำความเข้าใจให้ดีกับคน ๆ นั้น สิ่งนั้น ๆ หรือเหตุการณ์นั้นๆ  มาระยะหนึ่งแล้ว ถึงจะก่อให้เกิดทัศนคติกับสิ่งนั้น ๆ ได้ ซึ่งทัศนคติมีทั้งทัศนคติที่ดีและทัศนคติที่ไม่ดี   ถ้ามีทัศนคติที่ดีแล้ว อะไรก็ตามก็จะเข้าใจและทำได้โดยไม่ยาก แต่ถ้ายังมีทัศนคติที่ไม่ดี ไม่ว่าใครจะว่าดีอย่างไรก็ตาม ก็มักจะเห็นต่างในทางตรงกันข้ามเสมอ 

ดังนั้น หากท่านได้รู้แล้วว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญมากกว่า "หาได้-จ่ายไป"  แต่เป็นเรื่องที่ต้องคิด ต้องวางแผนให้ดี  ไตร่ตรองอย่างมีสติ แล้วใช้จ่ายอย่างฉลาด โดยแบ่งส่วนของเงินเพื่อการออมและเรียนรู้การลงทุน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรามีเงินออมจำนวนหนึ่งไว้ใช้อย่างอุ่นใจ  และเมื่อเราไม่มีงาน ไม่มีเงิน เมื่อป่วย หรือเกษียณอายุไปแล้วก็ตาม เราก็จะไม่ลำบากเพราะเรามีเงินไว้รองรังหรือเปรียบเสมือนสะสมบุญเก่าไว้ให้เราได้ใช้นั่นเอง

แล้วเราจะเริ่มเก็บออมเงินเมื่อไหร่ดี  คำถามนี้น่าสนใจมาก  ตอบได้ง่ายแต่อาจทำได้ยาก  นั่นคือ "ออมทันทีที่ได้รับเงินเดือนเดือนแรก"หากท่านมีทัศนคติที่ดีต่อการเก็บออม  ท่านย่อมเข้าใจและต้องเริ่มแบ่งเงินที่ได้มา ส่วนหนึ่งออกมาออมไว้ในอีกบัญชี อาจจะเป็นบัญชีออมทรัพย์ หรือบัญชีฝากประจำ ตามแต่ที่ท่านประสงค์ โดยบัญชีนั้น ๆ  เป็นบัญชีที่ท่านจะไม่เอาออกไปใช้จ่ายจนหมด  เพราะต้องถือเป็นบัญชีเก็บออมนั่นเอง

หลังจากนั้นต้องต่อไปด้วยคำถามต่อเนื่อง คือ "แล้วออมจำนวนเท่าไหร่ถึงจะพอ" คำตอบง่าย ๆ อีกเช่นกันคือ "ออมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้" เช่น 3 - 5 หรืออาจจะ 10 เปอร์เซนต์ ของเงินเดือน  หรือหากคิดเป็นตัวเลขง่าย ๆ เช่น หลักสิบบาท หรือ100 หรือ 500 หรือจะสูงถึงหลักพันบาท  โดยออมเท่าที่จะสามารถทำได้แต่ไม่ควรทำให้ตัวเองเดือดร้อน ทั้งนี้ ตัวท่านเองจะรู้ข้อมูลเรื่องนี้ดีกว่าใคร  เพียงแต่อยากเน้นย้ำว่าออมเมื่อไหร่ และ ออมจำนวนเงินเท่าไหร่นั้น  ตัวท่านเองเป็นผู้ที่จะต้องกำหนดด้วยตัวเองทั้งสิ้น  โดยขอให้ทำอย่างมีวินัยและต่อเนื่องในทุกครั้งที่ได้รับเงินค่าจ้างหรือเงินเดือน
 
แล้ว"ออมอย่างไรดี"  สำหรับคนเข้าทำงานในหน่วยงานที่มีกองทุนต่าง ๆ อาทิ กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ก็จะทำให้การออมของท่านง่ายขึ้นอย่างมาก เพราะระบบดังกล่าวถือว่าเป็น "การออมภาคบังคับ" ซึ่งหมายถึงว่า แม้ท่านจะไม่ได้คิดเรื่องออมเงินเลยก็ตาม แต่ระบบกองทุนเหล่านี้ก็จะหักเงินของท่านโดยอัตโนมัติทันทีที่ค่าจ้างเงินเดือนออกในทุกเดือน  และนำเงินออมเหล่านี้ไปบริหาร จัดการให้ เพื่อรอไว้จ่ายคืนให้ตอนที่ออกจากงานหรือเกษียณอายุนั่นเอง ซึ่งแต่ละกองทุนก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เราผู้ซึ่งเป็นเจ้าของเงินจึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำความเข้าใจกองทุนนั้น ๆ ให้ดีด้วย

อย่างไรก็ตาม หากท่านไม่ได้เข้าสู่ระบบการออมภาคบังคับตามข้อมูลข้างต้น  แต่เป็นผู้ที่มีค่าจ้างเงินเดือน ท่านก็จำเป็นต้องเข้าใจและมีทัศนคติที่ดีของการออมให้ได้ก่อนว่าการออมมีประโยชน์ต่อท่านอย่างไร  และเมื่อท่านเข้าใจและเห็นประโยชน์  เชื่อว่าไม่ว่าจะยากเย็นเพียงใดท่านจะต้องทำได้อย่างแน่นอน โดยถือว่าเป็น "การออมภาคสมัครใจ" เพื่อตัวเองนั่นเอง

ออมเงินไม่ว่าจะเริ่มต้นมากหรือน้อยก็มีประโยชน์ทั้งสิ้น  เพราะแม้แต่โบราณยังสอนไว้เลยว่า "มีสลึงพึงบรรจบให้ครบบาท"

แล้วท่านหละคะ วันนี้เริ่มต้นออมเงินกันแล้วหรือยัง    
กำลังโหลดความคิดเห็น