xs
xsm
sm
md
lg

“กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Smart Money Smart Life
โดยสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.)


ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปีที่ผ่านมา ทำให้รัฐได้กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐผ่านโครงการลงทุนในโครงการของรัฐ ภายใต้โครงการไทยเข้มเข็ง รวมทั้งได้มีการกระตุ้นกำลังซื้อของภาคเอกชน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเหล่านี้ส่งผลให้ภาระหนี้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ประมาณ 45.55% ของ GDP (ข้อมูลจากสำนักบริหารหนี้สาธารณะในเดือนตุลาคม 2552) จากเดิมประมาณ 39% ของ GDP โดยหนี้ส่วนหนึ่งเป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจ (ประมาณ 12.6% ของ GDP) ที่จะต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ อาทิ ไฟฟ้า,ประปา,ทางด่วน

นอกจากนั้น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ยังได้ประมาณการความต้องการลงทุนของไทยในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน ช่วงปี 2008- 2012 ว่ามีมูลค่าสูงถึง 92,000 ล้านดอลลาร์ สรอ.จาก GDP มูลค่า 226,000 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือประมาณร้อยละ 41 ของ GDP

และด้วยภาระหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและความต้องการใช้เงินเพื่อลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นต้องบริหารหนี้สินของประเทศ โดยการกระจายแหล่งเงินกู้ จากเดิมที่เป็นการกู้ภายในหรือต่างประเทศกับสถาบันการเงินรายใหญ่มาเป็นการกู้ผ่านผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งที่ผ่านมาก็คือการระดมทุนโดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ขายรายย่อย

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) เพื่อระดมทุนจากนักลงทุนทั่วไป ซึ่งในเบื้องต้น รัฐวิสาหกิจที่คาดว่ามีความพร้อมจะระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นวงเงินประมาณ 27,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงเจ้าสังกัด อยู่ระหว่างเสนอแผนต่อ ครม.ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2553 นอกจากนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างออกกฎเกณฑ์ในการจัดตั้งกองทุน คอลัมน์นี้จึงขอหยิบประเด็นดังกล่าวขึ้นมาเล่าครับ

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีลักษณะเป็นกองทุนปิดที่จะลงทุนในทรัพย์สินของกิจการที่มีการระบุไว้ชัดเจน โดยกองทุนมักลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป อาทิ ระบบขนส่งทางราง (รถไฟ,รถไฟฟ้า) ประปา ไฟฟ้า ถนน ทางพิเศษ สนามบิน ท่าเรือ โทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งกิจการเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น

ลักษณะการเสนอขายหน่วยลงทุนนั้นจะเหมือนกับการขายหน่วยลงทุนกองทุนอสังหาริมทรัพย์แก่ ผู้ลงทุนสถาบันและรายย่อย และเนื่องจากกองทุนปิดรูปแบบนี้มักเป็นโครงการลงทุนระยะยาวตั้งแต่ 10-20 ปีขึ้นไป กองทุนนี้จึงจำเป็นต้องมีตลาดรองแก่ผู้ลงทุน โดยจะไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้มีสภาพคล่องในกรณีที่ผู้ลงทุนมีความต้องการใช้เงิน

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานนี้ ผู้ลงทุนจะมีสถานะเป็นเจ้าของในสินทรัพย์ อาทิ ที่ดิน/อาคาร หรือสิทธิที่จะก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต หรือ ลงทุนในหุ้นของกิจการที่เป็นเจ้าของสินทรัพย์หรือสิทธิที่จะก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต ทั้งนี้ กองทุนสามารถลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างได้

ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนประเภทนี้ก็คือ 1) เงินปันผลจากกระแสเงินสดในอนาคต(Future Cash Flow) ของกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่กองทุนได้ลงทุน และ 2) กำไร(ขาดทุน) จากการซื้อขายในตลาดรอง ซึ่งความเสี่ยงของกองทุนประเภทนี้ ก็คล้ายๆ กับกองทุนอสังหาริมทรัพย์โดยทั่วๆ ไป คือ 1) ความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนของกระแสรายได้ในอนาคต 2) ความเสี่ยงของข้อกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิ และ 3) ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุน

หลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย ได้เปิดให้มีการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ จีน,ไต้หวัน,มาเลเชีย โดยมีกองทุนประเภทนี้ก่อนบ้านเรา ซึ่งกองทุนเหล่านี้มักดำเนินการเกี่ยวกับโครงการพลังงานลม , โรงไฟฟ้า, ท่าเรือ, โครงข่ายโทรคมนาคม และโครงการเหล่านี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงเชื่อว่าในปีหน้าตลาดทุนบ้านเราของมีสินค้าใหม่ คือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน และจะเป็นที่สนใจของนักลงทุนอย่างแน่นอนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น