โบรกเกอร์กองทุนรวม ประเมิน กองทุนรวมต่างประเทศ ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ "ฟองสบู่ดูไบ" เล็กน้อย พร้อมชูตลาด "Emerging Market" ยังน่าสนใจ
นางสาวศุภมาส พยัคฆพันธ์ Fund Super Mart Analyst บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเลื่อนชำระหนี้ของบริษัทเพื่อการลงทุนขนาดใหญ่ ดูไบ เวิลด์ (Dubai World) ซึ่งมีรัฐบาลดูไบเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำให้โลกตื่นกลัวกับผลกระทบครั้งนี้ว่าจะเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งหรือไม่นั้น โดยรัฐดูไบเป็น 1 ใน 7 รัฐของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates: UAE) ซึ่งแต่ละรัฐจะมีการปกครอง และเศรษฐกิจที่เป็นอิสระต่อกัน ระบบเศรษฐกิจของรัฐดูไบไม่ได้พึ่งพารายได้จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากนัก
ทั้งนี้ ธุรกิจหลักที่เป็นสัดส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจจะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง ขนส่ง และการเงินการธนาคาร ในขณะที่รัฐอาบูดาบี ซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางการปกครอง อุตสาหกรรม และวัฒนธรรม ของ UAE มีรายได้ส่วนใหญ่จากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (มากกว่า 59% ของ GDP)ทั้งนี้ด้วยระบบเศรษฐกิจที่เป็นอิสระต่อกัน และมีน้ำมันเป็นจำนวนมาก จึงมองว่าความสามารถในการชำระหนี้ของ UAE และรัฐอาบูดาบียังมั่นคงอยู่ รวมถึง Moody's ยังให้จัดอันดับเครดิตเรตติ้งของ UAE ไว้เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เราจึงยังไม่กังวลกับการผิดนัดชำระหนี้ในส่วนของรัฐอาบูดาบี และประเทศอื่นในตะวันออกกลางมากนัก
สำหรับผลกระทบต่อกองทุนรวมมีไม่มาก แต่ให้ระมัดระวังกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศสำหรับผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยคาดว่าไม่รุนแรงนัก สัดส่วนการส่งออกของไทยไป UAE มีเพียง 1.61% ของมูลค่าการส่งออกในปี 2552 (ม.ค. 52 - ต.ค. 52) และภาคเอกชนไทยทั้งสถาบันการเงิน และรับเหมาก่อสร้างมีเพียงบางบริษัทเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่รุนแรงเราเชื่อว่ากองทุนที่ลงทุนในประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีดูไบ เวิลด์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม
แต่จะกระทบในวงจำกัดสำหรับกองทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในดูไบโดยตรง และกองทุนต่างประเทศบางกองที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการลงทุนในบริษัทที่ได้รับผลกระทบอย่างเช่น สถาบันการเงินในยุโรปที่มีการปล่อยกู้ให้กับบริษัท ดูไบ เวิลด์ เป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดจากทาง บลจ. เรายังไม่เห็นผลกระทบโดยตรงต่อกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) เว้นแต่กอง K-MENA ซึ่งลงทุนในดูไบราว 2-3% และในสัดส่วนนี้มีลงทุนใน DP World ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ดูไบ เวิลด์ ราว 0.3% ผ่านทาง Powershares MENA Frontier Countries ETF ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการลงทุนมีไม่มากนักเชื่อว่าผลกระทบจะมีจำกัด
อย่างไรก็ตามเรายังคงกังวลถึงผลกระทบทางอ้อมที่จะทำให้ตลาดทุนในตะวันออกกลาง ผันผวนมากขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจ UAE คาดว่าจะชะลอตัวลงในปี 2553ส่วนกองทุน 1NEWCAP และ 1NEWCAP-D ซึ่งเป็นกองตราสารหนี้คาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่มากนักเนื่องจากมีสัดส่วนการลงทุนใน UAEไม่มาก โดยมีเงินลงทุนบางส่วนที่ลงทุนใน Abu Dhabi Comm. Bank (3.9% as of 30 Sep 09) ซึ่งอาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ของภูมิภาคนี้
"บลจ.ส่วนใหญ่มั่นใจว่าไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาดูไบ แต่ผลกระทบทางอ้อมที่จะกระทบกับบริษัทที่มีธุรกิจหรือปล่อยกู้ให้กับทาง ดูไบ เวิลด์ ยังมีข้อมูลที่ไม่ชัดเจนถึงผลกระทบดังกล่าว ต้องรอดูผลจากการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทของรัฐบาลดูไบ ทั้งนี้เราแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในกองทุนต่างประเทศที่มีการลงทุนในตะวันออกกลาง แต่เรายังคงแนะนำลงทุนในกลุ่ม Emerging Market ในส่วนอื่นๆ เนื่องจากสถาบันการเงินในเอเชียมีการลงทุนและปล่อยสินเชื่อให้ดูไบไม่มากนัก รวมถึงกองทุนตราสารหนี้เกาหลีใต้ซึ่งเรามองว่าไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้เช่นกัน เนื่องจากมองปัญหาของดูไบ จะกระทบในวงจำกัด เฉพาะ UAE และบริษัทที่มีธุรกรรมเกี่ยวข้องกับ ดูไบ เวิลด์ เท่านั้น" นางสาวศุภมาส กล่าว