xs
xsm
sm
md
lg

หลักสูตรอบรมคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ “สาระน่ารู้ คู่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ”
โดย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.)


ท่านทราบไหมว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ท่านได้ลงทุน มีกลุ่มบุคคลในบริษัทของท่านเองที่มีบทบาทในการบริหารกองทุนและดูแลเงินลงทุนของท่านอยู่ โดยกลุ่มบุคคลนั้นคือ คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง

บางท่านอาจสงสัยว่าแล้วคนกลุ่มนี้เขาทำอะไรบ้าง ซึ่งหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สำคัญมีสามส่วน คือ
หน้าที่ทั่วไป อาทิ การรับสมัครสมาชิก ดูแลการนำส่งเงินของท่านและของบริษัท กำหนดและแก้ไขของบังคับของกองทุน และเป็นตัวแทนของกองทุนในการฟ้องร้องบุคคลภายนอกเพื่อประโยชน์ของกองทุน

หน้าที่ที่สองคือ หน้าที่เกี่ยวกับการจัดการลงทุน โดยคณะกรรมการกองทุนจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนกองทุน เลือกผู้จัดการกองทุน ติดตามให้การลงทุนของผู้จัดการลงทุนเป็นไปนโยบายที่กำหนด

หน้าที่สุดท้ายคือ หน้าที่ในการเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิก อาทิ การแก้ไขข้อบังคับกองทุน ผลการดำเนินงานของกองทุน และการจัดประชุมเพื่อให้สมาชิกได้รับทราบผลการดำเนินงาน

ในส่วนของพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ได้กำหนดโทษแก่คณะกรรมการกองทุน หากไม่ดำเนินการในส่วนที่กฎหมายกำหนดเกี่ยวกับการแต่งตั้งและการแจ้งการแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนที่บริหารเงินทุนของสมาชิก การจดทะเบียนเลิกกองทุน และจัดให้มีการการชำระบัญชีเมื่อเลิกกองทุน ซึ่งกำหนดเป็นโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ที่ผ่านมา ยังไม่มีคณะกรรมการกองทุนใดกระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มักมีประเด็นปัญหาของสมาชิกเกิดขึ้น อาทิ เงื่อนไขการจ่ายเงินของนายจ้างเข้ากองทุน จำนวนเงินสมทบที่สมาชิกจะได้รับเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ และสาเหตุที่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย (NAV) ลดลง

ด้วยเหตุนี้เอง คณะกรรมการกองทุนจึงจำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งการกำหนดข้อบังคับของกองทุนเพื่อให้เป็นประโยชน์และเป็นธรรมแก่สมาชิก รวมทั้งหลักการลงทุนพื้นฐานในส่วนของผลตอบแทนและความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ลงทุน เพื่อให้สามารถกำหนดนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของสมาชิกกองทุน และสามารถอธิบายแก่สมาชิกของกองทุนได้ในกรณีที่มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วย (NAV) ลดลงหรือติดลบ

หลักสูตรคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ริเริ่มโดยแนวคิดของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ที่ต้องการให้คณะกรรมการกองทุนมีความรู้และเข้าใจบทบาทและหน้าที่ทั่วไปและหน้าที่เกี่ยวการจัดการลงทุน โดยหลักสูตรประกอบด้วย 2 หลักสูตรย่อย ได้แก่

(1)หลักสูตร FC Fundamental Course มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ภาพรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุน การจัดทำงบการเงินและการรายงานผลการดำเนินงาน และความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตลาดเงินและตลาดทุน

(2)หลักสูตร FC Advance Course มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการลงทุน การวัดผลการดำเนินงานกองทุน การพิจารณานโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับสมาชิก

สมาคมบริษัทจัดการลงทุนดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรดังกล่าวปีละ 3 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม เดือนสิงหาคม และเดือนพฤศจิกายน คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและผู้สนใจทั่วไปสามารถติดตามรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ http://www.aimc.or.th โทรศัพท์สอบถามได้ที่ 0 2264 0900 ค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น