xs
xsm
sm
md
lg

ฟองสบู่ดูไบ...วิกฤตซ้อนวิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฮือฮาน้ำตาร่วงกันไปตามๆ กัน เมื่อตลาดการเงินโลกต้องสั่นคลอนอีกครั้งจากกรณีเลื่อนการชำระหนี้ของ Dubai World บริษัทโฮลดิ้งและลงทุนชั้นนำของรัฐบาลดูไบออกไปอีก 6 เดือน


แว่วว่านอกจากแบงก์พาณิชย์ไทย 2 แห่งที่มีส่วนในการปล่อยกู้ให้กับบริษัทนี้แล้ว ยังมีนักโทษชายรายหนึ่งซึ่งคลุกคลีหลบหนีอยู่ในประเทศแห่งนี้ต้องเจ๊งสูญเงินไปหลาย

นักวิเคราะห์ด้านการเงินท่านหนึ่งแอบกระซิบเตือนว่าเรื่องนี้น่าจะต้องจับตาดูกันไปยาวๆ เพราะช่วงแรกคงยังไม่มีใครเปิดเผยมูลค่าหนี้สินหรือความเสียหายครั้งนี้ออกมาอย่างหมดเปลื้อก กล่าวคือคงจะค่อยๆ ทยอยเปิดเผยความเสียหายออกมาเช่นเดียวกัน วิกฤตซับไพรม์ของประเทศสหรัฐอเมริกา

เล่าย้อนสักหน่อยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลดูไบประกาศขอเลื่อนการชำระหนี้ของบริษัท Dubai World บริษัทโฮลดิ้งและลงทุนของรัฐบาลดูไบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 1 ใน 3 แห่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี (นอกเหนือจาก Dubai Holding และ Investment Cooperation of Dubai) ออกไป ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 ให้กับบริษัทในเครือทั้งหมด ยกเว้นบริษัท Dubai Ports World ซึ่งบริษัทในเครือ Dubai World มีหนี้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในระยะอันใกล้นี้

หนึ่งในหนี้สินทั้งหมดนั้นมากจากหนี้สินของบริษัท Nakheel ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ผู้สร้างผลงานอันมีชื่อเสียงและเป็นที่น่าทึ่งต่อสายตาโลก เช่น โครงการ The Palm ที่มีพันธบัตรอิสลามมูลค่าประมาณ 3,500 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 14 ธันวาคมนี้ และหนี้สินมูลค่า 980 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 13 พฤษภาคม 2553 ขณะที่บริษัท Limitless บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครืออีกรายหนึ่งมีพันธบัตรมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์ฯ ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 31 มีนาคม 2553 1โดยหนี้ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากจำนวนหนี้สินของ Dubai World รวมทั้งสิ้น 59,000 ล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งนับเป็นมูลหนี้ที่มีสัดส่วนขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับหนี้สินทั้งหมดของรัฐดูไบรวม 80,000 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ เจ้าหนี้รายใหญ่ของมูลหนี้ดังกล่าว ได้แก่ ธนาคารแห่งรัฐอาบูดาบี (National Bank of Abu Dhabi) และธนาคารกลางยูเออี (UAE Central Bank) รวมถึงสถาบันการเงินในกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งประเมินว่ามีการปล่อยกู้ให้แก่ดูไบรวมกันสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์ฯ2

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กรณีบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Dubai World บริษัทโฮลดิ้งและลงทุนชั้นนำของดูไบประกาศขอเลื่อนกำหนดชำระหนี้ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ตลาดการเงินโลก โดยสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินที่น่าเป็นห่วงของบริษัทแห่งรัฐของดูไบที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตการเงินโลกในช่วงที่ผ่านมา จนทำให้เกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก ซึ่งการที่รัฐมีภาระที่ต้องเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้ของบริษัทดังกล่าวอาจกระทบต่อความสามารถของภาครัฐที่จะกระตุ้นให้เศรษฐกิจดูไบฟื้นตัวได้ในอนาคต

นอกจากนี้ยังสร้างความกังวลว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่บั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลางและในส่วนอื่นของโลกอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจาก Dubai World รวมถึงบริษัทลูกอีกหลายแห่ง มีฐานการลงทุนในเศรษฐกิจนอกภาคการเงินทั้งในและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม คำแถลงล่าสุดของธนาคารกลางของยูเออี ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่พร้อมที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ทั้งธนาคารพาณิชย์ในประเทศและธนาคารต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในยูเออี ที่อาจถูกกระทบจากการเลื่อนชำระหนี้ของ Dubai World เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามจนเกิดความตื่นตระหนก และกระทบต่อฐานะสภาพคล่องและกลไกทางการเงินในยูเออีนั้น ได้ช่วยผ่อนคลายความกังวลของนักลงทุนทั่วโลกลงได้ในระดับหนึ่ง

แต่ที่น่าจับตากว่านั้นคือ การยื่นมือเข้าช่วยเหลือของกลุ่มรัฐที่มั่งคั่งอย่าง อาบูดาบี ซึ่งมีรายได้หลักจากน้ำมันดิบจำนวนมหาศาล แต่กระนั้นก็ตามข้อแม้ในการเข้าช่วยเหลือดูจะมีข้อจำกัดในบางกรณีบางบริษัทในเครือดูไบเวิลด์เท่านั้น

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัญหาการชำระหนี้ของบริษัท Dubai World นั้นคงจะมีไม่มากนัก เนื่องจากประเทศยูเออี ทั้ง 7 รัฐรวมกัน มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.6 ของการส่งออกรวมของไทย อีกทั้งกว่าร้อยละ 80 ของสินค้าที่ส่งออกจากไทยไปยังยูเออี เป็นการส่งออกต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง ส่วนผลกระทบต่อภาคเอกชนไทยที่เข้าไปดำเนินธุรกิจต่างๆ เช่น ในหมวดก่อสร้าง โรงแรม และโรงพยาบาล รวมถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยนั้น จากการประเมินในเบื้องต้น คาดว่า คงจะมีผลกระทบไม่มากนักเช่นกัน โดยเฉพาะหากปัญหาเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์จำกัดวงอยู่ที่ดูไบ และไม่ลุกลามไปถึงรัฐอื่นๆ ในยูเออี เช่น อาบูดาบี และสำหรับในด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจากยูเออีที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.6 ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามายังประเทศไทยทั้งหมด โดยรวมแล้วจึงอาจกล่าวได้ว่าไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ไว้ที่หดตัวร้อยละ 3.1 สำหรับปีนี้ และขยายตัวประมาณร้อยละ 3.0 สำหรับปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการชำระหนี้ของธุรกิจดูไบที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตา ถึงผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ซึ่งมีหลากหลายสัญชาติ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของยุโรป นอกจากนี้ยังต้องจับตาว่าภาวะฟองสบู่แตกในภาคอสังหาริมทรัพย์ จะลุกลามไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่รายอื่นๆ อีกหรือไม่

ทั้งนี้ คาดว่าบรรดาธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกคงจะติดตามสถานการณ์เหล่านี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งทำการประเมินความเสี่ยงที่ธนาคารพาณิชย์ของตนอาจต้องเผชิญ ส่งผลให้คาดว่ารัฐบาลและธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก จะยังคงดำเนินนโยบายการเงินอย่างระมัดระวัง เพื่อประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังคงอยู่ในภาวะเปราะบาง ให้ดำเนินต่อเนื่องไปได้

สรุปแล้วเรื่องนี้อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่าน่าจะมีปัญหาหรือใส้ในให้ติดตามต่อไป เป็นนัยว่าสงครามยังไม่จบอย่าพึ่งนับศพทหารฉันท์ใดก็ฉันท์นั้น

กำลังโหลดความคิดเห็น