xs
xsm
sm
md
lg

เปิด "ศึกใน" ผู้ส่งออกเวียดนามดันโควตาข้าว 6 ล้านตัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#cc00> จากแรงมาเป็นรวง.. ชาวนาที่หมู่บ้านหง็อกหนือ (Ngoc Nu) ชานกรุงฮานอย กำลังเร่งเก็บเกี่ยวเพื่อเตรียมทำนาปรังฤดูแรก ชาวนาในจังหวัดที่ราบปากแม่น้ำแดงที่อยู่ใกล้เคียงก็เช่นกัน แม้จะไม่ได้ส่งออกมากมาย แต่ที่นี่เป็นอู่ข้าวใหญ่ผลิตข้าวเลี้ยงคนทั้งภาคเหนือ ซึ่งต่างไปจากทางภาคใต้ของประเทศ </FONT></br>

ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์-- เดือน มิ.ย.นี้ ชาวนาหลายจังหวัดในเขตที่ราบปากแม่น้ำแดงทางภาคเหนือ กำลังเร่งเกี่ยวข้าวฤดูที่หนึ่ง ขณะที่ชาวนาในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้เริ่มเกี่ยวาข้าวาปรังฤดูแรก ซึ่งในปีนี้เชื่อว่าจะผลิตข้าวเปลือกได้มากกว่าทุกปี และ ควรจะเป็นปีทองของชาวนาด้วยซ้ำ ถ้าหากนโยบายของรัฐบาลไม่ปิดกั้นโควตาส่งออกเอาไว้

สัปดาห์ต้นเดือนเดียวกันทางการท้องถิ่นหลายจังหวัด รวมทั้งผู้ค้าและผู้ส่งออกในภาคใต้ได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาปริมาณข้าวที่ให้ส่งออกได้ครั้งใหม่ ทางการหลายจังหวัดในแถบนี้ได้เสนอให้เพิ่มโควตาตลอดทั้งปีเป็น 5.5-6 ล้านตัน จาก 5 ล้านตัน ที่ตั้งเป็นเพดานเอาไว้ตั้งแต่ต้นปี

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าลืมเรื่องที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วได้เลย ราคาข้าวในตลาดโลกในขณะนี้ดิ่งหัวลง และยากที่จะโงขึ้นสูงไปกว่านี้อย่างมากมาย ต่างไปจากปี 2551 ปีแห่งข้าวยากหมากแพง ที่ราคาข้าวพุ่งขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง

นายเหวียนวันซเวือง (Nguyen Van Duong) ผู้อำนวยการสำนักงานการเกษตรและพัฒนาชนบทที่ จ.ด่งท้าป (Dong Thap) กล่าวต่อที่ประชุมวิดีทัศน์ทางไกลที่จัดโดยผู้ค้าข้าวในจังหวัดภาคใต้ในสัปดาห์ต้นเดือน มิ.ย.ว่า กระทรวงที่เขาสังกัดควรจะเร่งสำรวจปริมาณข้าวเสียใหม่ และกำหนดเพดานส่งออกเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถตัดสินใจได้ถูกต้อง

จังหวัดที่ราบปากแม่น้ำโขงเก็บเกี่ยวข้าวได้ประมาณ 9.92 ล้านตัน ในการทำนาฤดูหนาว-ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบ 1% จากฤดูการผลิตเดียวกันปีที่แล้ว คาดว่าอู่ข้าวใหญ่แห่งนี้จะเก็บเกี่ยวข้าวได้ทั้งหมด 20.7 ล้านตัน เมื่อรวมสามฤดูการผลิตตลอดปี

ตามข้อมูลของสมาคมอาหารเวียดนาม หรือ VietFood จนถึงเดือน มิ.ย.จังหวัดต่างๆ ในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงยังมีข้าวเก็บในสตอกอีกเกือบ 1.4 ล้านตัน ในนั้นเป็นของบริษัทเซ้าเทอร์นฟู้ดซึ่งเป็นบริษัทค้าข้าวของรัฐบาลในภาคใต้ เกือบ 6 แสนตัน

นายเหวียนแทงบี่ง (Nguyen Thanh Binh) ผู้อำนวยการสำนักงานอุตสาหกรรมและการค้า จ.อาน-ซยาง (An Giang) ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันว่า กระทรวงของเขาควรจะเร่งสำรวจปริมาณข้าวที่ส่งข้ามแดนจากกัมพูชาเข้าสู่จังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ทั้งหมด พร้อมทั้งเสนอให้ขยายเพดานส่งออกปีนี้ เป็นระหว่าง 5-5.6 ล้านตัน
<br><FONT color=#cc00>ภาพรอยเตอร์วันที่ 3 มิ.ย.2552 ชาวนาที่หมู่บ้านหง็อกหนือ (Ngoc Nu) ช่วยกันเก็บกระสอบข้าวที่นวดเสร็จแล้วขึ้นรถ เตรียมนำกลับเข้าหมู่บ้าน ห้าเดือนแรกของปีนี้เวียดนามส่งออกข้าวราว 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 70% เทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่ยังมีเหลือในสตอกมากมาย ผู้ค้าเริ่มกดดันรัฐบาลให้ขยายเพดานส่งออกขึ้นเป็น 5.5-6 ล้านตันในปีนี้ ขณะที่ราคาในตลาดโลกดิ่งหัวลง</FONT></br>
รัฐบาลเวียดนามยังคงวิตกว่า สถานการณ์ภายในอาจจะซ้ำรอยปีที่แล้ว ถ้าหากพบในภายหลังว่าปริมาณข้าวสำรองลดลงต่ำกงอาจจะทำให้เกิดความระส่ำระสายขึ้นในสังคม เช่นเดียวกับเดือน เม.ย.2551 ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงเกือบ 30% ราษฎรในเขตเมืองได้ออกกว้านซื้อข้าวจากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าต่างๆ จนเกลี้ยงเพื่อนำไปกักตุน

สภาพเช่นนั้นทำให้เงินเฟ้อกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่เวียดนามสามารถควบคุมได้ในขณะนี้

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ใน 4 เดือนแรกของปี 2552 มีการเซ็นสัญญาซื้อขายข้าวกับลูกค้าในต่างประเทศแล้วถึง 4 ล้านตัน และ กระทรวงอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการส่งมอบให้กับลูกค้าไปประมาณ 3 ล้านตัน และ จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.6 ล้านตันภายในครึ่งแรกของปี ซึ่งก็คือสิ้นเดือน มิ.ย.

สามาคมอาหารเวียดนามซึ่งเป็นหน่วยงานกึ่งราชการที่กำกับดูแลการส่งออกข้าว ได้ถูกวิจารณ์อย่างหนักในช่วงไตรมาส 2 ฐานนิ่งเฉยไม่คิดคำนวณตัวเลขที่เป็นจริงออกมา เพื่อกำหนดปริมาณส่งออกให้ทันกับความต้องการในตลาดโลก

ผู้ส่งออกกล่าวว่า VietFood ได้ทำให้เวียดนามเสียโอกาสอีกครั้งหนึ่งเช่นเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งข้าวขาวผสมเมล็ดหัก 5% เคยพุ่งขึ้นสูง 600 ดอลลาร์ต่อตัน ขณะที่เวียดนามหยุดส่งออก

นายหว่างจุงหาย (Hoang Trung Hai) รองนายกรัฐมนตรีกล่าวในสัปดาห์ต้นเดือน มิ.ย.ว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายกำหนดเพดานส่งออกตามที่เข้าใจกัน และ ได้ขอให้ผู้ค้าผู้ส่งออกเริ่มมองหาตลาดต่างประเทศ สำหรับเดือนที่เหลืออยู่ตลอดปีนี้

แต่ในขณะเดียวกันรองนายกฯ ผู้นี้ได้เตือนว่า การปรับเพดานส่งออกอย่างฉับพลันไม่อาจทำได้ง่ายๆ เพราะทันทีที่ประกาศเพิ่มโควตา ราคาข้าวในตลาดโลกและตลาดภายในประเทศก็จะตกลงทันที ผลเสียจะเกิดแก่ชาวนา

อย่างไรก็ตาม นายกาวดึกฟ๊าต (Cao Duc Phat) รัฐมนตรีเกษตรและพัฒนาชนบทกล่าวว่า ผู้ส่งออกควรจะรีบเจรจาขายล้าวลอตใหม่ให้กับลูกค้าในต่างแดน เพื่อลดภาสระการเก็บข้าวในยุ้งฉางของชาวนา และ ให้ราคากระเตื้องขึ้น
<br><FONT color=#cc00>ภาพรอยเตอร์วันที่ 3 มิ.ย.2552 ไม่ไกลออกไปจากบ้านหง็อกหนือ (Ngoc Nu) ชาวนาในเขตหมู่บ้านเอียนฝู (Yen Phu) ชานกรุงฮานอย กำลังจัดเตรียมผืนนาสำหรับข้าวฤดูใหม่ ไม่ต่างไปจากชาวนาในเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงในภาคใต้ซึ่งกำลังเร่งทำนานปรังฤดูแรกของปีเช่นกัน ซึ่งทำให้เวียดนามมีข้าวส่งออกหมุนเวียนตลอดทั้งปี </FONT></br>
**ราคาตลาดโลกดิ่งลง**

ตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นมา ราคาข้าวในเวียดนามตกต่ำลงมาเรื่อยๆ เนื่องจากการจำกัดการส่งออกของ VietFood รวมไปถึงการส่งมอบข้าวที่เชื่องช้า เกิดข้าวสะสมในสตอกจนล้น ซึ่งส่งผลให้ไม่มีการออกเก็บซื้อข้าวจากชาวนาด้วย

ปัจจุบันทุกฝ่ายรอคอยอย่างสิ้นหวังที่จะได้เห็นราคาในตลาดโลกพุ่งขึ้น

นายแทงฟ่งแห่ง VietFood กล่าวว่า ราคาข้าวในตลาดโลกจะทรงอยู่ในระดับต่ำเช่นขณะนี้ เนื่องจากไทยและอินเดีย ผู้ส่งออกหมายเลข 1 และ 3 กำลังจะขายข้าวออก 3.8 กับ 2 ล้านตันตามลำดับ ซึ่งทำให้ผู้ค้าในเวียดนามชะลอการรับซื้อเพื่อดูทิศทางราคา

หลายฝ่ายได้กล่าวโทษระบบการเก็บสตอกและการสำรวจปริมาณข้าว ซึ่งทำให้ยากต่อการกำหนดทิศทางและการตัดสินใจอย่างถูกต้อง ทั้งๆ ที่ประเทศนี้ครองอันดับสองผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง

ใน จ.ลองอาน (Long An) ทางตอนบนของราบปากแม่น้ำโขง ราคาข้าวลดลงเหลือเพียง 4,000 ด่งต่อกิโลกรัมในขณะนี้ จาก 4,500-4,600 ด่ง/กก. (17,750 ด่ง/ดอลลาร์) เมื่อเดือนที่แล้ว ไม่มีการออกรับซื้อขณะที่ชาวนามีภาระต้องเก็บสตอก

ที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามได้ใช้วิธีสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำให้แก่ธนาคารพาณิชย์แห่งต่างๆ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ ชาวนาและผู้ซื้อ ผ่านกลไกธนาคารแห่งรัฐ (State Bank of Vietnam) โดยใช้เงินจากงบประมาณราว 1,000 ล้านดอลลาร์ในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่หลายฝ่ายกล่าวว่า ถึงวันนี้สายเกินไปสำหรับเวียดนาม ในการพลิกสถานการณ์ขึ้นให้เป็นต่อทางด้านราคาในตลาดโลก.
กำลังโหลดความคิดเห็น