xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนอย่างไรในภาวะเงินเฟ้อ (Inflation Hedged Investment)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ชีพจรการลงทุน
บลจ.เอสซีบี ควอนท์

ความเสี่ยงอัตราเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่เราควรพิจารณาอย่างจริงจังในปี 2010 ซึ่งเป็นผลมาจากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอยโดยการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลทั่วโลกและการอัดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลเข้าไปในระบบการเงินการลงทุนโดยธนาคารกลางต่างๆตั้งแต่ปี 2008 ต่อเนื่องมาจนถึง ปี 2009 ความเสี่ยงเงินเฟ้อมักจะถูกมองข้ามเสมอ แต่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ที่มีรายได้คงที่ และผู้สูงอายุหรือผู้ที่เกษียณแล้วที่ไม่สามารถมีรายได้จากการทำงานได้อีกแต่ต้องอาศัยดอกผลจากเงินออมเพื่อการดำรงชีพ

หากนักลงทุนไม่มีกลยุทธ์การลงทุนหรือวิธีการจัดสรรเงินเพื่อป้องกันหรือลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ ความมั่งคั่งหรือเงินออมสะสมจะมีมูลค่าน้อยลงจากความเสี่ยงเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ตัวอย่างเช่น หากเกิดภาวะเงินเฟ้อเฉลี่ย 4 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เป็นเวลา 20 ปี เงิน 100 บาทจะมีมูลค่าลดลงเกือบครึ่งหากเก็บเงินอยู่ในเงินฝากออมทรัพย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือเงิน 100 บาท ณ วันนี้จะซื้อของที่มีมูลค่าได้เพียง 50 บาทเท่านั้นหากเจ้าของเงินไม่สามารถลดหรือหักล้างความเสี่ยงเงินเฟ้อได้

ตัวอย่างของการลงทุนเพื่อจุดประสงค์ Inflation Hedging ได้แก่

1.จัดสรรเงินเพื่อลงทุนในตราสารทุน
หากจุดประสงค์ในการลงทุนเพื่อรักษามูลค่าของเงินที่มีไม่ให้ด้อยค่าลงเนื่องจากเงินเฟ้อ การลงทุนในหุ้นเป็นสิ่งที่จำเป็นเนื่องจากในระยะยาวแล้ว อย่างน้อยๆ มูลค่าตราสารทุนจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี กลุ่มอุตสาหกรรมที่เหมาะสมควรเป็นธุรกิจที่มีรายได้จากสินค้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อ ได้แก่
- หุ้นในกลุ่มพลังงานต้นน้ำ (Upstream Producer) อย่างเช่น น้ำมันและถ่านหิน
- หุ้นในกลุ่มสินค้าเกษตรหรืออาหาร

ความคาดหวังของผู้ลงทุนในการถือหุ้นดังกล่าวคือ เมื่อไรก็ตามที่พลังงานหรือสินค้าเกษตรและอาหารมีราคาสูงขึ้น ผลการดำเนินงานของบริษัทก็น่าที่จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และนำไปสู่กำไรของผู้ถือหุ้นที่มากขึ้นในรูปของเงินปันผล และ ส่วนเพิ่มมูลค่าหุ้นจากต้นทุนซื้อ (Dividend and Capital Gain)

2.ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์
โดยธรรมชาติแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์ อาทิเช่น ทองคำและน้ำมันเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณสมบัติช่วยลดความเสี่ยงเงินเฟ้อ การลงทุนในรูปแบบนี้จะแตกต่างกับการลงทุนในหุ้นที่เป็นการลงทุนตรงในสินค้าโภคภัณฑ์นั้นๆ ดังนั้นความเสี่ยงในแง่ของการบริหารหรือภาวะการแข่งขันทางธุรกิจจึงไม่มี สำหรับนักลงทุนไทย สามารถลงทุนได้โดยผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวซึ่งอาจจะลงทุนในสินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งโดยตรง หรือในดัชนีของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ก็ได้ ที่สำคัญนักลงทุนควรเลือกกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในสัดส่วนที่มากพอสมควรไว้ด้วย (80%-100%)

3.อสังหาริมทรัพย์หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่นักลงทุนนิยมซื้อเพื่อลดความเสี่ยงทางด้านเงินเฟ้อ อสังหาริมทรัพย์มีลักษณะสำคัญหนึ่งที่คล้ายกับสินค้าโภคภัณฑ์คือที่ดินซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ดังนั้น ราคาที่ดินหรือค่าเช่าจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระยะยาว อย่างไรก็ดี คอนโดมิเนียมอาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ดีนักสำหรับวัตถุประสงค์นี้ เนื่องจากแนวโน้มของราคาที่ส่วนใหญ่มักจะลดลงและไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินสำหรับผู้ซื้อ

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ลงทุนเพื่อผลตอบแทนในรูปของค่าเช่า กองทุนรวมดังกล่าวมีข้อดีคือนักลงทุนสามารถลงทุนได้ด้วยเงินจำนวนน้อยและสามารถกระจายการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆซึ่งทำได้ยากหากต้องการลงทุนโดยตรง อาทิเช่น สนามบิน ห้างสรรพสินค้า หรือโกดังเก็บสินค้า

4.ลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินแทนที่การฝากออมทรัพย์กับธนาคารพาณิชย์
กรณีนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับเงินเฟ้อโดยตรงนัก แต่เป็นการบริหารเงินสดเพื่อผลตอบแทนที่มากขึ้นและประหยัดภาษีเพื่อชดเชยกับเงินเฟ้อมากกว่า โดยทั่วไป เงินสดของคนส่วนใหญ่มักจะฝากเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ นักลงทุนควรใช้ประโยชน์จากกองทุนรวมตลาดเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากผลตอบแทนที่ได้ ซึ่งแตกต่างกับเงินฝากธนาคารที่ดอกเบี้ยรับที่ได้จะถูกหักภาษี ข้อดีของกองทุนรวมอีกอย่างคือโดยทั่วไปอัตราผลตอบแทนที่ได้รับมักจะมากกว่าดอกเบี้ยออมทรัพย์และยังสามารถเลือกรูปแบบต่างๆได้อีกด้วย อาทิเช่น กองทุนรวมที่เป็นพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น 100 เปอร์เซ็นต์หรือมีหุ้นกู้เอกชนระยะสั้นผสมถ้าสามารถรับความเสี่ยงเครดิตได้ เป็นต้น

Treasury Inflation Protected Securities (TIPS)
TIPS
เป็นตราสารหนี้ประเภทหนึ่งที่จะมีการคืนเงินต้นโดยผู้ออกเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน และมีการจ่ายดอกเบี้ยในช่วงเวลาหนึ่งๆที่กำหนดไว้ในตราสาร อาทิเช่น ทุกๆ 3 หรือ 6 เดือน แต่ความต่างระหว่าง TIPS และตราสารหนี้ทั่วไปได้แก่ ตราสารหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยที่คงที่ตลอดอายุตราสาร หรือแปรผันตามดอกเบี้ยอ้างอิง แต่ TIPS จะจ่ายดอกเบี้ยที่แปรผันตามอัตราเงินเฟ้ออ้างอิงที่กำหนด ดังนั้น หากในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ผู้ถือ TIPS ก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน หากเงินเฟ้อลดลงหรือติดลบ ดอกเบี้ยที่นักลงทุนได้รับก็จะลดลงเช่นกัน

ดังนั้น TIPS จึงเป็นเครื่องมือทางการเงินที่น่าจะใช้ป้องกันความเสี่ยงเงินเฟ้อได้ใกล้เคียงที่สุด น่าเสียดายที่นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการลงทุนประเภทนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนรายย่อย แต่เชื่อว่าในไม่ช้า น่าจะมีบริษัทจัดการกองทุนนำเอาตราสารประเภทนี้ออกมาจำหน่ายในรูปของกองทุนรวมซึ่งน่าจะได้รับความนิยมสูง
กำลังโหลดความคิดเห็น