บลจ.กรุงไทย รับ ดีมานด์กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้เริ่มลดลง หลังเม็ดเงินคงค้างในกองเก่าที่ยังไม่ครบอายุ แต่ยังมั่นใจผลตอบแทนที่สูงกว่ายังขายได้ ล่าสุด ส่ง "กรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 1" ล็อกเงินนาน 1 ปี 10 เดือน ชูผลตอบเเทน 3.20% ต่อปีจูงใจ ขณะที่บลจ.บัวหลวง เปิดขาย "ธนสารพลัส" อีก 3 กองรวด หากำไรบอนด์เกาหลีเช่นกัน
นายสมชัย บุญนำศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าความต้องการหรือดีมาน์กองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ของลูกค้าเริ่มน้อยลง เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังมีเงินจำนวนมากที่ล๊อกอยู่ในกองทุนประเภทดังกล่าวที่เปิดขายไปเเล้ว อย่างไรก็ตาม ทางบลจ.กรุงไทย ยังคงเปิดขายไอพีโอกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ต่อไป
เนื่องจากพันธบัตรเกาหลีใต้ยังให้ผลตอบเเทนมากกว่าพันธบัตรไทย ถึงเเม้ว่าปัจจุบันต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเเลกเปลี่ยน (สวอป) จะมากขึ้น เเต่ผลตอบเเทนของพันธบัตรเกาหลีใต้ก็ยังสูงกว่าของไทย ซึ่งตั้งแต่ต้นปี 2552 ที่ผ่านมา บลจ.กรุงไทยได้เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ ทั้งหมดรวม 32 กองทุน เเละมียอดขายรวม ประมาณ 40,000 ล้านบาท
โดยขณะนี้ บริษัทกำลังอยู่ในช่วงเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนเปิดกรุงไทยตราสารหนี้ เอฟไอเอฟ 1 มูลค่า 1,500 ล้านบาท ที่ยังเป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรภาครัฐเกาหลีใต้ (Monetary Stabilization Bond หรือ Korea Treasury ) ทั้ง 100% ซึ่งปัจจุบันได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระยะสั้นระดับ F1โดย Fitch และเงินลงทุนจะมีการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน
โดยกองทุนดังกล่าวให้อัตราผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ 3.20% ต่อปี โดยจะจ่ายผลตอบแทนทุก 3เดือน เข้าบัญชีออมทรัพย์ ในรอบสุดท้ายผลตอบแทน และเงินต้น จะโอนเข้าบัญชีกองทุนเปิดกรุงไทยเซฟวิ่งฟันด์ ทั้งนี้ กองทุนได้เปิดเสนอขายหน่วยลงทุนแล้ว ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 20 ตุลาคม 2552
นายสมชัยกล่าวว่า ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้นั้นฟื้นตัวได้ค่อนข้างเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเราก็เชื่อว่าการประชุมของธนาคารกลางเกาหลีใต้ในเดือนหน้านี้ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นประเทศเเรกในเอเชีย หลังจากที่คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2%เป็นเวลา 7 เดือน
หลังจากที่ประเทศออสเตรเลีย เเละประเทศอิสราเอล ได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งเเรกหลังจากเกิดวิฤกติเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนความคืบหน้าของการจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางนั้น ทางบลจ.คงต้องชะลอออกไปก่อน ซึ่งบลจ.ได้เสนอขายให้กับนักลงทุนสถาบันเเทน เนื่องจากตราสารหนี้ประเภทดังกล่าวมีจำนวนจำกัด เเละอายุตราสารหนี้ค่อนข้างยาว
"อีกไม่นานเราจะมีตราสารหนี้ต่างประเทศที่ไม่ใช่ประเทศเกาหลี ให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนเพื่อรับผลตอบเเทนที่ดีกว่า ส่วนกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้เราก็ยังคงออกเรื่อยๆ หากผลตอบเเทนของพันธบัตรเกาหลีใต้ห่างกับผลตอบเเทนของพันธบัตรไทยเกิน 1%" นายสมชัยกล่าว
นายสมชัย กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure Fund ที่ได้คุยกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทยนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนของกระทรวงการคลังที่จะต้องของบประมาณเพื่อเวรคืนที่ดินในการก่อสร้าง ซึ่งระยะเวลาที่ดำเนินงานทั้งหมดนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังเเละทางการพิเศษ
โดยในส่วนของบลจ.กรุงไทยนั้นคงจะต้องเสนอเเผนงานว่าจะดำเนินงานอย่างไร เพื่อให้ทางการพิเศษพิจราณารวมกับบลจ.อื่นที่เสนอเเผนงานด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันทางบลจ.คงต้องรอคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์เเละตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกกฎเเละข้อบังคับเกี่ยวกับการออกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย
นอกจากนี้ คณะกรรมการจัดการลงทุนของบริษัทมีมติจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว ซึ่งเป็นผลการดำเนินงานในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2552 ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วยลงทุน
โดยบริษัทจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีชื่อปรากฏอยู่ในทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุน ณ วันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนในวันที่ 14 ตุลาคม 2552 และจะทำการจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 ตุลาคม 2552 นี้
ทางด้านรายงานข่าวจากบลจ.บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า บลจ.กำลังอยู่ในช่วงเปิดขายหน่วยลงทุนกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้ 3 กองได้เเก่ กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 42/09 ระยะเวลาการลงทุนประมาณ 3 เดือน กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 43/09 ระยะเวลาการลงทุนประมาณ 9 เดือน และกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส ระยะเวลาการลงทุนประมาณ 24 เดือน โดยทั้ง 3 กองทุน มีนโยบายการลงทุนในพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลเกาหลีใต้ และมีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เปิดขายหน่วยลงทุนตั้งเเต่วันนี้ถึง 20 ตุลาคมนี้