xs
xsm
sm
md
lg

ไก่สามอย่าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ ตลาดทุนไทยในสายตาต่างชาติ
โดย บริษัท เน็กซ์วิว (ประเทศไทย) จำกัด


วัฏจักรของนักลงทุนในบ้านเรามีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาลงทุนเพราะหวังรวย หวังว่าจะมีอิสรภาพทางการเงิน หรือหวังว่าจะหาผลตอบแทนให้มากกว่าการฝากเงินเอาไว้ในธนาคาร หรืออยากเข้ามาเก็งกำไร ซึ่งวิธีการ หรือ รูปแบบของนักลงทุนมักเกิดขึ้นไม่ต่างจากนี้มากนัก นั่นก็คือ ถูกชี้ชวนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าการลงทุนในตลาดหุ้น จะทำเงินและรายได้ให้เราอย่างมหาศาล ซึ่งก็อาจไม่ผิดนัก แต่ก็ต้องขึ้นกับพื้นฐาน ตลอดจนแนวคิดของคนที่จะเข้ามาลงทุนเอง ว่ามีความเข้าใจมากน้อยเพียงใด

องค์ประกอบหลักที่นักลงทุนลงทุนควรจะต้องทราบก่อนที่จะลงทุนคือ การผสมผสานระหว่าง จุดเข้า (Entry) จุดออก (Exit) และ การบริหารเงิน (Money Management) ซึ่ง 3 องค์ประกอบทั้งสามส่วนนี้ เป็นสิ่งที่นักลงทุนจะต้องใช้ความสามารถส่วนบุคคล จิตวิทยา ระเบียบวินัย เพื่อให้ได้ออกมาในรูปแบบที่ลงตัว และเหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของตัวเองให้มากที่สุด

นักลงทุนส่วนใหญ่ ร้อยละ 95 มักประสบปัญหากับการหา จุดออก (Exit) คือ ไม่สามารถหาจุดออกจากตลาดได้อย่างเหมาะสม อันเนื่องมาจาก จุดออก ที่ว่านี้ ก็ถูกแบ่งย่อยออกเป็น 2 ส่วน อีกคือ ออกเพราะกำไร (ราคาได้ปรับตัวขึ้นไปยังเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้เรียบร้อยแล้ว) กับ ออกเพราะขาดทุน (Stop loss) ซึ่งทำให้นักลงทุนหลายคน มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน จากการเป็นนักลงทุนระยะสั้น ไปเป็น นักลงทุนระยะยาว เนื่องจากติดหุ้น (เฮ) เป็นต้น นักลงทุนส่วนใหญ่มักขาดวินัยในเรื่องการทำ stop loss เป็นอย่างมาก เพราะขนาดในคอร์สสัมมนาของตัวผมเองที่จัดมาก็มากพอควร นักลงทุนที่ผ่านมือผมไปส่วนใหญ่ ก็ไม่ยอมทำ stop loss ตามที่ผมได้สอนไป จะมีเพียงไม่กี่รายที่ให้ความสำคัญและเคร่งครัดกับจุดนี้มากๆ

สาเหตุที่ผมค่อนข้างเน้นหนักในเรื่องนี้เพราะว่า การออกตลาดอย่างถูกวิธี จะช่วยทำให้เราได้กำไร หรือ หยุดการขาดทุน (Stop loss) เพื่อให้เราได้มีเงินก้อนเอาไว้ไปลงทุนในวันถัดไปได้ เพราะจุดประสงค์ในการลงทุนของหลายๆ คน คือ ต้องการที่จะ Trading for Living นั่นก็คือ Trade เพื่อทำให้เกิดรายได้จำนวนหนึ่ง ที่สามารถนำมาหล่อเลี้ยงชีวิตให้ดำรงอยู่ได้ แทนการทำงานเป็นลูกจ้างประจำ ซึ่งผลตอบแทนน้อยกว่า น่าเบื่อกว่า ทำงานหนักกว่า และอีกสารพัด แต่ด้วยพื้นฐานการลงทุน ที่จะต้องใช้เงินก้อนในการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สามารถทำให้เรามีเงินใช้จ่ายได้อย่างไม่ขาดมือ ดังนั้น หากเราไม่ยอม stop loss ก็จะทำให้เราสูญเสียความสามารถในการบริหารเงินก้อนนั้นไปได้ เพราะเงินก้อนดังกล่าว ดันไปจมไว้ในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ที่ราคากำลังดิ่งเหวอยู่ ณ ขณะนี้ ทำให้เราไม่สามารถทำใจตัดขายไปได้ จึงจำเป็นต้องรอเพื่อหวัง Trade with hope ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ ว่าจะนานแค่ไหนกันแน่ (ผมรู้จักนักลงทุนหลายคน ที่ยังคง Trade with hope ตั้งแต่สมัยดัชนีบ้านเรายังอยู่ที่ 1,800 จุด อยู่เลย)

ลำดับถัดไป คือ จุดเข้าตลาด (Entry) ที่นักลงทุนหลายต่อหลายคน มีความสามารถเพียงพอที่จะหาจุดดังกล่าวได้เป็นอย่างดี (แต่ส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าจะออกตอนไหนดี) อันเนื่องมาจากวัตถุประสงค์การลงทุนที่แตกต่างกัน ทำให้จุดเข้า ของนักลงทุนระยะสั้น กลาง ยาว และนักเก็งกำไร ระยะสั้น กลาง ยาว นั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ชนิดที่เรียกได้ว่า ไม่เหมือนกันเลยก็ว่าได้ ขอยกตัวอย่าง นิยามคำว่า ระยะสั้น ของบางคนหมายถึง เข้าตอนนี้ อีก 1 นาทีออก หรือบางคนบอกว่า ระยะสั้น หมายถึง การถือครองหุ้นน้อยกว่า 3 เดือน เป็นต้น

อันสุดท้าย ที่ไม่สามารถจะละทิ้งได้เลย คือ การบริหารเงิน หรือ Money Management ซึ่งหลายคนกลับไปคิดว่า เป็นตัวเดียวกับการบริหารความเสี่ยง (Risk management) ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกทั้งหมด เพื่อที่จะไม่ต้องถกเถียงกัน ผมขอสรุปในฐานะนักลงทุน (เก็งกำไร) ว่า “การบริหารเงิน หรือ Money Management คือ การบริหารอัตราส่วนของกำไร ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ราคาเป้าหมาย) เทียบกับ จำนวนเงินที่เรามีโอกาสสูญเสีย ในกรณีที่ตลาดเคลื่อนไหวต่างไปจากที่เราคาดการณ์ไว้นั่นเอง” ซึ่งโดยประสบการณ์ของผมเองนั้น อัตราส่วนที่เหมาะสมสำหรับนักเก็งกำไรระยะสั้น เช่นตัวผมเอง หรือ พี่ๆ น้องๆ ที่ลงทุนในกลุ่มเดียวกันนั้น อัตราส่วนดังกล่าว ควรจะอยู่ที่ 4:1 คือ มีโอกาสได้กำไรจากการลงทุนในครั้งนี้ ณ ขณะนี้ เท่ากับ 4 บาท แต่จะยอมให้มีการสูญเสียเงินหากตลาดเคลื่อนไหวผิดทาง แค่ 1 บาท เป็นต้น ซึ่งอัตราส่วนนี้ ค่อนข้างใช้ได้ดีสำหรับการเก็งกำไรใน SET50 Index Futures ณ ปัจจุบัน

การลงทุน เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ ซึ่งต้องใช้หลักของการผสมผสาน องค์ความรู้ ประสบการณ์ และจิตวิทยา เข้ามาเป็นองค์ประกอบ ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ ที่ประสบความสำเร็จ มักบริหาร ไก่สามอย่าง หรือ 3 องค์ประกอบ นี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเอง ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม แวะเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์ www.technicalday.com และหากสนใจด้านการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ผมมีโครงการจัดสัมมนาฟรี ในวันเสาร์ที่ 17 ตุลาคมนี้ หากสนใจโทรมาลงทะเบียนฟรี ได้ที่หมายเลข 02 627 3360-2
กำลังโหลดความคิดเห็น