หลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนได้ผล ทำให้เศรษฐกิจของจีนส่งสัญญาณดีขึ้นไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขเศรษฐกิจ ดัชนีชี้วัดผู้บริโภค หรือ ยอดขายรถยนตร์ที่พุ่งสูงขึ้น เป็นต้น
เเต่กระนั้น นักวิเคราะห์ทั้งหลายเริ่มออกมาส่งเสียงดังฟังชัดว่า เเม้ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนจะดีขึ้น เเต่ยังมีความเสี่ยงที่จีนจะต้องเจออีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขคนว่างงานที่ดูที่ท่าจะไม่ค่อยลดลง หรือเเม้เเต่มาตรการ กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ดูเหมือนจะถอยหลังเข้าคลอง เป็นต้น วันนี้ " ASTVผู้จัดการรายวัน" ได้รวบรวมความคิดเห็นของนักวิเคราะห์จากหลายๆเเห่งมาไว้ที่นี่....
ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี มองว่า...เศรษฐกิจจีนปีนี้ จะโตร้อยละ 8.2 จากการประเมินก่อนหน้าที่ร้อยละ 7 นอกจากนี้ ยังเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ฯของปี 2553 เท่ากับร้อยละ 8.9 จากระดับร้อยละ 8 ขณะเดียวกันกลุ่มผู้นำโลกก็กำลังเรียกร้องให้จีน ปรับทิศทางเศรษฐกิจ
โดยนโยบายลดความไม่สมดุลในการใช้จ่ายและการบริโภคของโลก อันเป็นปัจจัยกระตุ้นวิกฤตการเงินโลก และจีนก็เป็นประเทศหนึ่งที่ถูกเรียกร้องให้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
โดยปลายปีที่แล้ว จีนดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยตั้งงบฯก้อนใหญ่ยักษ์ถึง 4 ล้านล้านหยวน (586,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) เพื่อแก้ปัญหาซบเซาในภาคส่งออกที่โดนพิษความต้องการโลกหดตัวฮวบฮาบ
แต่มาตรการฯดังกล่าวก็ทำให้จีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก พึ่งพิงการลงทุนมากขึ้น ซึ่งนโยบายการเงินการคลังแบบขยายได้บรรเทาผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาท้าทายของรัฐบาลคือ จะต้องหันมาสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในครึ่งแรกของปีนี้ การลงทุนจีน มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 6.2 ของการขยายตัวเศรษฐกิจจีนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.1 ขณะที่การบริโภคมีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 3.8 ส่วนยอดเกินดุลการค้าลดลงร้อยละ 2.9 ทั้งนี้รัฐบาลจีนจะต้องสร้างสมดุลระหว่างการกระตุ้นการขยายตัว
และความเสี่ยงที่ว่าการปล่อยกู้มากเกินไปอาจกระตุ้นการเก็งกำไรในการลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น บ่อนทำลายคุณภาพสินทรัพย์ธนาคาร และโหมกระพือเงินเฟ้อ โดย แนวโน้มดังกล่าวอาจกระตุ้นการคุมเข้มทางการเงินอย่างสาหัสอีกรอบในระยะกลาง และฉุดการเติบโตดิ่งเหวลงไปอีก
เอดีบียังได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อแดนมังกร จะไต่ขึ้นถึงร้อยละ 3 ในปี 2553 หลังจากที่ราคาตกลงร้อยละ 0.5 ในปีนี้ และยอดเกินดุลกาค้าจะตกต่ำลงไปอีกในปีนี้ สำหรับรัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าอัตราเติบโตปีนี้ ไว้ที่ระดับร้อยละ 8 ซึ่งเป็นระดับที่อาจกระตุ้นการจ้างงานเพียงพอและลดความเสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวายในสังคมจีนซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก 1,300 ล้านคน
นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่ากล่าวเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจจีนยังเปราะบาง จึงยังไม่อาจถอยจากมาตรการกระตุ้นด้านการเงินและการคลัง
ส่วนความเสี่ยงที่สำคัญของจีนคือ กลุ่มแรงงานอพยพที่ตกงานอาจดิ่วเหวสู่ความยากจนเพราะไร้สิทธิรับประโยชน์จากโครงการประกันสังคม เเละแรงงานนับล้านในจีนต้องสูญเสียงานสืบเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ และในปีนี้จะมีกลุ่มผู้หางานราว 24 ล้านคน เข้าสู่ตลาดแรงงาน
จีนไม่สนวิกฤตฟองสบู่อสังหา-ตลาดหุ้น
กลุ่มนักวิเคราะห์เศรษฐกิจจีนส่วนใหญ่ มองว่า การส่งออกที่ทรุดฮวบได้ฉุดให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ทำให้รัฐบาลปักกิ่งหันมาพึ่งราคาอสังหาริมทรัพย์และหุ้นที่ถีบตัวสูงขึ้น ในการช่วยให้เศรษฐกิจบรรลุเป้าขยายตัว 8% ต่อปี ดังนั้นพวกเขาเชื่อว่า ทางการจะยังไม่คิดพับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในขณะนี้
โดย แอนดี้ โรธแมน และจูเลีย จู นักวิเคราะห์จาก CLSA กล่าวว่า ถ้อยแถลงของทางการจีนสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่สนใจว่าจะเกิดวิกฤตฟองสบู่หรือเศรษฐกิจร้อนแรงเกิน (overheating) แต่กังวลเรื่องการหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวมากกว่า
ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนไตรมาสที่ 2 ขยายตัว 7.9% หลังจากขยายตัว 6.1% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2552 การขยายตัวของเศรษฐกิจถูกกระตุ้นโดยแพคเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (580,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งเริ่มเปิดตัวเมื่อปลายปี 2551 ตลอดจนการปล่อยกู้ของธนาคารที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 7.4 ล้าน ล้านหยวนในช่วงครึ่งแรกของปี
แต่ราคาอสังหาริมทรัพย์และหุ้นที่ถีบตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ก็เพิ่มความหวาดหวั่นว่าจะมีเม็ดเงินมหาศาลหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดสินทรัพย์เพื่อแสวงหาผลกำไรระยะสั้นมากกว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์พุ่งขึ้นสูงกว่า 60% และราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 90% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์กลัวว่าจะเกิดวิกฤตฟองสบู่ขึ้น
ในขณะที่หน่วยงานวางแผนเศรษฐกิจตระหนักถึงความกังวลข้างต้น แต่พวกเขาก็เปิดเผยว่า ยังไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงยุทธวิธีในเร็วๆ นี้
ดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า กล่าวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาระหว่างการประชุมเวิลด์ อิโคโนมิก ฟอรั่มว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนยังคงเปราะบาง ฉะนั้น การพิจารณาทบทวนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ใช้อยู่ในขณะนี้ จึงเป็นเรื่องเร็วเกินไป
ด้านไมเคิล เคิร์ซ นักวิเคราะห์จากบริษัท แมคไกวร์ อิควิตี้ส์ในเซี่ยงไฮ้ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลจะพึ่งพาตลาดอสังหาริมทรัพย์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจนกว่าภาคการส่งออกจะฟื้นตัว ทั้งนี้องค์กรวางแผนนโยบายรู้ดีว่าการตัดสินใจของพวกเขาอาจส่งผลให้เกิดวิกฤตฟองสบู่ และพยายาม ‘กำกับ’ การลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นให้อยู่ในกรอบมากขึ้น
ส่วน แอนดี้ เซี่ย นักเศรษฐศาสตร์อิสระในเซี่ยงไฮ้ เตือนว่า มาตรการของรัฐบาลจะสร้าง ฟองสบู่ขนาดใหญ่ ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันราคาอสังหาริมทรัพย์เฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตเมืองของจีนเทียบเท่ากับในสหรัฐฯ แต่รายได้ต่อหัวของชาวสหรัฐฯ สูงกว่ารายได้ของคนจีนในเมืองถึง 7 เท่า ซึ่งรัฐบาลกำลังเลือกวิธีง่ายๆ ในการกระตุ้นราคาสินทรัพย์เพื่อสร้าง "ความรู้สึกว่าเศรษฐกิจกำลังไปได้สวย" มากกว่าการแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางโครงสร้างในเศรษฐกิจจีน
ในระยะสั้น ดูเหมือนทุกคนกำลังได้ชัยชนะ และเหตุผลที่รัฐบาลทำเช่นนี้ ก็เพราะว่าเป็นเรื่องยากที่จะปฏิรูประบบเศรษฐกิจปัจจุบันที่พึ่งพาการส่งออกในการขยายตัว
ทางด้าน ซู หนิง รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศจีนก็ย้ำว่า นโยบายทางการเงินจะยังคงคล่องตัวไปจนกระทั่งถึงปลายปี 2553 โดยข้อมูลตัวเลขล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการอัดฉีดเงินของรัฐบาลกำลังสัมฤทธิ์ผล ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่คงที่ ยอดค้าปลีกที่ปรับตัวขึ้น
ตลอดจนการฟื้นตัวของสินเชื่อธนาคารที่ตกฮวบลงเมื่อเดือนกรกฎาคม แต่ภาคการส่งออก ซึ่งเป็นหัวจักรสำคัญของเศรษฐกิจจีน ยังคงตกฮวบอย่างต่อเนื่องในช่วง 8 เดือนแรกของปี
ขณะที่ หลิว หมิงคัง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการธนาคารได้แถลงว่า ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี นำมาซึ่งความเสี่ยงต่างๆ