xs
xsm
sm
md
lg

บลจ.บีทีส่งFIFเก็บหุ้นอาเซียน กระจายลงทุน5ประเทศเน้นสิงค์โปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 อนุสรณ์ บูรณกานนท์
บลจ. บีที จับจังหวะหุ้นอาเซียนฟื้น คลอดกองทุน “บีที เดลี่ อาเซียน อิควิตี้” ลุยหุ้นกลุ่มธนาคาร พลังงาน สื่อสาร และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 5 ประเทศ เน้นให้น้ำหนักสิงคโปร์มากสุด 40% ไอพีโอ 21 ส.ค.นี้

นายอนุสรณ์ บูรณกานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บีที จำกัด เปิดเผยว่า การที่บริษัทได้มีผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง CIMB เข้ามา ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก เนื่องจากว่า CIMB เองมีพันธมิตรที่ดีและเก่าแก่อย่าง บริษัท ปริ้นซิเบิ้ล แอสเซท แมนเนจเมนท์ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี  โนฮาว อีกทั้งยังผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยที่บลจ. บีทีดูแลอยู่นั้น ได้มีการเปิดวิสัยทัศน์เพิ่มมากขึ้น รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ด้วย นอกจากนี้ ยังส่งผลให้บริษัทมีความเป็นสากลมากขึ้นด้วย

โดยปัจจุบัน บลจ. บีที เองก็กำลังเรียนรู้ในด้านการบริหารจัดการให้มากขึ้นด้วย เพื่อให้บริษัทมีการพัฒนาดีขึ้น เนื่องจากว่าเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็น 1 สาขาในแถบทวีปอาเซียน
“CIMB เองมีพาร์ทเนอร์หลักอยู่ที่อเมริกา ซึ่งถือว่ามีศักยภาพมาก แต่หลายคนอาจจะมองว่าขณะนี้ อเมริกาเองไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่ถ้ามองในขณะนี้ จะเห็นว่าอเมริกาเองตลาดเริ่มมีการปรับตัวดีขึ้นแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลาดรถยนต์เองเริ่มมีการตีกลับมาในทิศทางบวกมากขึ้น รวมถึงราคาบ้านเองก็เริ่มมีการหยุดไหลลงมาแล้ว ดังนั้น จะเห็นว่าฟันด์เมเนเจอร์เองได้มีการโยกเงินจากพันธบัตรรัฐบาลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นแทน” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การลงทุนในหุ้นแถบอาเซียนได้รับความสนใจมาก และมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่า มีโอกาสการปรับตัวดีขึ้นเป็นบวก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินโดนีเซียจะมีการปรับขึ้นแรงมาก

ล่าสุดในวันที่ 21 สิงหาคม นี้ บริษัทเตรียมไอพีโอกองทุนเปิดบีที เดลี่ อาเซียน อิควิตี้ ซึ่งมีนโยบายการลงทุนใน 5 กลุ่มหลักในแถบอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลลิปปินส์
โดยกองทุนดังกล่าวจะเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคาร กลุ่มพลังงาน กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะในน้ำหนักในการรีบาลานด์มากสุดที่ประเทศสิงคโปร์จะอยู่ที่ประมาณ 40% ส่วนที่เหลือประมาณ 15 – 20 % จะกระจายไปยังเป็น ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลลิปปินส์ 

ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าว เป็นกองทุนประเภท Feeder Fund โดยมีกองทุนหลักอยู่ที่ประเทศมาเลเซียอยู่แล้วซึ่งธนาคารซีไอเอ็มบีเอง  มีความแข็งแกร่งและมีความชำนาญมากในแถบอาเซียน
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ในด้านของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือเอยูเอ็มนั้น บริษัทยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก แต่จะเน้นในเรื่องของผลตอบแทนมากกว่า ดังนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทจึงเน้นลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ หรือเอฟไอเอฟมากกว่า เนื่องจากว่าปัจจุบันบริษัทมีพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศ อีกทั้งกองทุนรวมตราสารหนี้ในปัจจุบันค่อนข้างที่จะมีการอิ่มตัวลง
กำลังโหลดความคิดเห็น