xs
xsm
sm
md
lg

วรรณลั่นเกาะหัวแถวActiveFund เอ็มดีใหม่เน้นคุณภาพมากกว่าAUM

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“มนรัฐ ผดุงสิทธิ์” กรรมการผู้จัดการคนใหม่ บลจ. วรรณ ไฟแรงลั่นเกาะกลุ่มผู้นำกองทุน Active Fund เน้นคุณภาพกองทุน เพิ่มความมั่นใจแก่ตัวแทนจำหน่าย และหาพันธมิตรเป็นหลัก มากกว่าขนาดของสินทรัพย์ พร้อมงัดจุดเด่นให้คำปรึกษา ปรับกลยุทธ์ช่วยลูกค้าให้น้ำหนักการลงทุนตามช่วง

นายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.).วรรณ จำกัด เปิดเผยว่าว่า ในปัจจุบันบริษัทมีฐานลูกค้าประมาณ 27,000 บัญชี มีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ประมาณ 74,033.69 ล้านบาท โดยจากนี้ไปจนถึงสิ้นปีนี้ บริษัทจะคงเน้นการประคอง AUM เอาไว้ที่ระดับนี้ให้ได้ เพราะงานที่สำคัญในช่วงแรกตอนนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างผลตอบแทนของกองทุน Active Fund ของบริษัทให้กลับมาอยู่ในกลุ่มผู้นำของธุรกิจกองทุนรวมให้ได้

ทั้งนี้ อันดับแรกบริษัทจะเน้นในเรื่องคุณภาพของการบริหารจัดการกองทุนมากกว่าเรื่องของขนาด AUM เพื่อที่จะให้ตัวแทนขายของบริษัทมั่นใจที่จะนำเสนอกองทุนของบริษัทให้กับลูกค้าได้อย่างมั่นใจ รวมทั้งจะมองหาพันธมิตรที่เป็นสาขาแบงก์ของต่างประเทศเพิ่มเติมด้วย

โดยในปีนี้บริษัทยังคงเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนขึ้นทั้งในส่วนของกองทุนหุ้นและตราสารหนี้เพื่อที่จะดึงผลการดำเนินงานของกองทุน และภาพรวมของบริษัทให้ขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มผู้นำหรือหกลุ่มควอไทล์ที่1 จากปัจจุบัน ซึ่งกองทุนส่วนใหญ่ที่บริษัทบริหารจะอยู่ในกลุ่มผู้ตามซึ่งอยู่ในควอไทล์ที่2และ3 และจากที่ผ่านมาสไตล์ของบลจ.วรรณ อาจจะเน้นไปที่กองทุนที่เป็น Passive Fund เป็นหลัก

ขณะเดียวกันในส่วนของกองทุนที่เป็น Active Fund อาจจะยังมีผลงานที่ไม่ค่อยโดดเด่นนัก บริษัทจึงจะมีการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารกองทุนของผู้จัดการกองทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในเบื้องต้นคงต้องดูถึงเวลาที่ใช้ในกระบวนการทำงานของผู้จัดการกองทุนในปัจจุบันใช้ไปในส่วนไหนเป็นหลัก รวมไปถึงมีอุปสรรคและการสนับสนุนในด้านไหนบ้างในช่วงที่ผ่านมาเพื่อจะจัดระเบียบตรงนี้ใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของผู้จัดการกองทุนให้ดียิ่งขึ้น

โดยในส่วนของกองทุนประเภท Passive Fund ซึ่งเป็นจุดแข็งของบริษัทอยู่แล้ว จะมีการใส่มิติของคำแนะนำให้แก่ลูกค้าเพิ่มเติมถึงจังหวะการลงทุน ว่าช่วงไหนนักลงทุนควรจะเพิ่มน้ำหนักในหุ้นหรือไม่ และควรจะโยกการลงทุนจากกองทุนไทยเด็กซ์ เซท50 อีทีเอฟ (TDEX) ไปลงทุนในกองทุนไทยเด็กซ์ FTSE SET LARGE CAP (TFTSE) หรือควรจะขยับจากกองทุน TFTSE มากองทุน TDEX ดี หรือจังหวะนี้ควรจะลดน้ำหนักลงทุนในหุ้นลงแล้วนำเงินไปพักในกองทุนตราสารหนี้แทน โดยเป็นการ Active บน Passive Fund ในลักษณะของการให้คำแนะนำกับลูกค้า ซึ่งเป็นบริการที่จะมีเสริมเข้าไปมากขึ้น

นายมนรัฐ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยยังมีอยู่โดยในส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี2010 น่าจะปรับตัวดีขึ้นอาจจะโตได้ 2-3% แม้จะต่ำกว่าระดับดุลยภาพที่ 5% อยู่บ้างก็ตาม ในขณะที่เศรษฐกิจของยุโรปเริ่มมีตัวเลขหลายตัวที่ดีขึ้น สำหรับจีนก็ยังมีศักยภาพที่พอจะอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเม็ดเงินเท่าเดิมในปีหน้าได้ ถ้ามีความจำเป็นในกรณีที่เศรษฐกิจมีอาการไม่ดี

“หากมองทิศทางในปีหน้า คาดว่าภาพรวมของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็น่าจะดีขึ้นหากมีการใช้กำลังการผลิตกลับไปที่ระดับ 60-70% อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนก็น่าจะมากกว่า 10% ทั้งนี้มองว่าปี2009 กำไรบริษัทจดทะเบียนน่าจะโตประมาณ 15% ก่อนที่จะลดลงในปี2010 จากฐานที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งจะทำให้สัดส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของตลาดหุ้นไทยในปีหน้าอยู่ที่ระดับ 11.5-12.0 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 13 เท่า เรียกว่ายังมีช่องว่างให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปได้อีกพอสมควร โดยมองว่าจากนี้ไปจนถึงช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.2553 ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสไปถึง 700 จุด ซึ่งหากดัชนีขยับไปถึงระดับดังกล่าวแล้วนักลงทุนควรใช้ระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น นายมนรัฐกล่าว

อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่3/52 ถือเป็นจังหวะที่ดีในการจะทยอยเข้าลงทุนในหุ้น โดยผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อยอาจจะแบ่งเงินก้อนแรกเข้าลงทุนช่วงดัชนี 605 จุด แล้วก้อนสุดท้ายเข้าลงทุนที่ระดับ 585-590 จุด โดยหากมองถึงความห่างของดัชนีนั้นไม่มากนัก แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้มากอาจจะเข้าลงทุนตั้งแต่ดัชนีระดับ 620-630 จุด ก็ได้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับนักลงทุนได้ดีพอสมควรหากมองไปถึงช่วงม.ค.-ก.พ.2553 ทั้งนี้ยังเชื่อว่าในระยะยาวเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติจะยังคงไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทยอย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่า”

สำหรับนายมนรัฐ ผดุงสิทธิ์ จบการศึกษาระดับปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ สาขาการเงิน จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีประสบการณ์การตรงในด้านการบริหารจัดการลงทุน ซึ่งผ่านการดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ริล ลินช์ ภัทร จำกัด รวมไปถึงผ่านการดำรงตำแหน่ง Senior Fund Manager, Head of Investment Unit in Pensions Department บริษัทประกันชีวิต เอไอเอ และตำแหน่งสุดท้ายก่อนย้ายมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ บลจ.วรรณ คือ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด ในส่วนประสบการณ์บริหารภาครัฐ ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงการคลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น