บลจ.ทิสโก้ ยิ้มรับผลงานกองทุนหุ้นสวยหรู ชูกลยุทธ์ลงทุนเชิงรุก ลงทุนเต็มจำนวนรอเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้ผลดี มั่นใจดัชมีลุ้นแตะ 700 จุด
นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ จำกัด กล่าวถึงการบริหารกองทุนรวมหุ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า ผลการดำเนินงานกองทุนรวมหุ้นของบริษัทค่อนข้างดีในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากมุมมองของเราที่มีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้กองทุนหุ้นของบริษัทมีการลงทุนเต็มที่ (Fully Invest) มาตลอด โดยเน้นหุ้นที่มีโอกาสฟื้นตัวดีได้แก่หุ้นในกลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็ทำให้ผลการดำเนินงานของกองทุนออกมาดี
ในขณะที่กองทุนหุ้นส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ลงทุนเต็มที่ จึงทำให้พลาดโอกาสในช่วงตลาดขาขึ้นไป ในช่วงที่เศรษฐกิจแย่หลายบลจ.ก็ขายหุ้นลดความเสี่ยง แต่เรามีมุมมองต่ออนาคตว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวและเราไม่ได้บริหารอดีต แต่กำลังมองไปในอนาคต ซึ่งเราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้น จึงต้องลงทุนให้สอดคล้องกับมุมมอง ซึ่งการลงทุนเต็มที่ในช่วงที่ผ่านมาก็ให้ผลตอบแทนที่ดี โดยในช่วงครึ่งหลังของปี2552 หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจยังคงเป็นพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ และวัสดุก่อสร้าง
ทั้งนี้ บริษัทมีสไตล์การลงทุนที่ชัดเจนว่า เป็นการบริหารเชิงรุก (Active Management) สำหรับกองทุนในประเทศ แต่จะเป็นการบริหารเชิงรับ (Passive Management) ในส่วนของกองทุนที่ไปลงทุนต่างประเทศ (FIF) เพราะการไปลงทุนในต่างประเทศ เราคงไม่มีความเชี่ยวชาญที่จะลงลึกไปในระดับการคัดเลือกหุ้น และการไปยืมจมูกผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศหายใจ
โดยที่เราไม่มีความเข้าใจตรงนั้นก็ดูไม่เหมาะสมนักในฐานะที่เป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งควรจะรู้ว่ากำลังลงทุนอะไรอยู่ ดังนั้น การเลือกลงทุนกับกองทุนดัชนีอีทีเอฟ (Exchange Traded Fund : ETF) โดยเกาะไปกับภาพตลาดโดยรวมของประเทศหรือภูมิภาคหรือสินทรัพย์นั้นๆ น่าจะให้ประโยชน์สูงสุดกับลูกค้า และบริษัทก็สามารถอธิบายทำความเข้าใจกับลูกค้าได้ดีกว่าด้วยเพราะเรามีความเข้าใจ
“ช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวจะเห็นว่า ผลการดำเนินงานกองทุนดัชนีจะดีกว่ากองทุนที่บริหารแบบ Active Management ซึ่งกองทุน FIF ของบริษัทก็มีผลการดำเนินงานค่อนข้างดีเช่นเดียวกันเพราะเมื่อตลาดกลับทิศขึ้น ผลตอบแทนของกองทุนก็ขึ้นตามตลาด นี่จึงทำให้กองทุนดัชนีค่อนข้างดีในช่วงต้นของการฟื้นตัว” นายธีรนาถ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสจะขึ้นไปถึงระดับ 700 จุด และมีความเสี่ยงในขาลง (Downside Risk) ไม่มาก โอกาสที่ดัชนีจะลงไปต่ำกว่า 550 จุด มีน้อยลง เพราะมุมมองที่เป็นบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะทำให้แรงขายหุ้นลดลง แต่มีความต้องการซื้อหุ้นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ตลาดหุ้นแกว่งตัวในลักษณะไซด์เวย์อัพขึ้นไป