xs
xsm
sm
md
lg

ยิ้มรับเว้นภาษีเงินฝาก แต่ใครบ้าง...ที่เข้าข่ายเสียภาษี?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอแนวคิดในการยกเว้นการจัดเก็บภาษีรายได้บุคคลธรรมดา จากรายได้ดอกเบี้ยในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ โดยมีวงเงินของรายได้ดอกเบี้ยดังกล่าวไม่เกิน 1 แสนบาทในการประชุม ครม.ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนและกระตุ้นการออมนั้น...ในที่สุด กรมสรรพากรก็ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ โดยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งที่จ่ายดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ปีละไม่เกิน 20,000 บาทต่อรายลูกค้า ไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

 ขณะที่ผู้ฝากเงินที่มีบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์หลายบัญชีในหลายธนาคารและได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์เกินกว่า 20,000 บาทต่อปี ให้แจ้งธนาคารเพื่อให้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ในทุกบัญชี และให้ธนาคารออกหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายดังกล่าวด้วย เพื่อผู้ฝากเงินจะได้นำไปใช้ในการคำนวณภาษีรวมกับเงินได้ประเภทอื่น หรือใช้สิทธิขอคืนภาษีในช่วงปลายปี   

 ทั้งนี้ ประกาศดังกล่าว น่าจะเพิ่มความชัดเจนให้กับการคำนวณภาษีและกระบวนการหักภาษีในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ขณะที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงวงเงินของรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นภาษี ไปจากประกาศเดิมที่ 20,000 บาท เนื่องจากเล็งเห็นว่าได้มีความครอบคลุมบัญชีเงินฝากส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว  

 ...แต่แม้ว่าถ้อยคำที่ชัดเจน อาจต้องรอรายละเอียดแท้จริงจากตัวประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรที่กำลังจะเผยแพร่สู่สาธารณะชนตามมาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งคงจะเพิ่มความชัดเจนให้กับวิธีและกระบวนการในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติทั่วไป ธนาคารพาณิชย์ใช้ระบบอัตโนมัติในการคำนวณดอกเบี้ยจากเงินฝากประเภทต่างๆ โดยในกรณีของเงินฝากออมทรัพย์นั้น อัตราดอกเบี้ยจะคำนวณเป็นรายวัน แล้วจึงสะสมไว้จ่ายเข้าบัญชีของลูกค้าปีละสองครั้ง ขณะที่การคำนวณและหักภาษี ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดโดยกรมสรรพากร กล่าวคือ ไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 สำหรับรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ส่วนที่ไม่เกิน 20,000 บาทของทั้งปีภาษี 

 สำหรับในกรณีที่รายได้ดังกล่าวเกิน 20,000 บาท ธนาคารพาณิชย์ก็มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน โดยหากรายได้ดังกล่าวเกินจำนวน 20,000 บาทตั้งแต่งวดแรกของการคำนวณดอกเบี้ยก็จะถูกหักภาษีในงวดนั้นๆ ในอัตราร้อยละ 15 ทันที ส่วนในกรณีที่รายได้อัตราดอกเบี้ยในงวดแรกไม่เกิน 20,000 บาท (ลูกค้าจึงยังไม่ถูกหักภาษี) แต่หากรวมกับงวดหลังแล้วทำให้เกิน 20,000 บาทสำหรับทั้งปี ธนาคารพาณิชย์ก็จะดำเนินการหักภาษีสำหรับรายได้ส่วนที่เกิน 20,000 บาทสำหรับลูกค้านั้นในงวดบัญชีหลัง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นดังนี้

กรณีแรก: รายได้ดอกเบี้ยทั้งปี ไม่เกินจำนวน 20,000 บาท

กรณีที่สอง: รายได้ดอกเบี้ยทั้งปี เกินจำนวน 20,000 บาท

สร้างความเข้าใจให้ผู้ฝากที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี

 แม้ว่าธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง จะมีแนวทางการคำนวณและหักภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ชัดเจนดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น แต่ ในทางปฏิบัติ ลูกค้าอาจมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หลายบัญชี ในธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ซึ่งประกอบไปด้วยบัญชีที่มีรายได้ดอกเบี้ยเกิน และไม่เกิน 20,000 บาทต่อปีภาษี โดยลูกค้าบางรายในกลุ่มดังกล่าว อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าความรับผิดชอบทางภาษีจะพิจารณาเป็นรายบัญชี

 ขณะที่ ประกาศกรมสรรพากรที่บังคับใช้ในปัจจุบัน กำหนดความรับผิดชอบทางภาษีในลักษณะของ รายบุคคล จึงทำให้ไม่ได้แจ้งให้ธนาคารพาณิชย์ดำเนินการหักภาษีอย่างครบถ้วนในทุกบัญชี โดยเฉพาะสำหรับบัญชีที่มีรายได้ดอกเบี้ยต่ำกว่า 20,000 บาท ถึงแม้ว่าเมื่อรวมรายได้จากทุกบัญชีแล้วจะมีรายได้ดอกเบี้ยสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดก็ตาม 

 ดังนั้น คาดว่าประกาศดังกล่าว  น่าจะสร้างความชัดเจนสำหรับผู้ฝากเงินที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายจะต้องเสียภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย  นั่นคือ มีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์รวมในทุกบัญชีในธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเกิน 20,000 บาทต่อปี ดำเนินการแจ้งกับธนาคารพาณิชย์เพื่อให้หักภาษีจากทุกบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ แม้ว่าบางบัญชีจะมีรายได้จากดอกเบี้ยต่ำกว่า 20,000 บาทก็ตาม อันจะทำให้ปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร
 ผลกระทบ

 ลูกค้าเงินฝาก  โดยลูกค้าเงินฝากที่ได้รับประโยชน์ได้แก่ ลูกค้าเงินฝากที่มีรายได้ดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์ต่ำกว่า 20,000 บาท และเคยถูกหักภาษีมาก่อน (อันอาจเป็นผลจากการที่ธนาคารพาณิชย์บางแห่งอาจยังคงอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบและใช้วิธีการในการหักภาษีสำหรับทุกบัญชีไปก่อน) ลูกค้าเงินฝากกลุ่มดังกล่าว ตลอดจนลูกค้าเงินฝากออมทรัพย์ที่คำนวณแล้ว พบว่าเสียภาษีเกินอัตราที่กำหนดในช่วง 3 ปีภาษีที่ผ่านมา จะได้รับประโยชน์จากการขอคืนภาษีที่เคยชำระไปแล้วจากกรมสรรพากรได้ 
แต่ทั้งนี้ คาดว่าลูกค้ากลุ่มนี้คงจะมีจำนวนไม่มากนัก ทำให้ยอดการคืนภาษีสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ คงจะมีจำนวนไม่มากนักเช่นกัน หรือเพียงประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี ตามการเปิดเผยของกรมสรรพากร   

  ธนาคารพาณิชย์  คาดว่าผลกระทบคงจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เนื่องจากประกาศใหม่ไม่ได้มีผลในการเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณและหักภาษีของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ ขณะที่ งานด้านเอกสารนั้น น่าจะจำกัดเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์เกิน 20,000 บาทต่อปีที่ต้องการขอเอกสารการเสียภาษี  ส่วนผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างเงินฝาก จากมาตรการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์นั้น น่าจะจำกัดเช่นกัน ตามขนาดภาษีที่ได้รับการยกเว้น ซึ่งน่าจะอยู่ในหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น

 รัฐบาล คาดว่าผลกระทบจากรายได้ภาษีที่หายไปจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด สอดคล้องกับข้อมูลที่กระทรวงการคลังระบุว่ามีจำนวนประมาณ 300-400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.03-0.04 ของรายได้ทั้งสิ้นของกรมสรรพากร (หักการคืนภาษี) ที่ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท เท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น