xs
xsm
sm
md
lg

นายกบลจ.ชี้ช่องนักการเมือง ลงทุนผ่านไพรเวทฟันด์-ปลอดภัยไม่โดนตัดสิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ภายหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  ได้มีมติให้สมาชิวุฒิสภา (ส.ว.) 16 คน พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากถือหุ้นในบริษัทสื่อและบริษัทที่มีสัมปทานกับรัฐ  เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 48 และมาตรา 265 (2) กับ (4)  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

 เมื่อ กกต. วินิจฉัยไปแล้ว  ขั้นต่อไปก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่า ข้อกฎหมายนี้จะมีความเห็นออกมาอย่างไร  จะถือว่า 16 สว. ถือหุ้นในกิจการของรัฐหรือไม่  และเจตนารมณ์ของกฎหมายเทียบกับข้อเท็จจริงในการถือหุ้นของ 16 ส.ว. เป็นอย่างไร นับว่าได้รับผลประโยชน์จากสัมปทานหรือเปล่า นี่คือข้อกฎหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัย แล้วจึงจะถือเป็นที่สุด

 ทั้งนี้จากมาตรา 48 ระบุว่า  “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการ หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้  ไม่ว่าในนามของตนเอง หรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”

 วรวรรณ ธาราภูมิ  นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) และกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด บอกว่า สิ่งที่น่าสังเกตุก็คือ ข้อความว่า  “ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว”  ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ ถือหุ้นแค่ไหน จึงจะสามารถบริหารกิจการได้เหมือนกับตนเองเป็นเถ้าแก่หรือเป็นเจ้าของกิจการบริษัทนั้น
ทั้งนี้หากมีหุ้น 10,000 หุ้น  จากหุ้นทั้งหมดของบริษัทนั้น 10,000,000 หุ้น  คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นเท่ากับ 0.1% นับว่าเป็นเจ้าของบริษัทนั้นไหม ซึ่งคำตอบก็คือ ต่อให้ถือหุ้นเพียง 1 หุ้น จากหุ้นทั้งหมดของบริษัทนั้น 10,000,000 หุ้น  ผู้ถือหุ้น 1 หุ้นนั้นก็นับว่าเป็นเจ้าของบริษัทอยู่ดี
  เพียงแต่ว่าจำนวนวหุ้น 1 หุ้น หรือ 10,000 หุ้นนั้น คงไม่ทำให้เจ้าของหุ้นในสัดส่วนน้อยเหลือเกินจะสามารถไปครอบงำกำหนดหรือบริหารกิจการบริษัทนั้นเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของไปได้  อย่างเก่งก็แค่ไปออกสิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้นเอง

 จากเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรานี้  จึงน่าจะเห็นได้ชัดถึงการเน้นความสำคัญว่า สส. กับ สว. และนอมินี จะถือหุ้นในกิจการสื่อและโทรคมนาคมไม่ได้ ถ้าการถือหุ้นนั้นทำให้ตนเองสามารถบริหารกิจการสื่อและโทรคมนาคมดังกล่าวได้เหมือนตนเองเป็นเจ้าของบริษัท  ดังนั้น การถือหุ้นโดยตนหรือนอมินีในกิจการสื่อและโทรคมนาคมจึงน่าจะทำได้

  หากสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทนั้นๆ ไม่ได้มากพอที่จะไปครอบงำ บริหาร หรือจัดการบริษัทนั้น ๆ ได้

 ดังนั้น หากจะให้ชัดเจน จึงควรมีกรอบกำหนดเพิ่มเติมว่า สส. สว. คู่สมรส บุตร นอมินี จะถือหุ้นสื่อและโทรคมนาคมได้แค่ไหน ถึงจะนับว่าสามารถครอบงำบริหารกิจการบริษัทดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของบริษัท  เช่น 5%, 10% หรือ 25% เป็นต้น  ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวถ้าอยากจะได้ข้อมูลที่ชัดเจนจริง ๆ อาจจะสอบถามไปยัง กลต. หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ถึงจะสามารถครอบงำกิจการได้

ส่วน มาตรา 265 (2) ระบุไว้โดยสรุปว่า สส. กับ สว. รวมทั้งคู่สมรส บุตร และบุคคลอื่นที่ดำเนินการในลักษณะ นอมินี ต้องไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว  ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม

 ข้อสังเกตุในมาตรานี้ก็คือ  เขาห้ามบุตรไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ของ สส.  สว. ถือหุ้นในกิจการที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐหรือรัฐวิสาหกิจด้วย
นอกจากนี้  มาตรา 265 ข้างต้น  ยังถูกขยายความใน มาตรา 267 ให้ข้อห้ามนี้รวมไปถึง นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี ด้วย  เมื่อรวม 2 มาตรานี้ จึงสรุปได้ว่า ทั้ง สส. สว. นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี คู่สมรส และบุตรไม่ว่าจะอายุเท่าใด รวมไปถึงนอมินี ห้ามถือหุ้นในกิจการที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐหรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว

       จะเห็นได้ว่าเจตนารมย์ ของมาตรา 265 และ 267  จะเข้มข้นกว่ามาตรา 48   เพราะระบุชัดเลยว่า สส.  สว.  นายกรัฐมนตรี  รัฐมนตรี  คู่สมรส  และบุตรไม่ว่าจะอายุเท่าใด รวมไปถึงนอมินี  ถือหุ้นเพียง 1 หุ้นในกิจการที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะดังกล่าว ก็ไม่ได้

 นอกจากนี้ มาตรา 267 ยังได้ห้ามเพิ่มเติมอีกว่า ตัวนายกรัฐมนตรี กับ รัฐมนตรี  จะไปดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใดก็มิได้ด้วย 

 ข้อห้ามนี้เขามีไว้เพื่อป้องกันมิให้กิจการหรือบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหากำไรไปแต่งตั้งให้นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี  เป็นลูกจ้าง หรือ ดำรงตำแหน่งใด เช่นกรรมการ  ที่ปรึกษา ฯลฯ  เหตุผลที่ห้ามคือหากไปทำเช่นนั้น จะทำให้กิจการหรือบริษัทนั้นๆ ได้รับประโยชน์เหนือกว่ากิจการอื่นๆ ที่ไม่มีนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี เป็นกรรมการ ลูกจ้าง ที่ปรึกษาฯลฯ


 "โชคดีเหลือเกินที่เขาไม่ได้กินข้อความห้ามไปถึงคู่สมรส บุตร หรือผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ  มิฉะนั้นครอบครัวของนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรี จะต้องรวยจริง ๆ และคงจะขี้เกียจทำงานมาก ๆ  คู่สมรสและบุตรก็คงจะสบายเพราะทำงานในบริษัทใด ๆ ไม่ได้ ยกเว้นทำงานการกุศลเท่านั้น ซึ่งคงไม่สนุกเท่าไร  อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี จะไปเป็นประธานกรรมการมูลนิธิที่ไม่ได้แสวงหากำไรได้  เขาไม่ห้าม" วรวรรณ บอก

 ทั้งนี้ เกิดเป็นนักการเมืองจึงน่าสงสารจริง ๆ นอกจากงานก็มากแล้ว  นอนไม่พอ  เพราะต้องไปงานทุกงาน  ยกช่อฟ้าใบระกา ฝังลูกนิมิต งานแต่ง งานบวช งานโกน งานศพ งานโรงเรียนลูก สัมนาแสดงวิสัยทัศน์ โรดโชว์ เรียลลิตี้โชว์ สาระพัดจริงๆ  ที่สำคัญคือเงินเดือนก็น้อยเหลือเกินเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันที่ประสบความสำเร็จตามอายุ  แถมยังไม่มีโอกาสในการให้เงินทำงานอย่างสุจริตด้วยการลงทุนในหุ้น

 หากถือว่านักการเมืองเป็นหุ้นตัวหนึ่ง ผู้จัดการกองทุนเขาจะฟันธงเลยว่าหุ้นตัวนี้มีความเสี่ยงสูงมากแต่ให้ผลตอบแทนคาดหวังต่ำสุด จึงเป็นหุ้นที่ไม่มีใครยอมลงทุน ปล่อยให้แห้งตายคากระดานไปเลย
เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว หากนักการเมืองอยากรวย อยากมีเงินพอใช้ในวัยเกษียณ มิต้องไปคอร์รัปชั่นอย่างเดียวละหรือ? อย่าคิดอย่างนั้นเชียว เพราะ มาตรา 269 เขาเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถือหุ้นต่อไปได้โดยแจ้งให้ประธาน ปปช. ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นไปให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทำการจัดการถือครองแทนให้ 
โดยที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะไปยุ่งเกี่ยวสั่งการให้ซื้อ ขาย ออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น ฯลฯ ไม่ได้  ต้องให้นิติบุคคลที่รับจัดการทรัพย์สินแทนนั้นเขาจัดการให้เองตามสัญญาว่าจ้างที่กำหนดร่วมกันล่วงหน้า

 นี่คือช่องทางให้เงินทำงานผ่านกองทุนส่วนบุคคล หรือ Private Fund  ที่นักการเมืองน้อยคนจะไปใช้บริการ เมื่อเขาเปิดช่องทางที่ถูกต้องให้แล้ว  แต่ไม่ไปใช้  มันก็เลยยุ่ง 

หากกลัวว่า Private Fund นั้นจะไปทำอะไรให้เสียหาย  ก็ใส่ข้อความในสัญญาจัดการกองทุนส่วนบุคคลไปเลย ว่าให้เขาทำอะไรได้  ทำอะไรไม่ได้  ไม่มีใครกล้าทำผิดสัญญากับลูกค้า  โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มนี้  เพราะมันเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้จัดการกองทุน 
กำลังโหลดความคิดเห็น