xs
xsm
sm
md
lg

หงส์ดำ ผลลัพธ์จากความไม่น่าจะเป็น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ทฤษฎีหงส์ดำ ที่ถูกนำมาตีแผ่โดยนายนาสซิม นิโคลัส ทาเล็บ (Nassim Nicholas Talib)  หมายถึง เหตุการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้น และยากที่จะคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นภายใต้กรอบความเชื่อหรือสามัญสำนึกโดยทั่วไป  แต่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในวงกว้าง และที่สำคัญเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเกิดขึ้น จะชี้ให้เห็นถึงความเบาปัญญา และการไม่คิดนอกกรอบของมนุษยชาติ
 ที่ขึ้นชื่อว่าหงส์ดำ ก็เพราะว่าปกติสมมติฐานภายใต้สามัญสำนึกทั่วไป หงส์ทุกตัวจะมีสีขาว (ยกเว้นถ้าคุณเป็นแฟนบอลของทีมลิเวอร์พูล ก็อาจจะคิดว่าหงส์มีสีแดง เพราะโลโกของสโมสรฟุตบอลเมืองลิเวอร์พูล เป็นรูปสัตว์ปีกสีแดง)  ทั้งนี้ ในเชิงตรรกวิทยา หมายความว่าหงส์ดำไม่มีตัวตน มีอยู่ในจินตนาการเท่านั้น  อย่างไรก็ดี ในศตวรรษที่ 17 เมื่อมีการค้นพบหงส์ดำในออสเตรเลีย ก็ทำให้ความเชื่อในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้นั้น กลับเป็นไปได้
 เหตุการณ์ต่างๆ เช่น อุบัติการณ์อินเตอร์เน็ต   สงครามโลก  การเกิดเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน  ล้วนเป็นตัวอย่างของปรากฏการณ์ตามทฤษฎีหงส์ดำทั้งสิ้น  
Talib เน้นว่า  เหตุการณ์เกือบทุกเหตุการณ์ที่มีผลต่อเนื่องทางประวัติศาสตร์เกิดจากเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย  โดยหลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว มนุษย์ก็พยายามหาหนทางอธิบายการเกิดเหตุการณ์เหล่านั้นว่าเป็นผลมาจากความไม่ได้ตระหนักรอบคอบทางความคิด (hindsight หรือ bias) นั่นเอง
 ปัญหาอีกประการหนึ่งในเรื่องการพิจารณาความเสี่ยงในทางการเงิน คือสมมติฐานที่ว่าสิ่งที่เหนือความคาดหมายสามารถถูกคาดการณ์ได้โดยสถิติประยุกต์บนพื้นฐานของสถิติของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต (past observations) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการกระจายตัวแบบปกติ (normal distribution) อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมักจะไม่ได้คำนึงถึงเหตุการณ์สุดโต่ง (extreme events) เช่น ตลาดหุ้นตกในวันจันทร์ทมิฬ เมื่อปี 2530 รวมถึงไม่ได้คาดคำนึงถึงภาวะที่ตลาดหุ้นซึมเซาช่วงหนึ่งหลังเหตุการณ์โจมตีตึกเวิล์ดเทรด เมื่อ 11 กันยายน 
เหตุการณ์ที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน แต่ได้เกิดขึ้นมาจริงๆ ทำให้การใช้เหตุผลตรรกะอธิบายปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้มีความน่าเชื่อถือน้อยลงไป   ซึ่งอาจจำต้องใช้ปรัชญาชี้แจงเหตุผลที่ต้านความรู้สึกว่าเป็นจริง (counterfactual reasoning) ในการประเมินความเสี่ยงด้านการเงินในปัจจุบัน
 Risk Manager ของสถาบันการเงินในยุคนี้ จึงเป็นอาชีพที่ต้องมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความเข้าใจตลอดเวลา  เพราะทฤษฎีด้านความเสี่ยงใหม่  การกระจายตัวทางคณิตศาสตร์แบบใหม่ที่ไม่ใช่การกระจายตัวแบบปกติ หรือแบบเดิมๆ ที่นักสถิติคุ้นเคยพยายามอธิบายปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่สุดโต่งมากขึ้น  แต่ก็เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง เสี่ยงทั้งในเรื่องหน้าที่การงาน และเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะทฤษฎีที่เคยร่ำเรียนมาอาจนำมาใช้กับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันไม่ได้
อย่างไรก็ดี ความเกรงกลัวต่อความเสี่ยงจนไม่กล้าที่จะลงทุน ก็จะเป็นเรื่องที่มากเกินไป  เพราะเหตุการณ์สุดโต่งเหล่านี้ น้อยครั้งที่จะเกิดขึ้น และมีวิธีการบรรเทา หรือผ่อนปรนไม่ให้ได้รับผลกระทบที่ไม่อาจจะยอมรับได้จากเหตุการณ์สุดโต่งนั้นๆ
 การประกันความเสี่ยง โดยผูกไว้กับเหตุการณ์ (event risk) อาจใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน เช่น credit-linked note (พันธบัตรที่อัตราผลตอบแทนและเงินต้นไปอิงกับความสามารถในการชำระหนี้ของสินทรัพย์อ้างอิง) หรือ credit default swap (สัญญาป้องกันความเสี่ยงในตราสารที่ตนเองถือครองอยู่ อันได้แก่ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออก หรือการผิดนัดชำระดอกเบี้ยของตราสารนั้น)
 แม้ว่าผลของวิกฤติสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ลามมาถึงวิกฤตการณ์ความเชื่อมั่นด้านเครดิตในสหรัฐฯ ทำให้ตลาดด้านการประกันความเสี่ยงบิดเบี้ยว และการบริหารจัดการความเสี่ยงของผู้จัดการกองทุนทำได้ลำบากขึ้น แต่หลังพายุฝนกระหน่ำ  ฟ้าก็จะเปิด ตะวันก็จะสาดส่องแสงสีทองผ่องอำไพ  ผลของวิกฤติการณ์ครั้งนี้ ทำให้มีการสังคายนาการประเมินความเสี่ยงทางการเงินทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ และคัดกรองบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ด้อยคุณภาพออกไป 
และทำให้เราสามารถแยกแยะบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ที่เหลืออยู่ในตลาดที่มีคุณภาพและมีราคาที่เหมาะสม หากเราเข้าใจและเห็นว่าความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์อยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้    สามารถเลือกลงทุนในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้อย่างเหมาะสม และหากเราตะหนักว่าสักวันก็อาจจะได้เจอ  หงส์ดำ”  เกิดขึ้นอีก ก็ควรจะมีสติ เตรียมพร้อมที่จะรับกับเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย
  ความคิดเห็นและข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น  ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น