xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตรไทยเข้มแข็ง รู้แค่ไหนก่อนต่อคิวซื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดขายไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับ"พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง"จำนวน 3 หมื่นล้านบาทให้แก่ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และความต้องการที่ล้นหลามทำให้ไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมถึงขายหมดในช่วงระยะเวลาเพียง 10 นาที?

วงเงิน 3 หมื่นล้านบาทเป็นเพียงการออกพันธบัตรออมทรัพย์ล็อตแรกที่เปิดขายให้แก่ผู้สูงอายุจากเดิมที่ตั้งไว้ 1.5 หมื่นล้านบาทแต่ขยายเพิ่มให้อีก 1.5 หมื่นล้านบาทในภายหลัง

ความต้องการขนาดนี้ย่อมบ่งบอกถึงคุณภาพสินค้า หรือการเป็นเครื่องมือการลงทุนที่ดีของพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นนี้ เพียงแต่นอกจากผู้สูงอายุที่จองซื้อ หรือบุคคลทั่วไปที่กำลังจะตัดสินใจซื้อนั้น มีจำนวนเท่าใดได้รับข้อมูลนอกเหนือจากที่หนังสือชี้ชวนของกระทรวงการคลังที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งทำการจัดพิมพ์แจกจ่ายแก่ประชาชนที่สนใจ

ไม่ต้องร่ายยาวถึงที่มาที่ไปว่า รัฐบาลจะออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกู้ยืมเงินจากประชาชนและ ผู้ซื้อพันธบัตรจะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้รัฐบาลตามกฎหมาย หรือว่า รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ จะเอาเงินไปทำอะไรเป็นประโยชน์หรือไม่โปร่งใสแค่ไหน...

รายละเอียดในหนังสือชี้ชวน หรือแนะนำประกอบนอกเหนือจากนั้นมากกว่าที่จะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องมีคำถามตามมาอีกภายหลัง

ทั้งนี้ หากมองถึงอัตราผลตอบแทนอันเป็นแรงจูงใจหลักของการลงทุน ข้อมูลที่ประชาชนได้รับเบื้องต้นภายในหนังสือชี้ชวนระบุไว้ว่า อัตราดอกเบี้ย(คูปอง) ที่ตราไว้ในพันธบัตรชุดนี้กำหนดว่า รัฐบาลจะทำการจ่ายอัตราผลตอบแทนในอัตราขั้นบันไดตลอดอายุ 5 ปี โดยในปีที่ 1 และ 2 จะทำการจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี และปี 3 จะจ่ายในอัตราร้อยละ 4 ต่อปี และในปีที่ 4-5 จะทำการจ่ายในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี

เข้าใจคร่าวๆ ว่าผลตอบแทนที่ได้รับตลอดอายุ 5 ปีของพันธบัตรรุ่นนี้จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ของเงินต้น หรือเฉลี่ยประมาณ 4% ต่อปี โดยถ้าสมมุติตัวอย่างให้นักลงทุนท่านหนึ่งมีวงเงินลงทุนจำนวน 1 ล้านบาท เท่ากับว่าในปีที่ 1และ 2 นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทน หรือดอกเบี้ยต่อปีจำนวน 30,000 บาท และเพิ่มขึ้นในปีที่ 3 จำนวน 40,000 บาท ส่วนในปีที่ 4 และ 5 จะได้ปีละ 50,000 บาท

สรุปแล้วหากนักลงทุนถือพันธบัตรมูลค่า 1 ล้านบาทครบตามอายุ 5 ปีก็จะได้ผลตอบแทนรวม 200,000 บาท

แน่นอนผลตอบแทนระดับนี้น่าสนกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบัน แต่ความเหมือนเช่นเดียวกับดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับยังมีอยู่ เมื่อกระทรวงการคลังระบุว่า บุคคลธรรมดาผู้ถือพันธบัตรจะต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละงวด โดยส่วนเงินฝากและพันธบัตรของ ธปท. มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายอัตราภาษีตามประเภทผู้ถือพันธบัตร

เบ็ดเสร็จแล้วผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์จำนวน 1 ล้านบาท ก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 170,000 บาท ซึ่งยังไม่นับรวมค่าธรรมเนียมที่ต้องเสียให้กับทางธนาคารพาณิชย์ในบางกรณีอีกเล็กน้อย ส่วนการจ่ายผลตอบแทนของพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นนี้จะทำการจ่ายปีละ 2 งวดเช่นเดียวกับรุ่นต่างๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้

แต่ไม่ต้องตกใจกับเรื่องของภาษี เพราะในกรณีที่ฐานเงินได้ของท่านใดเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 15 จะสามารถนำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายไปใช้เป็นหลักฐานขอคืนภาษีประจำปีได้เช่นกัน

เงินเย็น-ร้อนความเสี่ยงพันธบัตรออมทรัพย์
ขึ้นชื่อว่าเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ ส่วนใหญ่คนเราคงจะนำเงินออมที่กันออกจากค่าใช้จ่ายมาลงทุน(เงินเย็น) แต่หากวันใดเงินเย็นกลายเป็นเงินร้อนที่จำเป็นต้องใช้ขึ้นมา คำถามที่ตามมาก็คือ พันธบัตรออมทรัพย์ที่ถืออยู่นั้นมีสภาพคล่องในการเปลี่ยนแปลงเป็นเงินสดมากน้อยเพียงใด?

ต้องยอมรับว่าจุดประสงค์ของพันธบัตรออมทรัพย์นั้นเป็นตัวแปรที่ทำให้ สภาพคล่องของตัวมันเองแถบจะไม่มีเหลืออยู่ แต่ยังมีเงื่อนไขกำหนดสำหรับผู้ที่ต้องการไถ่ถอน หรือโอนย้ายให้กับบุคคลอื่นได้ก่อนกำหนดเช่นกัน แต่จะต้องทำการถือครองไว้อย่างต่ำ 6 เดือนถึงจะสามารถทำได้

ปกติแล้วการขายคืนก่อนกำหนดจะทำระหว่างผู้ถือพันธบัตรกับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะมีอัตรารับซื้อคืนตายตัวที่กำหนดโดยแบงก์ชาติอยู่แต่ในกรณีที่มีการโอนย้ายเปลี่ยนมือไปยังบุคคลอื่นก็สามารถทำได้ตามข้อตกลงระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย โดยมีแบงก์ชาติหรือธนาคารพาณิชย์เป็นตัวกลางเช่นกัน

ในกรณีแรกคงจะไม่มีปัญหาหรือความเสี่ยงมากนักนอกจากค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้น แต่ในกรณีที่ 2 นั้นนับเป็นความเสี่ยงจากสภาพคล่องของพันธบัตรออมทรัพย์นอกเหนือจากการเสียโอกาสของการลงทุนทางเลือกอื่น ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ซึ่งการนำพันธบัตรออมทรัพย์ไปขายให้กับสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่น ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับต้นเงินคืนตรงตามหน่วยตามที่ตราไว้ โดยราคาที่ได้ อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้นๆ จะเป็นตัวกำหนดและทำให้มูลค่าของพันธบัตรลดค่าลง

น่าจะพอเข้าใจและใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนการลงทุนพันธบัตรออมทรัพย์ได้บ้าง แต่ถ้ายังมีคนกลัวเรื่องความเสี่ยงด้านการชำระหนี้หรือเครดิตของผู้ออกตราสารอย่างรัฐบาลไทยแล้วละก็ ตอบกลับไปอย่างไม่ต้องอายเลยว่า ถ้าประเทศวอดวายขนาดนิวเคลียร์ลง เกิดสงครามยิงกันอุตลุต แค่เอาชีวิตรอดได้น่าจะเพียงพอแล้ว เพราะอย่างไรเงินที่หอบไปก็เป็นเพียงกระดาษที่ไม่มีค่าอะไรอยู่ดี

กำลังโหลดความคิดเห็น