xs
xsm
sm
md
lg

ความคาดหวังของนักลงทุน จากพันธบัตรออมทรัพย์ “ไทยเข้มแข็ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปรากฏการณ์ที่ประชาชนแห่จองซื้อ ‘พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มเข็ง’ กันอย่างล้นหลาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นเครื่องหมายซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการระดมทุนโดยตรงของภาครัฐแล้ว ยังเป็นสัญญาณบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าสภาพคล่องสำหรับผู้ที่ออมเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีอยู่มาก และพยายามแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป    
ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวให้ผลตอบแทนเฉลี่ยถึงร้อยละ 4 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี และถ้าจะเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนจากการถือครองพันธบัตรรัฐบาล(ที่จัดได้ว่าเป็นอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระ) จนครบกำหนดอายุ ที่อายุคงเหลือ 5 ปี กลับให้อัตราผลตอบแทนไม่ถึงร้อยละ 3 ต่อปี
 การที่รัฐบาลพยายามสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนลงทุนโดยตรงกับภาครัฐ ด้วยการออกพันธบัตรโดยให้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาดในลักษณะนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะประชาชนส่วนหนึ่งต้องถอนเงินจากธนาคารเพื่อมาซื้อพันธบัตรรัฐบาล และผลพวงที่ตามมาคืออัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับตัวสูงขึ้นเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้   แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีสำคัญหลายตัวในตลาดเงิน กลับสนับสนุนความคิดที่ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่น่าจะปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงเวลานี้
 
 โดยจะเห็นได้จากตัวเลขอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก ณ เดือน พ.ค.2552 ที่ประมาณการโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีค่าเพียงร้อยละ 84.04 หรือคิดเป็นสภาพคล่องที่เหลืออยู่ในระบบเศรษฐกิจประมาณ 530,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับแผนการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพียง 80,000 ล้านบาท
ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงสุดของธนาคารพาณิชย์อยู่ในช่วงร้อยละ 0.75-1.30 ต่อปี  สอดคล้องกับการที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยตั้งแต่อายุคงเหลือ 2 ปีขึ้นไป ขยับตัวลดลงตลอดทั้งเส้นประมาณ 22-60 Basis point ในระยะ 1 เดือนที่ผ่านมา ยังแสดงให้เห็นอีกว่าสภาพคล่องในระบบขณะนี้ยังมีมากพอ ที่จะไม่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย

แม้ตัวเลขต่างๆ พอจะทำให้หลายๆฝ่ายเบาใจได้ว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการบริโภคและการลงทุนจากภาคเอกชนนั้น ยังมีความหวังที่จะสำฤทธิ์ผลได้ เพราะการออกพันธบัตรของรัฐบาลในครั้งนี้ไม่กระทบต่อภาพรวมการดำเนินนโยบายการเงิน 

แต่ในอีกด้านหนึ่งกลับไปเพิ่มเครดิตเสปรด (Credit Spread) ของการออกหุ้นกู้เอกชนในตลาดแรก   และจากตัวเลขประมาณการของการออกหุ้นกู้ ที่ ThaiBMA ทำการสำรวจจากบริษัทเอกชนที่ต้องการระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ ตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมาพบว่า บริษัทเอกชนที่มีแผนจะออกหุ้นกู้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ได้พากันปรับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว (coupon) เพิ่มขึ้นอีกประมาณร้อยละ 0.75-1.50 ต่อปี เพื่อจูงใจให้นักลงทุนมาลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทฯ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ เพื่อให้ขายหุ้นกู้ได้ง่ายขึ้นนั่นเอง และผลกระทบยิ่งตกหนักกับบริษัทที่มีอันดับเครดิตในระดับที่ต่ำลง เพราะต้องเพิ่มส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นเพื่อชดเชยให้กับความเสี่ยงด้านเครดิตที่นักลงทุนจะได้รับ
โดยสรุป การออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งในครั้งนี้แม้จะไม่มีผลโดยตรงต่อกลไกทางการเงินของระบบ แต่มีผลกระทบกับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจากนักลงทุน เพราะผลตอบแทนจากพันธบัตรดังกล่าวทำให้นักลงทุนใช้เปรียบเทียบได้ถึงข้อแลกเปลี่ยนระหว่างผลตอบแทนกับความเสี่ยงที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนในหุ้นกู้เอกชน และสิ่งที่น่ากังวลใจต่อไปก็คือจะเป็นการเพิ่มต้นทุนทางการเงินทางอ้อมให้แก่ภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุนเพื่อการลงทุนอย่างแท้จริง
 
 
บทความโดย
ธนภรณ์   สุชาติปัทมกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น