คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ทุกองค์กรต้องการที่จะรักษาคนดีคนเก่งไว้ให้ได้นานที่สุด ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทำอย่างไร เพราะเราคงจะเห็นเรื่องของแนวทางการดูแลและรักษาคนดีคนเก่งในหนังสือและบทความมาแล้วมากมาย รวมไปถึงการมีที่ปรึกษาโดยตรงทางด้านนี้ที่คุณสามารถขอความช่วยเหลือได้เสมอ แน่นอนว่าข้อมูลที่สามารถหาได้ไม่ยากเหล่านี้ ทำให้หลายองค์กรพอจะรู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร
แต่ปัญหาจริงๆของโครงการไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอย่างไร แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ หลายองค์กรปรึกษามาแล้วหลายที่ปรึกษา อ่านหนังสือมาแล้วก็หลายกระบุง ประยุกต์แนวทางที่สำเร็จขององค์กรอื่นๆที่เคยทำมาแล้วก็มี แต่ทำไมแนวทางที่ใช้จึงไม่สำเร็จ จากการศึกษาและจากประสบการณ์การทำงานที่ปรึกษา ผมพอจะสรุปอุปสรรคหลักออกมาได้ 8 ประการ ดังนี้
1.ความซับซ้อน แนวทางหรือกระบวนการต่างๆที่นำมาใช้เป็นอะไรที่ซับซ้อนจนทำให้โครงการล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น ในการดูแลและรักษาคนดีคนเก่งนั้นแนวทางการปฏิบัติควรเป็นอะไรที่ไม่ซับซ้อนจนเกินไป แม้ในปัจจุบันเราจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากมายในการทำกระบวนการต่างๆที่ซับซ้อนให้เกิดผล
แต่อย่าลืมว่า ในยุคนี้เป็นยุคที่ต้องการความรวดเร็ว ความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงก็มีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าความซับซ้อนที่ก่อให้เกิดความล่าช้าไม่สามารถไปได้ดีกับยุคสมัยในลักษณะนี้ ลองทำอะไรให้ง่ายลง แล้วคุณอาจจะพบว่า มันได้ผลมากกว่าความซับซ้อนต่างๆที่คุณคิดไว้ตั้งแต่ต้นก็เป็นได้
2.ทำตามที่ฉันบอก แต่อย่าทำตามที่ฉันทำ ถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่ใส่ใจและลงเวลากับการดูแลและรักษาคนดีคนเก่ง แล้วใครที่ไหนในองค์กรจะสนใจในโครงการนี้ สำหรับกรณีนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่โครงการหรือแนวทางการทำงานของโครงการ แต่สิ่งที่แสดงออกของผู้นำต่างหากที่สามารถสร้างความแตกต่างให้กับโครงการได้ ผู้นำไม่ใช่แค่พูดแล้วทุกอย่างจะจบลงได้ด้วยดี สิ่งที่แสดงออกมาให้เห็นก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้การพูด อย่าลืมว่า ‘การกระทำสำคัญกว่าสิ่งที่พูด
3.การมีและการไม่มี เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า การมีโครงการนี้จะช่วยในการเก็บรักษาพนักงานที่ดีและเก่งไว้กับองค์กรได้ แต่ในขณะเดียวกันการไม่มีโครงการนี้หมายถึง การที่ทุกคนในองค์กรได้รับการดูแลและได้รับผลตอบแทนที่เท่ากัน ซึ่งนั่นหมายถึงคนที่เก่งและดีก็จะค่อยๆกลายพันธุ์มาเป็นพนักงานธรรมดาทั่วๆไป (เพราะทำดีไปก็ไม่ได้อะไร) หรือถ้าทนไม่ไว้ก็ลาออกไป
จากการวิจัยพบว่า การมีโครงการดูแลและรักษาคนดีคนเก่งนั้นมีประโยชน์กับองค์กรมากกว่าการไม่มีโครงการนี้ แต่ในขณะเดียวกันหลายองค์กรก็ยังคงไม่ลงมือที่จะทำให้เกิดโครงการนี้ขึ้น และหนึ่งในเหตุผลเพราะผู้บริหารกลัวว่าจะเป็นการแบ่งแยกพนักงานซึ่จะทำให้เกิดความแตกแยกภายในองค์กร หรือไม่ก็กลัวว่าจะเป็นการให้รางวัลกับคนที่มีผลการทำงานที่อยู่ในระดับกลางเท่านั้น
แนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ คือการทำให้พนักงานเข้าใจกันเอง ถึงการแบ่งว่าใครเป็นพนักงานดีและเก่งขององค์กร โดยองค์กรสามารถสร้างระบบการให้คะแนนและให้รางวัลอย่างชัดเจน ให้เขาได้เห็นเลยว่า การทำงานในระดับไหนหมายถึงการเป็นคนที่เป็นคนดีคนเก่งขององค์กร ระดับไหนหมายถึงคนที่มีผลการทำงานในระดับดีหรือปานกลาง และระดับไหนคือคนที่มีผลการทำงานในระดับล่าง ให้ระบบเป็นตัวส่งข้อความแทน
4.การไม่เริ่มเดินทาง การวางแผนเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการทำให้โครงการประสบความสำเร็จ แต่การวางแผนอย่างเดียวคงไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ถ้าเราไม่ลงมือปฏิบัติ หลายองค์กรพยายามวางแผนอย่างรอบคอบ ระดมสมองกันเป็นสิบๆครั้งเพื่อให้ได้แผนที่ดีที่สุด แต่กว่าจะได้แผนนั้นมาก็เสียเวลานาน แล้วในไม่ช้าก็มีคนคิดแนวทางการปฏิบัติใหม่ๆออกมา
ซึ่งทำให้องค์กรต้องกลับมาระดมสมองกันใหม่ สุดท้ายกว่าจะได้ฤกษ์ลงมือทำ คนดีคนเก่งก็หายไปแล้วกว่าครึ่ง โครงการดูแลและรักษาคนดีคนเก่งประกอบไปด้วยหลายขั้นตอน มีตั้งแต่การสรรหา การพัฒนา การประเมิน ไปจนถึงการให้รางวัล คุณไม่จำเป็นต้องรอจนทุกๆขั้นตอนถูกวางแผนออกมาได้อย่างสำเร็จครบถ้วน
แล้วจึงค่อยลงมือทำ จงลงมือทำไปก่อน ดีกว่ารอจนไม่รู้ว่าเมื่อไรจะได้เริ่ม อย่างน้อยก็เป็นการส่งสัญญาณให้พนักงานได้เห็นว่า องค์กรมีความตั้งใจจริงในการดูแลและรักษาคนดีคนเก่งขององค์กร
5.ความรับผิดชอบ โครงการต่างๆ ล้วนมีขั้นตอนในการทำมากมาย บางขั้นตอนก็ต้องการระดมสมองจากหลายๆส่วนงาน ซึ่งบางครั้งก็จะได้ความร่วมมือบ้าง ไม่ได้บ้าง บางครั้งเรื่องที่ขอความร่วมมือไปถูกเก็บไว้ในลิ้นชักจนลืมไปแล้วว่ามีการขอความร่วมมือ หรือบางครั้งแม้จะได้ความร่วมมือดี แต่ไม่มีการนำไปใช้ต่อ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำ เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์
ดังนั้นการทำงานในแต่ละขั้นตอน ควรมีการระบุคนที่เข้ามารับผิดชอบอย่างชัดเจน คนที่จะเข้ามารับผิดชอบต้องเป็นคนดูแลขั้นตอนนั้นๆอย่างใกล้ชิด พัฒนาขั้นตอนหรือกระบวนการไประหว่างการทำงาน และติดตามผลการทำงานอยู่เสมอ
6.ความเชื่อมโยง แม้โครงการจะมีหลายขั้นตอน มีคนรับผิดชอบในแต่ละขั้นตอนที่แตกต่างกัน แต่อย่าลืมว่า ทุกขั้นตอนที่ทำล้วนเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลัก การพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าต่างคนต่างทำในขั้นตอนของตนเองโดยไม่มีการพูดคุยกัน มีความเป็นไปได้ที่แต่ละคนอาจจะทำงานทับซ้อนกัน หรืองานบางส่วนงานอาจถูกละเลยไป หรืองานบางงานอาจจะมีการขัดแย้งกันเอง
ดังนั้นความเชื่อมโยงในแต่ละขั้นตอนจึงเป็นสิ่งสำคัญ หาเวลาในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นระยะๆ เพื่อความสอดคล้องของโครงการทั้งโครงการ
7.ความมั่นใจโดยไม่มีความสามารถ หลังจากที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินโครงการมาแล้วเป็นอย่างดี หลายคนจะเห็นว่า งานบางอย่างเป็นอะไรที่องค์กรทำอยู่แล้ว จึงอาจจะไม่ค่อยใส่ใจให้ความสำคัญเท่าไรนัก เพราะคิดว่าอย่างไรก็ไม่แตกต่างกันมาก และมั่นใจว่าสามารถทำได้ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วมันอาจจะมีความแตกต่างในสิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันซึ่งถ้าไม่ศึกษาให้ดี อาจจะนำมาซึ่งความเข้าใจผิด
นอกจากนี้ ยังมีคนอีกกลุ่มที่ทำได้ดีแต่ในกระดาษ กล่าวคือ ถ้าคุณไปดูสิ่งที่เขาเขียนไว้ว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง คุณอาจจะพบว่าเขาได้ทำตามที่วางแผนไว้ทุกข้อ แต่ในความเป็นจริงแล้วคำว่าได้ทำกับการทำได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นแตกต่างกัน และนั่นอาจจะนำปัญหามาสู่ช่วงท้ายๆของโครงการได้
8.คนดีคนเก่งแบบรีบด่วน ในช่วงที่ผ่านมา หลายองค์กรสร้างนิสัยที่ไม่ดีให้กับตนเองโดยการซื้อทุกอย่างที่องค์กรต้องการ ซึ่งนั่นรวมไปถึงการซื้อหรือจีบพนักงานเก่งๆขององค์กรอื่นเพื่อให้มาทำงานให้กับองค์กร ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้หลายๆองค์กรมองไม่เห็นความสำคัญของโครงการดูแลแลรักษาและพัฒนาคนดีคนเก่ง เพราะถ้าต้องการเมื่อไรก็ค่อยซื้อหาเอา
แต่อย่าลืมว่า หลายองค์กรทำแบบเดียวกันนี้และผลที่ตามมาคือ ทำให้ราคาในการหาคนเก่งมีจำนวนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ และบางครั้งราคาที่จ่ายก็สูงเกินความสามารถ ทำไม่ได้ตามราคาที่จ่ายไป และนั่นส่งผลต่อสถานะทางการเงินและวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรอุปสรรคของการบริหารคนดีคนเก่งยังมีอีกมากมาย แต่ที่เขียนมาในข้างต้นเป็นแค่ปัญหาหลักๆเท่านั้น อย่างไรก็ตามไม่ว่าอุปสรรคจะเป็นอะไร ถ้าหากเราตั้งใจและมุ่งมั่น ความสำเร็จก็จะอยู่ไม่ไกล
คอลัมน์เกล็ดธุรกิจ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
apiwut@riverorchid.com
www.orchidslingshot.com