ถ้าพูดถึงความสมดุลแล้ว คนเราส่วนมากจะมีความสุดโต่งในเรื่องต่างๆมากมาย ยกตัวอย่างเช่น คนบางคนจะมีความสุดโต่งในเรื่องของการวางกฎระเบียบให้กับตนเอง จะทำอะไรต้องคิดแล้วคิดอีกว่ามันจะออกนอกกรอบที่ตนเองวางไว้หรือไม่ ในทางกลับกันบางคนก็ไม่มีกฎเกณฑ์อะไรให้กับตนเองเลย ชีวิตดำเนินไปเรื่อย ๆ แล้วแต่สถานการณ์จะพาไป
ในแง่การบริหารจัดการก็ไม่ต่างกัน สิ่งสำคัญสำหรับผู้นำคือการสร้างความสมดุลในการบริหาร เพราะถ้าผู้นำไม่สามารถสร้างสมดุลในการบริหารได้แล้ว ผลที่จะตามมาคือความสั่นคลอนของวัฒนธรรมองค์กร ความเชื่อมั่นที่ลดลง ความกลัวและความเคลือบแคลงใจในหมู่พนักงาน ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่ความล้มเหลวในการบริหารจัดการ
ดังนั้นความสมดุลของผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผมได้มีโอกาสศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้และได้แบ่งความสมดุลของผู้นำออกเป็น 5 ข้อดังนี้
ความสมดุลที่ 1: ความมุ่งมั่นกับความรู้สึก
ความมุ่งมั่นในที่นี้ คือความตั้งใจในการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงนโยบายบางอย่าง ส่วนความรู้สึกหมายถึงความสามารถในการมองเห็นและเข้าใจในความรู้สึกของพนักงานที่มีต่อเรื่องที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง
ผู้นำที่สามารถสร้างความสมดุลให้กับเรื่องนี้ได้ ต้องเข้าใจถึงเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงว่าทำไมต้องเปลี่ยนและสามารถสื่อสารเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงออกมาได้อย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับความรู้สึกของพนักงาน เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถพูดถึงความรู้สึกของเขาหรือความสูญเสียที่พวกเขาจะได้รับในครั้งนี้
ความสมดุลนี้ จะช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นและความมุ่งมั่นในระดับสูงให้กับพนักงาน
ความสมดุลที่ 2: ความเร่งด่วน กับ ความสุขุมในการเปลี่ยนแปลง หนึ่งในสิ่งสำคัญของกระบวนการการเปลี่ยนแปลงคือ ผู้นำหลายๆคนต้องการให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นและจบลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการผลักดันของผู้นำจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อรักษาระดับพลังของการเปลี่ยนไม่ให้แผ่วลง ผู้นำจึงต้องแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
แต่ในขณะเดียวกัน ผู้นำก็ต้องรู้จักจังหวะในการผ่อนปรนบ้าง แสดงความใจเย็นและลดความเร็วในการเปลี่ยนแปลงลงบางกรณี เรียกว่ารู้จักจังหวะที่จะผ่อน โดยเฉพาะเมื่อผู้นำเห็นว่าพนักงานเริ่มตามไม่ทันหรือปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ช้าลง
สำหรับการเปลี่ยนแปลงแล้ว ถ้าผู้นำคิดแต่จะผลักดันและเร่งการเปลี่ยนแปลงให้จบเร็วที่สุด สิ่งที่จะตามมาคือ พนักงานไม่สามารถปรับตัวได้ ความหงุดหงิดและการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงก็จะตามมา
ดังนั้นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีต้องสร้างความสมดุลในเรื่องนี้ไว้เช่นกัน ไม่เช่นนั้นแม้การเปลี่ยนแปลงจะจบลงได้เร็วตามที่ผู้นำต้องการ แต่อาจขาดประสิทธิภาพและต้องตามมาแก้อีกในภายหลัง
ความสมดุลที่ 3 : มุมมองเชิงบวก กับ ความเป็นจริงที่ต้องเปิดเผย
คนที่ทำงานหนักหรือทำงานมากโดยส่วนใหญ่ จะมีความเครียดค่อนข้างสูง สิ่งที่พวกเขาต้องการคือกำลังใจในทางบวกจากผู้นำของเขา การคิดในแง่บวกของผู้นำจะทำให้ผู้นำเองมีพลังในเชิงบวกและสื่อสารในเชิงบวกกับผู้ฟัง ผู้นำที่คิดในแง่บวกส่วนมากจะมีความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลง และเชื่อมั่นในกลยุทธ์ที่วางไว้
ความคิดในแง่บวก แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้นำต้องมองทุกอย่างในแง่ดีตลอดเวลาและทำเป็นมองไม่เห็นความเป็นจริงที่เกิดขึ้น การมองในแง่บวกต้องมีความสมดุลกันกับชีวิตความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้น
ผู้นำที่มีความสมดุลในเรื่องนี้ จะเป็นผู้นำที่พูดตามความเป็นจริง ชัดเจนและซื่อสัตย์กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันก็มองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเชิงบวก
ความสมดุลที่ 4 : พึ่งพาตนเอง กับ ความเชื่อมั่นในคนอื่น
ผู้นำที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นในทักษะและความสามารถของตนเอง จะเป็นคนที่ต้องการทำงานใหม่ ๆ ที่ท้าทายอยู่ตลอดเวลา แม้การเชื่อมั่นในตนเองจะเป็นสิ่งที่ดี การเชื่อมั่นในตัวคนอื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ซับซ้อนและยุ่งยากมากๆแล้ว การไว้วางใจ และปล่อยให้ผู้อื่นได้ตัดสินใจด้วยตนเองบ้าง อาจจะช่วยให้สถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นก็ได้
หลายๆครั้ง ผู้นำส่วนมากต้องการจะแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งมีความสามารถ การที่จะปล่อยวางและเชื่อมั่นให้ผู้อื่นทำงานให้นั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราต้องเข้าใจว่า เรื่องบางเรื่องเราต้องการการทำงานแบบทีม
ดังนั้นผู้นำที่ดีควรมีความสมดุลในเรื่องการพึ่งพาตนเอง และความเชื่อมั่นในตัวคนอื่นอย่างเหมาะสม
ความสมดุลที่ 5 : การใช้จุดแข็ง กับ การเรียนรู้สิ่งใหม่ ในช่วงวิกฤต คนส่วนมากจะแก้ไขสถานการณ์โดยนำแนวทางที่เคยทำและสำเร็จในอดีตมาใช้แก้ปัญหา เช่นเดียวกันกับผู้นำส่วนมากที่คิดว่า ‘เราเคยผ่านสถานการณ์แบบนี้มาแล้ว เราเคยแก้ไขปัญหานั้นมาแล้ว ดังนั้นเราจึงมีข้อได้เปรียบในแนวทางแก้ไข ซึ่งมันกลายมาเป็นจุดแข็งของเรา’ แต่อย่าลืมว่า การที่เราคิดเช่นนี้ตลอดเวลาจะทำให้เรายึดติดกับแนวทางเดิมๆ จนไม่คิดจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในขณะเดียวกัน แนวทางเดิมๆ ก็ใช่ว่าจะได้ผลเสมอไป
ผู้นำหรือองค์กรที่ยึดติดกับจุดแข็งของตนเองมากเกินไปจะนำไปสู่การคิดและการตัดสินใจที่ยึดติดอยู่ในกรอบ ๆ หนึ่ง ผู้นำที่ดีต้องรู้จักหาทางมองในมุมใหม่ๆ มองหาความท้าทายที่แตกต่าง และทดลองทำสิ่งใหม่ๆ บ้าง
การสร้างความสมดุลระหว่างการใช้จุดแข็งและการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จะทำให้ผู้นำเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น ในขณะเดียวกันการให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเดิม ก็จะนำไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
ความสมดุลทั้ง 5 ข้อนี้ เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้นำไม่ควรมองข้าม แล้วคุณล่ะ มีความสมดุลทั้ง 5 อย่างนี้แล้วหรือยัง
คอลัมน์ เกร็ดธุรกิจ
อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
กรรมการผู้จัดการ
บริษัท ออคิด สลิงชอท จำกัด
apiwut@riverorchid.com
www.orchidslingshot.com