xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกอีทีเอฟ ตอนที่1 “กองทุนอีทีเอฟ อีกทางเลือกของการลงทุน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ Smart Money, Smart Life
สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สสาคม บลจ.)

กองทุนอีทีเอฟ หรือ Exchange Traded Fund (ETF) ถือเป็นนวัตกรรมเครื่องมือทางการเงินที่สร้างความน่าสนใจให้ตลาดการลงทุน เนื่องจาก อีทีเอฟมีคุณสมบัติเฉพาะตัวที่แตกต่างจากกองทุนประเภทอื่น

กองทุนอีทีเอฟถือเป็นกองทุนรวมประเภทกองทุนเปิดที่มีการซื้อขายสินทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสินทรัพย์ที่กองทุนสามารถลงทุนได้ประกอบด้วย หุ้น ตราสารหนี้ ตราสารอนุพันธ์ หรือ แม้กระทั่งทรัพย์สินที่ไม่ใช่ทางด้านการเงิน ที่เป็นทรัพย์สินจริง (Real Assets) โดยมีวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนที่เน้นการสร้างผลตอบแทนให้เท่ากับดัชนีอ้างอิง อาทิเช่น ถ้ากองทุนอีทีเอฟ ของประเทศไทยใช้ดัชนีราคาหุ้น SET 50 เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง กองทุนที่ลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET 50 ก็ควรได้รับผลตอบแทนที่ใกล้เคียงกับราคาหุ้น SET 50มากที่สุด

นอกจากนี้ กองทุนอีทีเอฟมีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรับ (Passive Investment) จึงถือเป็นวิวัฒนาการของกองทุนดัชนี (Index Fund) ก็ว่าได้ เมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนดัชนี ข้อแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ กองทุน ETF ต้องจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เท่านั้น การลงทุนในอีทีเอฟ สามารถทำช็อตเซลล์ (Short sell) ด้วยธุรกรรมการยืมและให้ยืมหลักทรัพย์ (Securities Borrowing and Lending: SBL) และนักลงทุนยังสามารถซื้อขายโดยใช้บัญชีมาร์จิ้น (Margin Account)ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลงทุนที่ทำให้การลงทุนผ่านกองทุนอีทีเอฟไม่แตกต่างจากการลงทุนในหุ้น

ความพิเศษของกองทุน ETF
1.คุณสมบัติที่คล้ายคลึงกับการลงทุนในหุ้นและกองทุนเปิด
กองทุน ETF เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่รวมเอาคุณสมบัติเด่นของหุ้นและกองทุนเปิดเข้าไว้ด้วยกัน โดยมีคุณสมบัติเหมือนหุ้นในแง่ที่ต้องซื้อขายผ่าน บริษัทหลักทรัพย์เหมือนหุ้นทั่วๆไป นักลงทุนสามารถซื้อขายและรู้ราคาได้ตลอดเวลา ส่วนด้านคุณสมบัติที่คล้ายกองทุนเปิด คือ สามารถเพิ่มหรือลดหน่วยลงทุนในอีทีเอฟได้ตามภาวะอุปสงค์อุปทาน และไม่กำหนดอายุโครงการของกองทุน

2.การลงทุนแบบนโยบายเชิงรับสามารถลดค่าธรรมเนียมการจัดการ
ตามหลักการของการลงทุนแบบนโยบายเชิงรับ กองทุนอีทีเอฟ ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่อาจเกิดขึ้นจาก เศรษฐกิจ หรือสภาพแวดล้อมโดยรวมมากนัก ซึ่งข้อดีของการมีนโยบายเชิงรับนั้น กองทุนสามารถลดค่าธรรมเนียมการจัดการได้ เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบนโยบายเชิงรุก (Active Investment) ซึ่งมีต้นทุนแฝงที่เกิดจากการซื้อขายสินค้า และค่าธรรมเนียมการจัดการที่สูงกว่า

ยกตัวอย่างเช่นที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าธรรมเนียมการจัดการโดยเฉลี่ยของกองทุนอีทีเอฟ นั้นน้อยมากอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับร้อยละ 1.55 และร้อยละ 1.89 ของกองทุนรวมในประเทศอเมริกาและกองทุนรวมที่ไปลงทุนในต่างประเทศ และมีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก ส่วนด้านค่าธรรมเนียมการจัดการของกองทุนดัชนี ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ประมาณร้อยละ 0.75 ถึง ร้อยละ0.95 แต่ก็ยังสูงกว่าค่าธรรมเนียมในกองทุนอีทีเอฟ

3.มีการใช้ราคาอ้างอิงและขั้นตอนการซื้อขายอีทีเอฟ เหมือนกับหุ้นทั่วไป
การแสดงค่าประมาณการมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ หรือ NAV ของกองทุนอีทีเอฟจะมีการคำนวณจากราคาล่าสุดที่อยู่ในพอร์ตเป็นรายนาที และราคาซื้อขายในตลาดของอีทีเอฟจะถูกกำหนดโดยความต้องการซื้อและความต้องการขาย จุดเด่นประการสำคัญของกองทุนอีทีเอฟคือ การที่ผู้ลงทุนสามารถระบุราคาซื้อขายหน่วยลงทุนได้ด้วยตนเอง โดยราคาที่ผู้ลงทุนจะได้รับคือราคาตลาด ณ เวลาที่ธุรกรรมของผู้ลงทุนเกิดขึ้น ทำให้การซื้อขายกองทุนอีทีเอฟเป็นเสมือนการซื้อขายหุ้นสามัญทั่วไปในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจากผู้ลงทุนสามารถจับจังหวะการซื้อขายได้ ซึ่งการซื้อขายหน่วยลงทุนสามารถกระทำได้ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เท่านั้น

4.ความโปร่งใสในการลงทุนของกองทุน ETF
วัตถุประสงค์หลักของการลงทุนในกองทุนอีทีเอฟคือการสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิงให้ได้มากที่สุด กองทุนอีทีเอฟเป็นกองทุนที่มีความโปร่งใสมากกว่าเมื่อเทียบกับกองทุนรวม เนื่องจากผู้จัดการกองทุนอีทีเอฟจะรายงานสถานะกองทุนเป็นรายวัน เกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่อยู่ในกองทุน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นและการไถ่ถอนหน่วยลงทุน และมีการทำรายงานส่งให้แก่นักลงทุนเป็นงวดๆ ซึ่งการรายงานอย่างสม่ำเสมอสามารถช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุน ว่าผู้จัดการกองทุนได้นำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในนโยบายการลงทุน นอกจากนี้ ลักษณะการบริหารแบบเชิงรับ ทำให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามประสิทธิภาพการดำเนินงานของกองทุนเทียบกับดัชนีได้สะดวกขึ้นด้วย

สรุปลักษณะโดยทั่วไปของกองทุน ETF


กำลังโหลดความคิดเห็น