xs
xsm
sm
md
lg

พันธบัตรออมทรัพย์ : ทางเลือกที่น่าสนใจ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์: จับชีพจรการลงทุน
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล
CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสซีบี ควอนท์ จำกัด
arunsak@scbq.co.th


รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 13 กรกฎาคม 2552 เป็นวันแรกของการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์อายุ 5 ปี จำนวน 50,000 ล้านบาท ซึ่งมีเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนดังต่อไปนี้
การจ่ายดอกเบี้ย
- ปีที่ 1-2 จ่าย 3.00 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
- ปีที่ 3 จ่าย 4.00 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
- ปีที่ 4-5 จ่าย 5.00 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

พันธบัตรดังกล่าวน่าจะได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดีในภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ที่แม้จะมีการคาดการณ์ว่าน่าจะผ่านจุดเลวร้ายที่สุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวที่หลายๆคนคาดหวังไว้สูงอาจจะยังน่าสงสัยอยู่ว่าจะจริงหรือไม่ ซึ่งจริงๆแล้วเอาเป็นว่าแค่ไม่เลวร้ายลงไปจาก ณ ปัจจุบันก็น่าที่จะเป็นสิ่งที่น่าพอใจแล้ว ใช่ไหมครับ วันนี้ผมอยากจะเสนอมุมมองของการลงทุนในแง่การให้ข้อมูลเชิงวิเคราะห์สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์ที่กำลังจะออกขายว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่เราควรคำนึงถึงในการลงทุน

อัตราผลตอบแทนการลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐบอกอะไรเราบ้าง
ดอกเบี้ยจ่ายที่ถูกกำหนดตลอด 5 ปีข้างหน้า = [การคาดการณ์ดอกเบี้ยตลอด 5 ปีข้างหน้า] + [การคาดการณ์เงินเฟ้อตลอด 5 ปีข้างหน้า]

ดอกเบี้ยจ่ายที่ถูกกำหนดในพันธบัตรออมทรัพย์หรือพันธบัตรรัฐบาลโดยทั่วไปบ่งบอกถึงปัจจัยหลัก 2 อย่างได้แก่
1.การคาดการณ์นโยบายทางการเงินของธนาคารกลาง
หรืออีกนัยหนึ่งคือการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต (5 ปีข้างหน้า) จะมีแนวโน้มและขนาดของการขึ้นลงเป็นอย่างไรนั่นเอง หากพิจารณาจากผลตอบแทนที่พันธบัตรออมทรัพย์จ่ายให้กับนักลงทุนที่มีการเพิ่มอีก 1 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ 3 และอีก 2 เปอร์เซ็นต์ในปีที่ 4-5 ก็อาจจะแปลได้ว่าผู้ออกตราสารหนี้ดังกล่าวคาดการณ์ว่าดอกเบี้ยโดยทั่วไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งดอกเบี้ยนโยบาย) จะเริ่มขยับสูงขึ้นในปีที่ 3 อีก 1 เปอร์เซ็นต์ และขยับสูงขึ้นอีก 2 เปอร์เซ็นต์เมื่อเปรียบเทียบกับปัจจุบันในปีที่ 4-5 ซึ่งนักลงทุนต้องประเมินว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด หากผู้ลงทุนมีมุมมองที่แย่มากๆกับภาวะเศรษฐกิจและคิดว่าธนาคารกลางน่าจะคงดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ไปอีกมากกว่า 2 ปี และการขึ้นของดอกเบี้ยก็ไม่น่าจะรวดเร็วดังที่บอกเป็นนัยดังกล่าวในดอกเบี้ยที่กำหนด การลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวก็น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากทางหนึ่ง
2.การคาดการณ์เรื่องอัตราเงินเฟ้อ
ความเสี่ยงเรื่องอัตราเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงหลักของการลงทุนในตราสารหนี้ เนื่องจากการลงทุนในตราสารหนี้จะให้ผลตอบแทนที่คงที่ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไรซึ่งเงินเฟ้อที่สูงจะบั่นทอนกำลังการซื้อของผู้ลงทุนให้ลดน้อยลงถึงแม้ว่าจะได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนบาทเท่าเดิมก็ตาม ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดที่ออกมาต่ำและติดลบอาจจะทำให้พันธบัตรรัฐบาลมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้นมาก แต่สิ่งที่นักลงทุนควรพิจารณาน่าจะเป็นแนวโน้มในอนาคตมากกว่าว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า (ซึ่งให้ดอกเบี้ยคงที่) แนวโน้มของเงินเฟ้อจะเป็นเช่นไร หากคิดว่าเศรษฐกิจอีก 2 ปีข้างหน้าไม่น่าจะฟื้นตัวกลับมารวดเร็ว หรือราคาน้ำมันไม่น่าจะสูงมากกว่าปัจจุบันจนทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นแล้ว พันธบัตรดังกล่าวก็น่าจะทำให้ผู้ลงทุนเกิดความสบายใจว่าผลตอบแทนที่ได้จะทำให้สามารถซื้อข้าวของได้ไม่น้อยกว่าเดิม และเงินต้นก็ไม่ด้อยค่าลงเนื่องจากเงินเฟ้อ

ความเสี่ยงของการลงทุน
ในกรณีของพันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าว มีความเสี่ยง 2 ประเภทที่อยากกล่าวถึง ได้แก่
1.Reinvestment Risk
Reinvestment Risk ได้แก่ความเสี่ยงที่กระแสเงินสดที่ได้รับกลับมาของผู้ลงทุนจากดอกเบี้ยรับในทุกๆปีและเงินต้น ณ ตอนครบกำหนดไถ่ถอนอาจจะได้รับผลตอบการลงทุนที่น้อยลงกว่าเดิม ณ เวลาที่ได้รับกระแสเงินสดดังกล่าว ตัวอย่างเช่น หากในอนาคตธนาคารกลางจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงอีกและคงดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เพราะเศรษฐกิจแย่มากกว่าที่คาดไว้มาก เมื่อเราได้รับการจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นจากพันธบัตรรัฐบาลดังกล่าว ทางเลือกการลงทุนอาจจะมีแต่ตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนต่ำมากกว่าปัจจุบันก็ได้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไร เมื่อดูจากระดับอัตราดอกเบี้ย ณ ปัจจุบัน

2.Liquidity Risk
หรืออีกนัยหนึ่งคือความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องนั่นเอง ซึ่งอาจจะแบ่งได้เป็น 2 อย่างคือ
- ผู้ลงทุนอาจจะจำเป็นต้องถือพันธบัตรดังกล่าวไปจนครบกำหนดไถ่ถอนเนื่องจากไม่มีตลาดรองที่จะมารองรับการซื้อขายตราสารหนี้ดังกล่าวนั่นเอง ดังนั้นหากผู้ลงทุนมีความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน การขายพันธบัตรดังกล่าวอาจจะค่อนข้างยุ่งยาก
- หากมีตลาดรองในการซื้อขายซึ่งน่าจะได้แก่ธนาคารพาณิชย์ ราคาซื้อขายอาจจะมีความต่างกันมาก จนทำให้เกิดค่าใช้จ่ายดังกล่าวกับผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะดอกเบี้ยต่ำ ณ ปัจจุบันนี้ อาจทำให้ผู้ที่ต้องการจะขายเกิดภาวะขาดทุนได้ (ราคาขายคืน < เงินต้น + ดอกเบี้ยที่ได้รับ)

ความน่าสนใจในการลงทุน
หากพิจารณาในมุมมองระยะสั้นแล้ว พันธบัตรออมทรัพย์อายุ 5 ปีดังกล่าวนับว่ามีความน่าสนใจอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ ปัจจุบันที่อัตราผลตอบแทนการลงทุนในตราสารหนี้ไม่น่าจะมีแนวโน้มขาขึ้นอย่างรวดเร็ว (ผู้ลงทุนล็อคดอกเบี้ยสูงๆได้ถึง 5 ปี) และการลงทุนในทางเลือกอื่นยังมีความเสี่ยง เช่น ความผันผวนของราคาหุ้นและทองคำ นอกจากนี้ พันธบัตรออมทรัพย์ดังกล่าวยังให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลที่อายุใกล้เคียงกันในตลาดตราสารหนี้ (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีที่ 2.92 เปอร์เซ็นต์ต่อปีใน www.thaibma.or.th วันที่ 8 กรกฎาคม 2552)

หลังจากที่ทั่วโลกประสบปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปีแล้ว ความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกซึ่งรวมถึงไทยด้วยในการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจทำให้ในระยะหนึ่งปีข้างหน้าการลงทุนดังกล่าวอาจจะมีความเสี่ยงในแง่ของการสูญเสียโอกาสในการลงทุนได้ หากเศรษฐกิจมีการฟื้นตัวได้จริง การเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเช่นตราสารหนี้ไปสู่ตราสารทุนจะทำให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งบางครั้งผู้ลงทุนตราสารหนี้อาจขาดทุนได้หากต้องการขายออกมา

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธรรมชาติของผู้ลงทุนไทยโดยส่วนใหญ่จะถือตราสารหนี้จนครบกำหนดไถ่ถอนอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงก็ไม่น่าที่จะเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากนัก เพราะความเสี่ยงอยู่ที่เพียงแค่การขาดทุนกำไรเท่านั้น การถือครองจนครบกำหนดจะไม่ทำให้ผู้ลงทุนเกิดความเสี่ยงการขาดทุนเลย เนื่องจากเมื่อถือจนครบรัฐบาลจำเป็นต้องคืนเงินต้นให้กับผู้ลงทุนทุกบาททุกสตางค์อยู่ดี สิ่งที่ผู้ลงทุนควรทำน่าจะได้แก่ การสำรองสภาพคล่องไว้บ้างในช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้าที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดได้ซึ่งจะทำให้เราพลาดโอกาสในการลงทุนที่น่าสนใจมากกว่าปัจจุบันได้หากเราทุ่มเงินสดส่วนใหญ่ของเราในทางเลือกการลงทุนปัจจุบันมากเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น