ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากองทุนที่มาแรงในช่วงต้นปีจนถึงกลางปี 2552 คงเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเกาหลีใต้นั่นเอง ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเงินที่ยังคงอึมครึม และดูเหมือนว่าเม็ดเงินที่หลายประเทศอัดฉีดเข้าไปในระบบ ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าสามารถเยียวยาปัญหาได้มากนัก แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
ส่วนแนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังจะเป็นอย่างไร ทีมงาน “ASTVผู้จัดการกองทุนรวม” จะขอพาไปเปิดมุมมองของผู้บริหารกองทุนรวม ว่าควรลงทุน และจัดพอร์ตการลงทุนอย่างไร รวมถึงวิเคราะห์กองทุนที่คาดว่าจะมาแรง และเหตุผลสนับสนุน รวมไปถึงปัจจัยที่จะกระทบต่อการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังด้วย...
จับจังหวะมากเกินไป ต้นเหตุความผิดพลาด
สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการสมาคมนักวิเคราะห์ และกรรมการสมาคมนักวางแผนการเงินไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือพบว่า นักลงทุนจำนวนมาก ไม่ค่อยกล้าลงทุนในกองทุนรวมหุ้นเมื่อปลายปี 2551 และต้นปี 2552 ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนของนักลงทุนขาดหายไปอย่างน่าเสียดาย โดยในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหุ้นสามารถให้ผลตอบแทนประมาณ 35% ซึ่งเมื่อคิดรวมกับเงินปันผล
ทั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า พอร์ตการลงทุนที่พยายามจับจังหวะมากเกินไป เลยเกิดความผิดพลาดที่ไม่ได้ลงทุนในจุดต่ำถึงขีดสุด และลงทุนมากเกินไปในช่วงที่หุ้นบูม หลักการสำคัญ ที่นักลงทุนต้องสนใจ คือการจัดทัพที่มีความสมดุล โดยเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนกับความเสี่ยง โดยการแบ่งเงินตามหน้าที่
“เงินส่วนไหนที่ต้องการใช้ในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้า ก็ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ ส่วนที่เงินต้องการใช้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ก็ควรลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (มันนี่ มาร์เก็ต ฟันด์) ส่วนเงินระยะกลาง-ยาวและต้องการเก็บไว้ใช้จ่ายให้ลงทุนในกองทุนตราสารทุน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์) ได้บ้าง เนื่องจากจะได้กระแสเงินสด และเงินปันผลที่เสถียรพอสมควร ส่วนการลงทุนในระยะยาว-ยามเกษียณอายุไปอีก 10 ปีการเข้าไปลงทุนในหุ้นทุนน่าจะเป็นทางเลือกที่สามารถเลือกได้”
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ตลาดทุนมีความผันผวนมาก หุ้นจะมีการปรับตัวลงอย่างหนักและต่อเนื่อง ขณะที่ในเวลาที่หุ้นขึ้นจะปรับขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง หากมีการลงทุนแบบสุดโต่งก็จะขาดทุนมาก และทำให้การตัดสินใจไม่ดี เกิดการผิดพลาดให้เห็นเป็นระยะ และยิ่งผิดพลาดมากเป็นพิเศษในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเรื่องจับจังหวะลงทุน
ดังนั้น การจัดทัพตามหน้าที่ในการลงทุนในหุ้น จะสามารถแบกรับการความผันผวนได้ดี แต่จะต้องเป็นเม็ดเงินเย็นด้วย ซึ่งทำให้เมื่อหุ้นปรับตัวลดลงไปก็ไม่ต้องขายหุ้นถูก และเมื่อหุ้นขึ้นไม่ต้องซื้อในราคาที่แพงเกินไป ส่วนนักลงทุนที่มีความพอเพียง สันโดษรับผลตอบแทนน้อยหน่อยก็ลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน
ในมุมมองการลงทุนอย่างกว้าง นักลงทุนควรลงทุนให้สอดคล้องกับบุคลิกของตนเอง แผนการเงิน โดยคิดว่าตลาดหุ้นมีความเสี่ยงพอสมควร แต่เมื่อเปรียบเทียบแล้วในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสปรับขึ้นค่อนข้างมาก
ส่วนกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้หากยังให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าตราสารหนี้ไทย และต่างประเทศ โดยกองทุนดังกล่าวมีต้นทุนของการสวอปค่าเงินกลับมา นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับหุ้นกู้เอกชนที่จะออกมา และสภาพตลาดด้วย หากพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ยังมีต้นทุนของป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนน้อย ก็จะทำให้ต้นทุนเหมาะสม และยังสามารถตอบโจทย์ตลาดได้ แต่พันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง น่าจะเป็นทางเลือกที่สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนมาบางส่วนเช่นกัน
วิกฤตผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
วนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด กล่าวว่า กองทุนรวมหุ้นน่าจะดีในช่วงไตรมาส 4 โดยในปัจจุบันตลาดหุ้นซึมๆ หลังจากตัวเลขการว่างงานออกมาแย่ โดยมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นไป กองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ และกองทุนแบบตั้งเป้าหมาย (ทาร์เก็ต ฟันด์) โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของเศรษฐกิจอย่างน้ำมัน เป็นต้น
ส่วนกองทุนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้ น่าจะยังสามารถขายได้เรื่อยๆ หากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลงไป อัตราดอกเบี้ยอาจจะมีการปรับตัวลดลง
สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการปรับตัวของหุ้นในช่วงครึ่งปีหลังคือ ข้อมูลตัวเลขชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ได้ผ่านวิกฤติการณ์รอบนี้ไปแล้วอย่างชัดเจน ซึ่งในปัจจุบัน สัญญาณดังกล่าวยังผสมกันอยู่ โดยเมื่อข้อมูลแย่ออกมาก็จะทำให้หุ้นปรับตัวลดลง ขณะที่ข้อมูลที่ดีออกมาก็จะทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปได้เช่นกัน
ทั้งนี้ หากข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจออกมาทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการว่างงานลดลง การสร้างบ้านที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2 – 3 เดือน จะทำให้หุ้นปรับขึ้นไปได้ และจะมีการปรับตัวขึ้นไปมาก เนื่องจากนักลงทุนจะคิดว่าวิกฤติการณ์รอบนี้ได้ผ่านไปแล้ว และนักลงทุนจะหันไปมองว่าระดับดัชนีหุ้นจุดเดิมที่นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์สินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (ซับไพรม์) ที่ผ่านมาอยู่ในระดับใด ดังนั้น ดัชนียังสามารถปรับขึ้นไปได้อีกค่อนข้างมาก
ขณะเดียวกัน หากวิกฤติการณ์ในรอบนี้ได้ผ่านจุดต่ำสุดหุ้นน่าจะปรับตัวขึ้นมาได้ แต่ยังขึ้นอยู่กับข้อมูลตัวเลขทางเศรษฐกิจสนับสนุนที่มีทิศทางเดียวกัน และสม่ำเสมอแค่ไหน หากข้อมูลทั้งหมดออกมาดีก็จะทำให้หุ้นปรับขึ้นไปเร็ว แต่หากข้อมูลออกมาดีเพียง 70% และแย่ 30% หุ้นก็จะปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี นักลงทุนจะต้องจับตามองตัวเลขการจ้างงาน การว่างงาน ราคาบ้าน และจำนวนบ้านที่สร้างใหม่ เนื่องจากเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติการณ์ในรอบนี้ หากราคาอสังหาริมทรัพย์สหรัฐถึงจุดต่ำสุด การว่างงานต่ำสุด พอคนมีงานก็จะทำให้เกิดการจับจ่าย และพอเกิดการจับจ่ายใช้สอยก็จะส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจฟื้นขึ้นมาได้ แต่ยังต้องดูดัชนีภาคการผลิตด้วย
ส่วนอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่ปีนี้จนถึงต้นปีหน้า จะนิ่ง และไม่ลงไม่ขึ้นอีกแล้ว เนื่องจากไม่มีผลประโยชน์อะไรที่จะทำเช่นนั้น โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นกัน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอ ขณะที่ประเทศไทยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับนี้ และจะต้องรอดูสถานการณ์ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) อัตราเงินเฟ้อด้วย แต่มีโอกาสปรับลดลงไม่เกิน 0.25%
ทั้งนี้ นักลงทุนควรติดตามข้อมูล แต่มองว่าโดยรวมจุดต่ำสุดของวิกฤติการณ์ได้ผ่านไปแล้ว จากข้อมูลต่างๆ ที่มีการเปิดเผยออกมา โดยในไตรมาส 3 หุ้นจะปรับตัวลงไปเพื่อเป็นการสร้างฐาน เนื่องจากในไตรมาส 2 ได้ปรับขึ้นมามากแล้ว ซึ่งกลยุทธ์แล้ว นักลงทุนสามารถเล่นหุ้นได้ และควรทยอยสะสมหุ้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ)ที่เน้นลงทุนในหุ้น โดยเชื่อว่าหุ้นจะปรับตัวลงในช่วงไตรมาส 3 – ไตรมาส 4 จากนั้นหุ้นน่าจะปรับตัวขึ้นไปได้ โดยนักลงทุนควรถือครองไว้ 2 – 3 ปี และน่าจะสามารถทำกำไรได้ค่อนข้างดี
ขณะเดียวกัน หากนักลงทุนไม่ได้มีการลงทุนในช่วงนี้ หากผ่านไป 3 ปีแล้วมองย้อนกลับมาจะรู้สึกเสียดาย เนื่องจากวิกฤติการณ์ไม่ได้มาทุกปี ถือเป็นโอกาสดีในการเข้าลงทุน โดยในช่วงที่ผ่านมา นับตั้งแต่วิกฤติการณ์น้ำมัน เหตุการณ์ 911 (ไนน์วันวัน) ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วในระยะสิบปีจะมีวิกฤติการณ์สักครั้ง โดยมองว่าตลาดหุ้นในระยะสั้นอาจมีความผันผวนสูงแต่เชื่อว่าจะปรับไปในทิศทางดีขึ้นในช่วง 2 – 3 ปี ทั้งนี้ นักลงทุนควรลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีด้วย
“หุ้น-คอมมอดิตี” ดาวเด่นครึ่งปีหลัง
ธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการผู้จัดการ บลจ.นครหลวงไทย กล่าวว่า หากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวตามที่สหรัฐมีการคาดการณ์เอาไว้ กองทุนที่น่าสนใจลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ได้แก่ หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี) โดยสหรัฐบอกว่าหากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว ตลาดหุ้นจะสามารถปรับขึ้นไปได้อีกระดับหนึ่ง และพอถึงระดับหนึ่งก็จะทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อขึ้นและราคาสินค้าโภคภัณ์อย่างเช่น น้ำมัน ก็จะกลับมาดีอีกครั้ง
ขณะที่กองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ผลตอบแทนมีโอกาสปรับตัวลดลง หากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว และความเสี่ยงเริ่มหายไป อัตราผลตอบแทนจะกลับมาสู่ภาวะปกติ แต่กองทุนนี้น่าจะยังพอไปได้ หากยังสามารถให้อัตราผลตอบแทนที่ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ
ทั้งนี้ หากภาวะเศรษฐกิจกลับมาดี ก็จะทำให้เกิดการการผลิตสินค้า และจะเกิดอุปสงค์ (ดีมานด์) จากสินค้าโภคภัณฑ์อาทิ ข้าว ข้าวโพด เหล็ก สังกะสี และน้ำมัน เป็นจำนวนมากนั่นเอง
ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตาได้แก่ ราคาน้ำมัน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา หากมีข่าวดีออกมาราคาน้ำมันจะปรับขึ้นไปอย่างรวดเร็ว แต่หากมีข่าวร้ายมากระทบก็ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับลดลงไปเช่นกัน และจากนั้นจะเกิดอัตราเงินเฟ้อตามมาทันที ทั้งนี้ หากราคาน้ำมันปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จะมีอุปสงค์จากสินค้าโภคภัณฑ์ขึ้นมามากด้วย
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรเข้าไปเก็บหุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ได้แล้ว โดยเข้าไปลงทุนในหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน และธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากในประเทศไทยหุ้นทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนประมาณ 70% ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ขณะที่นักลงทุนควรเข้าไปลงทุนในหุ้นประมาณ 15 – 20% ของพอร์ตลงทุน สินค้าโภคภัณฑ์ 15 – 20% ส่วนที่เหลือควรลงทุนในตราสารหนี้