xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯบลจ.ชี้ช่องแก้ปมกบข. ชงสมาชิกเลือกสไตล์ลงทุนได้เอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกสมาคมบลจ. วิเคราะห์ปม กบข. ชี้เหตุสมาชิก ตั้งความหวังสูง กำหนดผลตอบแทนตายตัว ต้องสูงกว่าเงินฝาก และไม่ขาดทุนเท่านั้น ออกโรงทำความเข้าใจ ลงทุนเพื่อเกษียณ ต้องชนะเงินเฟ้อ “ฝากเงิน-ซื้อพันธบัตร” อย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ ชง “Employee’s Choice” เลือกลงทุนได้เอง ยกพนักงาน “BBLAM” เก็บเงินซื้อหุ้นเอง
นางวรวรรณ ธาราภูมิ
นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) และกรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยถึงกรณีเงินลงทุนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตอยู่ในขณะนี้ว่า ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าสมาชิกของกองทุน ต่างต้องการแค่ผลตอบแทนที่ดีหรือผลตอบแทนนั้นต้องได้มากกว่าการนำเงินไปฝากธนาคารเท่านั้น โดยการบริหารกองทุนต้องไม่ขาดทุนหรือห้ามลงทุนในหุ้นด้วย ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นต่างเป็นข้อถกเถียงกันจนเป็นเวลายาวนานแล้วและยังไม่มีหนทางที่จะทำให้เกิดความลงตัวได้

ทั้งนี้ ในส่วนของผู้จัดการกองทุนหรือผู้ที่คุ้นกับการลงทุน ได้ให้ความคิดเห็นเหมือน ๆ กันว่า การลงทุนเพื่อการเกษียณที่ถูกต้องคือต้องชนะเงินเฟ้อ และบ่อยครั้งที่การฝากเงินหรือลงทุนเฉพาะตราสารหนี้หรือพันธบัตร จะทำให้เงินที่ลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหมายถึงในช่วงของอนาคตตอนเกษียณไปแล้ว ซึ่งค่าของเงินลงทุนที่ได้รับคืนทั้งหมดนั้นมันหดหายไปจากราคาของที่แพงขึ้นนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ทางสมาชิกของกองทุนเองต่างไม่ได้ให้ความสนใจในจุดนี้ ต้องการเพียงแค่ให้เงินต้นของตนนั้นอยู่ครบตามกำหนดและสามารถได้รับผลตอบแทนที่ไม่ต่ำไปกว่าเงินฝาก

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุดนั้นคือ ผู้จัดการกองทุนเองต้องมีหน้าที่คอยอธิบายเรื่องเงินเฟ้อและผลกระทบในอนาคตให้สมาชิกเข้าใจให้มากที่สุด ให้เห็นข้อดีและข้อเสีย แต่ต้องให้สมาชิกเป็นคนเลือกเองโดยไม่มีการบังคับ โดยให้นักลงทุนเลือกเข้าไปลงทุนในรูปแบบของ Employee’s Choice เช่น มีกองทุนย่อย ๆ แบ่งเป็น 4 นโยบายหรือ 4 กองทุน ซึ่งในรูปแบบการลงทุนตรงนี้จะเป็นเพียงแนวคิดคร่าว ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างเท่านั้น

โดยกองทุนที่หนึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น ไม่ลงทุนในหุ้นเลย ผลตอบแทนคาดหวังเอาแค่เพียงพอกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากหรือตั๋วเงินคลังระยะสั้น กองทุนนี้จะเหมาะสำหรับรองรับนักลงทุนที่เหลือเพียงไม่เกิน 1 - 2 ปีจะเกษียณ เพราะนักลงทุนจะรับความเสี่ยงไม่ได้แล้ว นอกจากนี้ การลงทุนในประเภทนี้ยังเหมาะสำหรับนักลงทุนทั่วๆ ไปทุกอายุ ที่เชื่อว่าลงทุนแค่นี้ก็พอเพียงแล้ว โดยไม่สนใจเรื่องเงินเฟ้อกับผลตอบแทนคาดหวังสูง ๆ เพราะกลัวเรื่องของความเสี่ยง

ส่วนกองทุนที่สอง เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งจะไม่ลงทุนในหุ้นเช่นกัน แต่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ทั้งในและนอกประเทศได้ โดยกองทุนประเภทนี้น่าจะคาดหวังผลตอบแทนที่ดีกว่ากองแรก

ขณะที่กองทุนที่สามเป็นกองทุนหุ้นที่มีความเสี่ยงสูง และคาดหวังผลตอบแทนสูงในระยะยาว และยังสามารถเข้าไปลงทุนในหุ้นต่างประเทศได้ไม่เกิน 15% แต่ในบางครั้ง การลงทุนในหุ้นก็อาจจะทำให้นักลงทุนขาดทุนได้ในบางขณะ

สุดท้ายกองทุนที่สี่เป็นกองทุนทางเลือกอื่นๆ เช่นทองคำ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น กองทุนนี้ไม่แนะนำให้ใครลงทุนด้วยสัดส่วนมาก ๆ รวมๆ แล้วไม่ควรเกิน 15% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพราะมีความเสี่ยงสูง

นางวรวรรณ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกแนวทางหนึ่งก็คือ มีกองทุนแบบที่หนึ่งไว้ แต่มีอีกกองทุนที่ลงทุนได้ในทุกประเภทข้างต้นผสมผสานกัน แต่มีการกำหนดสัดส่วนไว้แน่นอนว่าจะลงทุนในประเภทไหนได้กี่เปอร์เซ็นต์ คล้ายๆ กับที่มีในปัจจุบัน แต่เพิ่มกองทุนที่หนึ่งข้างต้นไว้ด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของพนักงานของ บลจ.บัวหลวง ซึ่งเป็นการหักเงินเดือนเราทุก ๆ เดือน และนายจ้างก็คือ บลจ.บัวหลวง สมทบเงินให้นั้น พนักงานและผู้บริหารเราเลือกนโยบายร่วมกันนโยบายเดียวคือ ลงทุนในตราสารหนี้ล้วนๆ และต้องเป็นตราสารหนี้ภาครัฐกับเงินฝากเท่านั้น ไม่ลงทุนหุ้นเลย ทั้งๆ ที่เรามีอาชีพจัดการกองทุน ก็เพราะเราถือว่าในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น เราขอความมั่นคงก่อน ส่วนผลตอบแทนและเงินเฟ้อไม่ใช่ประเด็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ทั้งพนักงานและผู้บริหารแต่ละคนที่ต้องการลงทุนในหุ้น จะเก็บเงินออมจากเงินเดือนกันเองเพื่อเอาไปซื้อกองทุนหุ้น ในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) กองทุนต่างประเทศ รวมถึงกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ตามความชอบของแต่ละคน เพื่อรับผลตอบแทนสูงๆ โดยรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้ในระยะสั้น เพราะเราเชื่อว่าลำพังเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คงจะไม่พอใช้ในวัยเกษียณ
กำลังโหลดความคิดเห็น