ASTVผู้จัดการรายวัน – บลจ. บัวหลวงอวดเอยูเอ็มไตรมาสแรก โตสวนกระแสวิกฤตเศรษฐกิจ 3.2% ดันสินทรัพย์โตแตะ 146,288 ล้านบาท เผย ได้อานิสงส์นักลงทุน แห่ขนเงินลงทุน “บัวหลวงธนทวี” หนีดอกเบี้ยเงินฝากขาลง ระบุไตรมาส 2 ตั้งป้อมออกบอนด์ต่างประเทศ หวังเป็นทางเลือกให้นักลงทุนต่อ
นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกโดยรวมว่า ขนาดมูลค่ากองทุนภายใต้การบริหาร มีการเติบโตประมาณ 3.2% จาก 141,722 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2551 เป็น 146,288 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 โดยที่กองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่มีสภาพคล่องสูงและสามารถซื้อขายได้ทุกวันทำการ ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนมากที่สุด เนื่องจากสามารถให้ผลตอบแทนที่น่าจูงใจกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้แบบมีกำหนดระยะเวลาที่ลงทุนพันธบัตรระยะสั้นในประเทศที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การที่กองทุนสามารถไถ่ถอนได้ทุกวันทำการซึ่งใกล้เคียงกับเงินฝากออมทรัพย์ นักลงทุนจึงย้ายเงินมาลงทุนในกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี ทำให้ขนาดกองทุนเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 ล้านบาทนับจากสิ้นปี 51 จนมีขนาดกองทุน ณ สิ้นมีนาคม 52 เท่ากับ 62,284 ล้านบาท
สำหรับกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี ณ วันที่ 27 มีนาคม 2552 กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 1.74% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.43% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.39% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 1.99% และย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.53% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 2.30%
นางวรวรรณ กล่าวว่า อุปสรรคในการทำงานไตรมาสแรก เกิดจากอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภายในประเทศ อยู่ในระดับต่ำ ทำให้กองทุนตราสารหนี้ที่ออกใหม่แบบมีกำหนดระยะเวลาที่ลงทุนในประเทศมีผลตอบแทนที่ต่ำลงมามาก นักลงทุนจึงให้ความสนใจลงทุนน้อยลง อีกทั้งภาวะการลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศในช่วงไตรมาสแรกก็ยังผันผวน และมีความเสี่ยงมาก ดังนั้น บลจ.บัวหลวง จึงได้แนะนำให้ลูกค้าไปพักเงินในกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าแทน และยังถอนออกได้ทุกวันทำการ
สำหรับในช่วงไตรมาส 2 นี้ บลจ. บัวหลวง ได้เริ่มออกกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล หรือตราสารหนี้ต่างประเทศ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าและผู้ลงทุนเพิ่มเติม โดยยังมุ่งเน้นและให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงของผู้ออกตราสารและความปลอดภัยของเงินลงทุนของลูกค้าเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการลงทุนด้วยว่า ไม่มีอะไรที่ไร้ความเสี่ยง ทั้งนี้การลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตร เงินฝาก ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกัน ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเสี่ยงต่ำที่สุด เช่นพันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก ไปจนถึงเสี่ยงสูงที่สุด เช่น ตราสารหนี้บริษัทเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำกว่า Investment Grade เป็นต้น ซึ่งหลักการพิจารณาลงทุนก็คือหากเสี่ยงสูงขึ้น ผลตอบแทนคาดหวังต้องจูงใจพอที่จะทำให้เรากล้าที่จะลงทุน หากผู้ลงทุนกลัวความเสี่ยงสูงก็ต้องยอมรับในผลตอบแทนคาดหวังที่จะต่ำลงมาเพราะเป็นการลงทุนในความเสี่ยงต่ำ
“หน้าที่ของ บลจ. ก็คือ พยายามแสวงหาสิ่งที่จะลงทุนได้ในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับผลตอบแทนคาดหวัง ในขณะที่ผู้ลงทุนก็มีหน้าที่ตัดสินใจเองว่าเขาจะรับได้แค่ไหน ไม่มีใครหรือ บลจ.ไหน สามารถให้การรับประกันผลตอบแทนใดใดได้ทั้งสิ้น เพราะสมมติว่ากองทุนมีผู้รับประกัน ความเสี่ยงก็ยังอยู่ที่ผู้รับประกันอยู่ดีว่าหากเกิดอะไรขึ้นมาที่ไม่คาดคิด เขาจะรับสิ่งที่รับประกันนั้นไหวไหม สำหรับพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้นั้น แม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้ผู้ลงทุนพิจารณาตัดสินใจเองว่าในความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั้น ผลตอบแทนที่เขาคาดว่าจะได้รับจะสูงพอที่จะยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นหรือไม่” นางวรวรรณ กล่าว
นางวรวรรณ กล่าวว่า นี่คือโลกของการลงทุนที่เราทุกคน ทั้ง บลจ. ผู้ลงทุน และผู้ขายกองทุนต้องเข้าใจและไม่นำเสนอวิธีการขายที่ผิดๆ ซึ่งไปเน้นที่ผลตอบแทนคาดการณ์อย่างเดียวแต่ไม่ให้ผู้ลงทุนและผู้ขายยอมรับถึงความเสี่ยงกับผลตอบแทนว่ามันคู่กัน มิฉะนั้นจะทำให้ความเข้าใจในการลงทุนขาดการพัฒนา