ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ. บัวหลวง กางแผนงานไตรมาส 2 รุกออกกองทุนตราสารหนี้ต่อเนื่อง เน้นกลุ่ม "บัวหลวงธนรัฐ- ธนสาร- ธนสารพลัส และ ธนสิน" ชูทางเลือกลงทุนช่วงดอกเบี้ยต่ำ ส่วน"อาร์เอ็มเอฟ - แอลทีเอฟ" เดินหน้าให้ความรู้ลูกค้า วางแผนทางการเงิน บริหารภาษี และลงทุนอย่างต่อเนื่องทุกเดือน
นางวรวรรณ ธาราภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในไตรมาส 2 ว่า บริษัทยังคงมุ่งเน้นที่จะขยายกองทุนตราสารหนี้ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำเป็นหลัก เพราะเห็นว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังรับความเสี่ยงได้ไม่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่เศรษฐกิจน่ากังวลอยู่ นอกจากนี้ บลจ.บัวหลวง จะทำการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้ลูกค้าและผู้ลงทุนทั้งที่เป็นบุคคล และนิติบุคคล พิจารณาใช้กองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี เป็นเครื่องมือในการบริหารเงินในลักษณะ Cash management เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในออมทรัพย์
นอกจากนี้ ทุก ๆ เดือน บลจ. บัวหลวง จะเลือกออกกองทุนใหม่ในกลุ่มบัวหลวงธนรัฐ ธนสาร ธนสารพลัส และ ธนสิน ซึ่งเป็นกองทุนตราสารหนี้แบบมีกำหนดระยะเวลา โดยแต่ละกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เอกชน ทั้งในประเทศ หรือต่างประเทศ แตกต่างไปตามความเสี่ยง และผลตอบแทน เช่น กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐก็จะลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศ ส่วนกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส ก็จะลงทุนในตราสารหนี้สถาบันการเงินในต่างประเทศ เป็นต้น ระยะเวลาครบกำหนดก็แตกต่างกันไป เช่น 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน เพื่อให้นักลงทุนได้เลือกลงทุนให้เหมาะสมกับผลตอบแทน กับระยะเวลาที่ต้องการ
"ผู้ลงทุนต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติในการลงทุนด้วยว่า ไม่มีอะไรที่ไร้ความเสี่ยง ซึ่งการลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตร เงินฝาก ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเสี่ยงต่ำที่สุด เช่น พันธบัตรรัฐบาล เงินฝาก ไปจนถึงเสี่ยงสูงที่สุด เช่น ตราสารหนี้บริษัทเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ต่ำกว่า Investment Grade เป็นต้น ซึ่งหลักการพิจารณาลงทุนก็คือหากเสี่ยงสูงขึ้น ผลตอบแทนคาดหวังต้องจูงใจพอที่จะทำให้เรากล้าที่จะลงทุน หากผู้ลงทุนกลัวความเสี่ยงสูงก็ต้องยอมรับในผลตอบแทนคาดหวังที่จะต่ำลงมาเพราะเป็นการลงทุนในความเสี่ยงต่ำ" นางวรวรรณ กล่าว
สำหรับกองทุนเปิดบัวหลวงธนทวี ณ วันที่ 23 เมษายน 2552 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือเอ็นเอวีอยู่ที่ 74,115.51 ล้านบาท ส่วนมูลค่าหน่วยลงทุนอยู่ที่ 11.35 บาทต่อหน่วย ขณะที่ผลตอบแทน ณ วันที่ 27 มีนาคม 2552 กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 1.74% เมื่อเทียบกับเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ -6.34% ย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.39% เมื่อเทียบกับเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 9.21% ย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.53% เมื่อเทียบกับเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 6.24% และผลตอบแทนตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 3.31% เมื่อเทียบกับเงินฝากประจำ 1 ปีอยู่ที่ 4.80%
นางวรวรรณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ในไตรมาส 2 นี้บริษัทจะเน้นการเผยแพร่ให้ลูกค้าวางแผนทางการเงิน บริหารภาษี และลงทุนอย่างต่อเนื่องทุก ๆ เดือน มากกว่าที่จะลงทุนก้อนเดียวตอนปลายปี เพื่อสร้างวินัยในการออมและการลงทุน และลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคา
ทั้งนี้บริษัทมีกองทุนรวมอาร์เอ็มเอฟ ที่บริษัทจัดการอยู่ทั้งสิ้น 6 กองทุน ประกอบด้วย 1. กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (BERMF) 2.กองทุนเปิดบัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ (BFLRMF) 3. กองทุนเปิดบัวหลวงตราสารหนี้เพื่อการเลี้ยงชีพ (BFRMF) 4. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้น 25% เพื่อการเลี้ยงชีพ (B25RMF) 5. กองทุนเปิดบัวหลวงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเลี้ยงชีพ (IN-RMF) และ 6 กองทุนเปิดมันนี่มาเก็ตเพื่อการเลี้ยงชีพ (MM-RMF) ขณะที่กองทุนแอลทีเอฟของบริษัทมีอยู่ด้วกันทั้งสิ้น 2 กองทุน ได้แก่ 1. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF) และ 2. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 (B-LTF75)