xs
xsm
sm
md
lg

ETF ฟุตซี่ลาร์จแคป เครื่องมือกระจายการลงทุนตัวใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนอีทีเอฟ (ETF) หรือ Exchange Traded Fund ในส่วนของประเทศไทยแล้วยังนับได้ว่าเป็นเครื่องมือลงทุนน้องใหม่ หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่เครื่องมือลงทุนนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก แต่เครื่องมือนี้ก็ได้ก้าวเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนได้สักระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งกองทุนแรกที่เข้ามาอย่างกองทุนเปิดไทยเด็กซ์เซ็ท 50 อีทีเอฟ (ThaiDEX SET 50 ETF : TDEX) เรียกได้ว่าได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี หลังจากเปิดตัวเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2550

กองทุน ETF ในต่างประเทศเองมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การจัดการ (Asset Under Management) ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง จนมีจำนวน ETF จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกกว่า 3,300 กอง และมีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันทั่วโลกกว่า 35 ล้านล้านบาท โดยเป็นการลงทุนที่ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถกระจายการลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำ มีสภาพคล่องที่สูง และสามารถซื้อขายได้สะดวก

ขณะที่กองทุน ETF กองที่สองในประเทศไทยอย่างกองทุนเปิด MTrack Energy ETF (ENGY) ที่เป็นตัวแทนของหุ้นพลังงานขนาดใหญ่ในตลาดก็ได้รับการตอบรับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่พระเอกของการลงทุนในวันนี้ เราจะพาไปพบกับกองทุน ETF กองทุนใหม่ล่าสุด ได้แก่ กองทุนเปิด ThaiDex FTSE SET Large Cap ETF (TFTSE) ซึ่งเพิ่งมีการเปิดตัวไปแบบสดๆ ร้อนๆ ถือว่าเป็นวิวัฒนาการของตลาดทุนไทยที่ก้าวไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว

สำหรับกองทุน ETF กองทุนน้องใหม่นี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) วรรณ จำกัด ซึ่งมีประสบการณ์มาแล้วในการบริหารกองทุน ETF กองทุนแรกของประเทศไทย นั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถไว้วางใจได้ในระดับหนึ่ง และเราจะขอพามาดูว่ากองทุนนี้มีข้อดีข้อด้อยอยู่ตรงจุดไหน และจะสามารถตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนได้ดีมากน้อยเพียงใดด้วย

สมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ กล่าวว่า ปัจจุบัน กองทุนอีทีเอฟถูกเลือกเข้าไปอยู่ในพอร์ตของนักลงทุนมากขึ้น เพราะบรรยากาศการลงทุนขณะนี้ การเอาชนะดัชนีทำได้ยาก ดังนั้น การลงทุนเกาะไปตามดัชนี จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ มีต้นทุนและความเสี่ยงต่ำกว่า

ซึ่งกองทุน TFTSE ซึ่งเป็นกองทุน ETF ที่อ้างอิงดัชนี FTSE SET Large Cap ถือเป็นอีกกองทุนที่น่าสนใจ และเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นรายตัว โดยกองทุนนี้ จะมีการคำนวณดัชนี Real-Time ผู้ลงทุนจะสามารถซื้อขายกองทุน TFTSE นี้ได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งกองทุน TFTSE จะมีการกระจายการลงทุนในหุ้น 30 ตัวที่มีมูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยน้ำหนักหุ้นประมาณ 35% มาจากกลุ่มธนาคาร (Bank) และประมาณ 25% มาจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Oil and Gas) และประมาณ 9% มาจากกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Telecom)

"ในต่างประเทศกองทุน ETF เป็นผลิตภัณฑ์การลงทุนที่เติบโตดีและถูกเลือกอยู่ในพอร์ตของนักลงทุนจำนวนมาก เนื่องจากการลงทุนใน ETF ถือว่าเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับนักลงทุน และซื้อขายแบบเรียลไทม์เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง"

ทั้งนี้ กองทุน TFTSE เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ FTSE group บลจ.วรรณ และทีมจัดตั้งและบริหารจัดการ โดยมี บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market maker) ขณะเดียวกัน ยังมีบริษัทหลักทรัพย์ร่วมทีมอีก 6 แห่งเป็นผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน (Participating Dealers: PD) ประกอบด้วย บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บมจ.หลักทรัพย์ ธนชาต บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง บล.ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) และ บล.ทิสโก้ ซึ่งบล.เหล่านี้มีลูกค้าต่างชาติอยู่แล้ว

"สมจินต์" คาดว่า กองทุนนี้ จะสามารถเปิดขายให้แก่นักลงทุนทั่วไป (IPO) ได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยราคาเสนอขายคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 7 บาทต่อหน่วย เมื่อพิจารณาจากดัชนีฟุตซี่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 700 จุด และคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ในไตรมาส 3 นี้

"เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณ 300-500 ล้านบาท แต่เมื่อให้ความรู้ความเข้าใจแก่นักลงทุนมากขึ้น เชื่อว่ากองทุนจะเติบโตขึ้นได้ โดยมองว่าภายใน 1-2 ปีขนาดกองทุนน่าจะเติบโตขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาทได้"

เขากล่าวต่อว่า กองทุนนี้ จะแตกต่างจากกองทุน TDEX ที่มีน้ำหนักการลงทุนสูงสุดอยู่ที่พลังงาน 43% ธนาคารพาณิชย์ 21% และไอซีที 13% โดยกองทุน ETF ในไทยช่วงที่ผ่านมานักลงทุนก็เริ่มเข้าไปลงทุนมากขึ้น เห็นได้จากกองทุนเปิดไทยเด็กซ์เซ็ท 50 อีทีเอฟ (ETF) ที่อ้างอิงดัชนี SET 50 เริ่มต้นขนาดกองทุน 1,000 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มมาอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% จากหน่วยลงทุนเริ่มต้น 178 ล้านหน่วย เพิ่มเป็น 500 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 180% จากผู้ถือหน่วยเริ่มต้น 778 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ราย เพิ่มขึ้น 542% ในระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ

โดยปัจจุบัน กองทุน TDEX มีสัดส่วนของนักลงทุนสถาบัน 43% นักลงทุนบุคคลธรรมดา 42% และนักลงทุนต่างประเทศอีก 15% ซึ่งประกอบไปด้วยนักลงทุนสถาบันและบุคคลธรรมดาในต่างประเทศ ทั้งนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ของมาเลเซียก็ได้เข้ามาดูงานเมื่อเดือนก่อนเพื่อศึกษาเกี่ยวกับกองทุน TDEX ซึ่งถือเป็นกองทุนอีทีเอฟที่ประสบความสำเร็จมากกองหนึ่งของภูมิภาคเอเชียด้วยเช่นกัน

ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าวว่า กองทุน FTSE SET Large Cap ETF ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญในการนำ FTSE SET Index Series ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมพัฒนากับ FTSE Group เพื่อใช้ประโยชน์ในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่ง TFTSE ถือเป็น ETF ตัวแรกที่อ้างอิงดัชนีดังกล่าว และเป็นกองทุน ETF ตัวที่ 3 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับดัชนี FTSE SET Large Cap เป็นดัชนีที่แสดงถึงหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 30 ตัวแรกที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้ว โดยจะกระจายในหุ้นพลังงานและธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งเหมาะที่จะใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯเชื่อมั่นว่ากองทุน FTSE Large Cap ETF น่าจะเป็นที่นิยมของผู้ลงทุน รวมทั้งช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในตลาดให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนมากขึ้น

"กองทุนนี้จะต่างกับกอง TDEX ที่อิงดัชนี SET50 และกองทุน ENGY ที่อ้างอิงหุ้นใหญ่ในกลุ่มพลังงาน เพราะจะอิงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินมากกว่า ซึ่งการมีกองทุนนี้ออกมา นักลงทุนก็จะเลือกได้ว่า ตัวเขาเองต้องการลงทุนอะไรบ้าง" ภัทรียา บอก

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ดัชนี ETF ที่อ้างอิงตลาดหุ้นทั้ง 3 กองทุนถือว่าค่อนข้างครอบคลุมตลาดแล้ว แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯสนใจตั้งดัชนี ETF ที่อ้างอิงกับดัชนีชาร์ริอะฮ์ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม แต่คงต้องให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่สนใจจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯเอง ต้องการสนับสนุนการตั้งกองทุนเพื่ออ้างอิงดัชนีฟุตซี่ เซ็ท ชาริอะห์ (FTSE SET Shariah Index) ก่อน


กำลังโหลดความคิดเห็น