xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ Money GURU การคาดการณ์ดัชนีตลาดโดยวิธี Bottom-Up

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดปัจจุบันเคลื่อนไหวผันผวนและคาดการณ์ยากขึ้นทุกขณะ จนทำให้หลายคนเกิดภาวะหวาดระแวงและไม่มีความสุขในการลงทุน ซึ่งส่งผลให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด โดยเฉพาะการตกขบวนรถไฟในรอบที่ผ่านมา หรือนักลงทุนบางรายก็ประสบกับปัญหาปล่อยหมูเข้าป่า บางรายก็ยอมฆ่าห่านทองคำเพราะมันโตเร็วเกินไป และก็ต้องมาเสียดายกันในภายหลัง    อันที่จริงแล้วผลการลงทุนในรอบที่ผ่านมาหลายคนยอมรับว่าแพ้ดัชนีตลาดตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงต้นปีคงไม่มีใครปฏิเสธว่าช่วงครึ่งเดือนที่ผ่านมาได้รับผลตอบแทนดีกว่าที่คาดไว้มาก และหลายคนสามารถเรียกทุนคืนจากที่เสียไปเมื่อปีกลายได้แล้วแม้ดัชนีจะขึ้นไม่ถึงระดับ 800 จุดเหมือนปีที่ผ่านมาก็ตาม

 ตลาดหุ้นแพงเกินจะเข้าไปลงทุนหรือไม่ เป็นคำถามที่ได้ยินตั้งแต่ดัชนีปรับขึ้นมาระดับ 500 จุด จนมาถึงเป้าหมายเดิมที่คาดการณ์ไว้ของสำนักวิจัยหลายแห่ง ซึ่งปัจจุบันได้ปรับเป้าหมายใหม่ให้ไปถึง 700 จุดแล้ว จึงเป็นที่มาของความสงสัยว่าเป้าหมายของสำนักวิจัยนั้นใช้ได้จริงหรือไม่  ทั้งนี้เป้าหมายของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่หลายสำนักใช้มีด้วยกันหลายวิธีและแต่ละวิธีก็มีสมมุติฐานต่างๆกัน แต่ปัจจุบันวิธีการที่นิยมใช้กันคือ Bottom-Up เนื่องจากอิงกับเป้าหมายของราคาหุ้นในแต่ละตัวที่ติดตาม ดังนั้นการเปลี่ยนเป้าหมายในหุ้นที่มีมูลค่าการตลาด (Market Capitalization) สูงจะส่งผลต่อเป้าหมายของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามไปด้วย
 โดยทั่วไปการประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดที่ใช้ในทางปฏิบัติ 2 วิธีคือ  1.Top-Down Approach  2.Bottom-Up Approach 

ทั้งสองวิธีนำไปสู่ความต้องการผลตอบแทนของนักลงทุน ซึ่งหากผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจริงน้อยกว่าค่าที่ประเมินได้แสดงว่าหุ้นมีมูลค่าแพงเกินไปและควรจะขาย การใช้ Top-Down Approach นั้นมีรูปแบบให้ใช้มากกว่าเนื่องจากเกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจและตัวแปรภายนอก และขึ้นอยู่กับทฤษฎีที่ใช้ของแต่ละสำนัก ในขณะที่ Bottom-Up Approach จะมีข้อดีในการอิงกับผลตอบแทนจากราคาหุ้นแต่ละหลักทรัพย์ซึ่งสะท้อนมูลค่าของหุ้นแต่ละตัวมากกว่า แต่วิธีการคำนวณจะยากขึ้นเนื่องจากต้องคำนวณมูลค่าหุ้นแต่ละตัวเพื่อประกอบกันเป็นดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสำนักวิจัยหลายแห่งมักจะใช้วิธี Bottom-Up Approach เพื่อคำนวณกำไรของตลาดโดยรวมก่อนแล้วจึงใช้ Top-Down Approach ในการปรับเพื่อสะท้อนภาวะตลาดหุ้น เศรษฐกิจ และการเมืองในขณะนั้น
 ในที่นี้เราจะแสดงวิธีคำนวณการคาดการณ์ดัชนีตลาดแบบ Bottom-Up ที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เริ่มแรกเราต้องมีหุ้นจำนวนที่บ่งบอกคุณสมบัติต่างๆ ของตลาดเช่น กำไร, เบต้า, มูลค่าตามบัญชี อาจจะเลือกจาก SET50 ทั้งหมด หรือจากหุ้นในกลุ่มที่ติดตามอยู่ก็ได้ แต่มูลค่าตลาด (Market Capitalization) รวมทั้งหมดไม่ควรน้อยเกินไปเพราะกลุ่มหุ้นที่เลือกมาหากน้อยเกินไปจะไม่สะท้อนคุณสมบัติของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดี

ขั้นตอนที่สองเราต้องหาเป้าหมายกำไรที่คาดหวังจากตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้ค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามมูลค่าตลาดของความแตกต่างระหว่างราคาเป้าหมายเทียบกับราคาปัจจุบัน (Upside/Downside) ของหุ้นแต่ละตัว
 ขั้นตอนที่สามเรานำเป้าหมายกำไรที่คาดหวังที่ได้มาคูณกับดัชนีตลาดปัจจุบัน เพื่อให้ได้เป้าหมายของดัชนีตลาดฯ  (Target index)  ซึ่งจะบ่งบอกเป้าหมายของตลาดในระยะเวลาตามเป้าหมายของหุ้นที่อยู่ในกลุ่ม

 จะเห็นว่าการคาดการณ์เป้าหมายของตลาดนั้นทำได้ค่อนข้างยาก เพราะปกติการคาดการณ์เป้าหมายราคาหุ้นแต่ละตัวก็ทำได้ยากอยู่แล้ว การนำเป้าหมายหุ้นมาสะท้อนเป็นดัชนีจึงมีโอกาสคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามหากจะวัดความถูกต้องของการประเมินดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจะดูได้จากคาดการณ์การเติบโตของกำไร (Implied growth) ของตลาดซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของตลาดมากนัก และสะท้อนปัจจัยพื้นฐานของหุ้นมากกว่าการดูเป้าหมายดัชนีตลาดเพียงอย่างเดียว

  การใช้เพียงเป้าหมายดัชนีเพื่อชี้วัดความถูกหรือแพงของภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบันจึงอาจจะไม่ได้ข้อสรุปอะไรมากนัก อย่างไรก็ตามการใช้ Market Multiple เช่น P/E ratio ของตลาดเพื่อเปรียบกับอดีตหรือเปรียบเทียบกับตลาดเพื่อนบ้านจะค่อนข้างได้ประโยชน์มากกว่า ทั้งนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี มี P/E เฉลี่ยอยู่ที่ 12.47 เท่า ในขณะที่เทียบกับภูมิภาค P/E ตลาดหุ้นไทยยังคงต่ำกว่าตลาดหุ้นเกาหลีใต้ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 16.67 เท่า ซึ่งปกติจะซื้อขายใน P/E ระดับเดียวกัน

 กลับมาที่ภาวะตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปัจจุบันซึ่งตลาดไม่ค่อยสะท้อน Implied growth ที่คาดว่าจะติดลบถึง 20% ในปี 2009 เท่าไรนัก ซึ่งอาจจะมีการปรับตัวลดลงของตลาดเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตามผลประกอบการของบริษัทโดยรวมจะบ่งบอกทิศทางที่แท้จริงของตลาด หากกำไรของบริษัทเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องทุกไตรมาส จะเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนจากภาวะหมีเป็นภาวะกระทิง
 
 ความคิดเห็นและข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น  ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย

 
กำลังโหลดความคิดเห็น