ASTVผู้จัดการรายวัน - ตลท.เปิดตัว "FTSE SET Large Cap ETF" กองทุนอีทีเอฟกองที่ 3 อิงหุ้นใหญ่กลุ่มแบงก์ พลังงาน และสื่อสารรวม 30 ตัว เพิ่มทางเลือกนักลงทุนกระจายความเสี่ยง จ่อคิว ดึงดัชนี "ฟุตซี่ เซ็ท ชาริอะห์" ตั้งอีทีเอฟกองที่ 4 ผู้จัดการกองทุนหวัง ไอพีโอ 300-500 ล้านบาท หวัง 2 ปีสินทรัพย์โต 1,000 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. ได้ร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด จัดตั้งกองทุน FTSE SET Large Cap ETF ซึ่งความในครั้งนี้ ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญในการนำ FTSE SET Index Series ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมพัฒนากับ FTSE Group เพื่อใช้ประโยชน์ในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่ง TFTSE ถือเป็นอีทีเอฟตัวแรกที่อ้างอิงดัชนีดังกล่าว และเป็นกองทุนอีทีเอฟที่ 3 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยดัชนี FTSE SET Large Cap นั้น เป็นดัชนีที่แสดงถึงหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 30 ตัวแรกที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้ว โดยจะกระจายในหุ้นพลังงานและธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งดัชนีดังกล่าว เหมาะที่จะใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯเชื่อมั่นว่ากองทุน FTSE Large Cap ETF น่าจะเป็นที่นิยมของผู้ลงทุน รวมทั้งช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในตลาดให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนมากขึ้น
"กองทุนนี้จะต่างกับกอง TDEX ที่อิงดัชนี SET50 และกองทุน ENGY ที่อ้างอิงหุ้นใหญ่ในกลุ่มพลังงาน เพราะจะอิงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินมากกว่า ซึ่งการมีกองทุนนี้ออกมา นักลงทุนก็จะเลือกได้ว่า ตัวเขาเองต้องการลงทุนอะไรบ้าง"นางภัทรียากล่าว
นางภัทรียากล่าวต่อว่า ขณะนี้ดัชนีอีทีเอฟที่อ้างอิงตลาดหุ้นทั้ง 3 กองทุนถือว่าค่อนข้างครอบคลุมตลาดแล้ว แต่ตลาดหลักทรัพย์เองก็สนใจตั้งดัชนีอีทีเอฟที่อ้างอิงกับดัชนีชาร์ริอะฮ์ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องให้บริษัทจัดการกองทุนที่สนใจจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯเอง ต้องการสนับสนุนการตั้งกองทุนเพื่ออ้างอิงดัชนีฟุตซี่ เซ็ท ชาริอะห์ ( FTSE SET Shariah Index) ก่อน
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ. วรรณ ในฐานะผู้จัดการกองทุนเปิด ThaiDex FTSE SET Large Cap ETF: TFTSE (ที ฟุตซี่) กล่าวว่า กองทุนนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ FTSE group บลจ.วรรณ และทีมจัดตั้งและบริหารจัดการ โดยมี บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market maker) และมีบริษัทหลักทรัพย์ร่วมทีมอีก 6 แห่งเป็นผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน (Participating Dealers: PD) ประกอบด้วย บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) บมจ. หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บมจ. หลักทรัพย์ ธนชาต บมจ. หลักทรัพย์ บัวหลวง บล.ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) และ บล.ทิสโก้
โดยกองทุนเปิด TFTSE จะมีการคำนวณดัชนี Real-Time ดังนั้น ผู้ลงทุนจะสามารถซื้อขายกองทุน TFTSE นี้ได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งกองทุนเปิด TFTSE มีการกระจายการลงทุนในหุ้น 30 ตัว โดยน้ำหนักหุ้นประมาณร้อยละ 35 มาจากกลุ่ม ธนาคาร (Bank) ประมาณร้อยละ 25 มาจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Oil and Gas) และประมาณร้อยละ 9 มาจากกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Telecom) ซึ่ง TFTSE เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นรายตัว และนับเป็นการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนรายใหม่ และช่วยกระตุ้นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ กองทุน TFTSE อยู่ในระหว่างการพิจารณายื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีกำหนดที่จะเปิดเสนอขาย ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งในช่วงของการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณ 300-500 ล้านบาท และเชื่อว่าภายใน 1-2 ปี ขนาดของกองทุนจะเติบโตขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาทได้
"ปัจจุบัน กองทุนอีทีเอฟถูกเลือกเข้าไปอยู่ในพอร์ตของนักลงทุนมากขึ้น เพราะบรรยากาศการลงทุนขณะนี้ การเอาชนะดัชนีทำได้ยาก ดังนั้น การลงทุนเกาะไปตามดัชนี จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ มีต้นทุนและความเสี่ยงต่ำกว่า"นายสมจินต์กล่าว
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การฟุตซี่เข้ามาจัดทำดัชนีให้กับตลาดหุ้นไทยนั้น มีส่วนช่วยยกระดับตลาดหุ้นไทยเป็นมาตรฐานสากล และทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงสามารถที่จะเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นอื่นได้ เพราะนักลงทุนทั่วโลกรู้จักฟุตซี่และให้การยอมรับอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ดัชนีที่ฟุตซี่จัดทำจำนวนมากจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วอยากเห็นมีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น กองทุนอีทีเอฟตราสารหนี้ กองทุนอีทีเอฟพันธบัตรรัฐบาล อีทีเอฟอิสลามิก
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. ได้ร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด จัดตั้งกองทุน FTSE SET Large Cap ETF ซึ่งความในครั้งนี้ ถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญในการนำ FTSE SET Index Series ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมพัฒนากับ FTSE Group เพื่อใช้ประโยชน์ในการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ซึ่ง TFTSE ถือเป็นอีทีเอฟตัวแรกที่อ้างอิงดัชนีดังกล่าว และเป็นกองทุนอีทีเอฟที่ 3 ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยดัชนี FTSE SET Large Cap นั้น เป็นดัชนีที่แสดงถึงหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งประกอบด้วยหลักทรัพย์ที่มีขนาดมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุด 30 ตัวแรกที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกแล้ว โดยจะกระจายในหุ้นพลังงานและธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งดัชนีดังกล่าว เหมาะที่จะใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยตลาดหลักทรัพย์ฯเชื่อมั่นว่ากองทุน FTSE Large Cap ETF น่าจะเป็นที่นิยมของผู้ลงทุน รวมทั้งช่วยเพิ่มความหลากหลายของสินค้าในตลาดให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนมากขึ้น
"กองทุนนี้จะต่างกับกอง TDEX ที่อิงดัชนี SET50 และกองทุน ENGY ที่อ้างอิงหุ้นใหญ่ในกลุ่มพลังงาน เพราะจะอิงหุ้นกลุ่มสถาบันการเงินมากกว่า ซึ่งการมีกองทุนนี้ออกมา นักลงทุนก็จะเลือกได้ว่า ตัวเขาเองต้องการลงทุนอะไรบ้าง"นางภัทรียากล่าว
นางภัทรียากล่าวต่อว่า ขณะนี้ดัชนีอีทีเอฟที่อ้างอิงตลาดหุ้นทั้ง 3 กองทุนถือว่าค่อนข้างครอบคลุมตลาดแล้ว แต่ตลาดหลักทรัพย์เองก็สนใจตั้งดัชนีอีทีเอฟที่อ้างอิงกับดัชนีชาร์ริอะฮ์ด้วยเช่นกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนเฉพาะกลุ่ม อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงต้องให้บริษัทจัดการกองทุนที่สนใจจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งในส่วนของตลาดหลักทรัพย์ฯเอง ต้องการสนับสนุนการตั้งกองทุนเพื่ออ้างอิงดัชนีฟุตซี่ เซ็ท ชาริอะห์ ( FTSE SET Shariah Index) ก่อน
นายสมจินต์ ศรไพศาล กรรมการผู้จัดการ บลจ. วรรณ ในฐานะผู้จัดการกองทุนเปิด ThaiDex FTSE SET Large Cap ETF: TFTSE (ที ฟุตซี่) กล่าวว่า กองทุนนี้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ FTSE group บลจ.วรรณ และทีมจัดตั้งและบริหารจัดการ โดยมี บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) เป็นผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market maker) และมีบริษัทหลักทรัพย์ร่วมทีมอีก 6 แห่งเป็นผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน (Participating Dealers: PD) ประกอบด้วย บมจ. หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) บมจ. หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บมจ. หลักทรัพย์ ธนชาต บมจ. หลักทรัพย์ บัวหลวง บล.ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) และ บล.ทิสโก้
โดยกองทุนเปิด TFTSE จะมีการคำนวณดัชนี Real-Time ดังนั้น ผู้ลงทุนจะสามารถซื้อขายกองทุน TFTSE นี้ได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งกองทุนเปิด TFTSE มีการกระจายการลงทุนในหุ้น 30 ตัว โดยน้ำหนักหุ้นประมาณร้อยละ 35 มาจากกลุ่ม ธนาคาร (Bank) ประมาณร้อยละ 25 มาจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ (Oil and Gas) และประมาณร้อยละ 9 มาจากกลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Telecom) ซึ่ง TFTSE เหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นรายตัว และนับเป็นการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อดึงดูดผู้ลงทุนรายใหม่ และช่วยกระตุ้นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ กองทุน TFTSE อยู่ในระหว่างการพิจารณายื่นคำขออนุมัติจัดตั้งและจัดการกองทุนรวมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยมีกำหนดที่จะเปิดเสนอขาย ประมาณปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งในช่วงของการเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก คาดว่าจะสามารถระดมทุนได้ประมาณ 300-500 ล้านบาท และเชื่อว่าภายใน 1-2 ปี ขนาดของกองทุนจะเติบโตขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาทได้
"ปัจจุบัน กองทุนอีทีเอฟถูกเลือกเข้าไปอยู่ในพอร์ตของนักลงทุนมากขึ้น เพราะบรรยากาศการลงทุนขณะนี้ การเอาชนะดัชนีทำได้ยาก ดังนั้น การลงทุนเกาะไปตามดัชนี จึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจ มีต้นทุนและความเสี่ยงต่ำกว่า"นายสมจินต์กล่าว
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า การฟุตซี่เข้ามาจัดทำดัชนีให้กับตลาดหุ้นไทยนั้น มีส่วนช่วยยกระดับตลาดหุ้นไทยเป็นมาตรฐานสากล และทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงสามารถที่จะเชื่อมโยงกับตลาดหุ้นอื่นได้ เพราะนักลงทุนทั่วโลกรู้จักฟุตซี่และให้การยอมรับอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ดัชนีที่ฟุตซี่จัดทำจำนวนมากจากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวแล้วอยากเห็นมีการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ มากขึ้น เช่น กองทุนอีทีเอฟตราสารหนี้ กองทุนอีทีเอฟพันธบัตรรัฐบาล อีทีเอฟอิสลามิก