xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.สอบ"วิสิฐ"ไม่พบอินไซด์ฯ พร้อมร่วมมือกบข.สอบพฤติกรรมพนักงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ธีระชัย” แจง สอบข้อมูลซื้อขาย "วิสิฐ" ไม่พบความผิดเข้าข่ายกฎหมายหลักทรัพย์ “อินไซด์เทรดดิ้ง” ออกโรงป้องธุรกิจกองทุนรวม คุมเข้มการซื้อขายหุ้นของพนักงานและผู้บริหารอย่างรัดกุม ย้ำไม่มีการซื้อขายที่เอาเปรียบ พร้อมให้ร่วมมือกบข. สอบพฤติกรรมพนักงานที่เข้าข่าย

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากสำนักงาน ก.ล.ต. ได้เข้าไปตรวจสอบและพิจารณารายละเอียดในการซื้อขายหุ้นของนายวิสิฐ ตันติสุนทร อดีตเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ว่า มีการซื้อขายที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหลักทรัพย์หรือไม่ โดยเฉพาะกรณีการใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้น(อินไซเดอร์ เทรดดิ้ง) นั้น ในเบื้องต้นยังไม่เห็นสัญญานว่า อดีตเลขาธิการ กบข.มีการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์เทรดดิ้งแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม สำนักงานก.ล.ต. จะต้องเข้าไปดูรายละเอียดรายการซื้อขายหุ้นอีกครั้ง

ส่วนประเด็นของการเข้าซื้อขายหุ้นก่อนหน้าและหลังกองทุนของนายวิสิฐนั้น ไม่ถือว่าเป็นความผิดกฎหมายหลักทรัพย์หรืออินไซเดอร์เทรดดิ้ง แต่อาจเป็นการผิดระเบียบข้อบังคับของกบข.เอง

อย่างไรก็ตาม สำนักงานเองได้มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยออกประกาศเป็นข้อบังคับว่าทุกบริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) ต้องออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นของพนักงานและผู้บริหารอย่างรัดกุม และมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดหากปฎิบัติผิดระเบียบต้องมีการลงโทษ นอกจากนี้ ยังให้สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ออกระเบียบในการกำกับดูแลกันเองในเรื่องนี้ด้วย

ทั้งนี้ เมื่อปี 2551 ที่ผ่านมา สมาคมบลจ.ก็ได้ออกระเบียบปฎิบัติว่า หากพนักงานในบลจ.จะซื้อขายหุ้นต้องปฎิบัติอย่างไร เช่น ก่อนซื้อต้องขออนุญาติก่อน หรือซื้อแล้วจะขายออกมาทันทีไม่ได้ต้องถือครองไว้ไม่ต่ำกว่า 30 วัน เป็นต้น

"ตนได้มีการสั่งให้ฝ่ายตรวจสอบของก.ล.ต.มีการตรวจสอบการ ซื้อขายหุ้นของนายวิสิฐ ว่ามีการซื้อขายที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหลักทรัพย์หรือไม่ ในด้านการใช้อินไซด์ข้อมูล ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการใช้อินไซด์ โดยอยากให้ นักลงทุนสบายใจได้ในการดูแลบลจ. เพราะการซื้อขายหุ้นของพนักงานหรือผู้บริหารกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องถูกกำกับดูแล 3 ชั้น คือขั้นแรกจากตัวบริษัทหรือบลจ.เอง ต่อไปคือสมาคมบลจ.และก.ล.ต.จะเข้าไปตรวจซ้ำอีกที โดยทุกครั้งที่เข้าไปตรวจสอบการปฎิบัติงานของบริษัท ก็จะตรวจสอบการซื้อขายหุ้นของพนักงานด้วย ดังนั้นจึงมั่นใจระดับหนึ่งว่าจะไม่มีการซื้อขายที่เอาเปรียบกองทุน"นายธีระชัยกล่าว

สำหรับกองทุน กบข.ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. เหมือนกับกองทุนรวมและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั่วไป แต่หลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลังต้องการให้สมาชิกสบายใจและเกิดความมั่นใจ จึงได้มีการหารือกับ ก.ล.ต.ในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หากคณะกรรมการ กบข.อยากให้ ก.ล.ต.เข้าไปช่วยดูในบางเรื่อง เช่น ระเบียบของพนักงานในการซื้อขายหุ้นว่าดีหรือยัง ต้องปรับปรุงตรงไหนหรือไม่ รวมทั้งระบบการตรวจสอบและการรายงานรวมถึงการบริหารความเสี่ยง ซึ่ง หากมีหนังสือขอความร่วมมืออย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการ กบข.ทางก.ล.ต.ก็พร้อมและเต็มใจให้คำแนะนำ

ก่อนหน้านี้ นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน ออกมากล่าวว่า ในการกำกับดูแลการลงทุนเพื่อตนเองของพนักงานและผู้บริหารทุกระดับของบริษัทสมาชิก (บลจ.) นั้น ทางสมาคมมีกฎควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานและผู้บริหารให้บริษัทสมาชิกปฏิบัติ และในการซื้อขายนั้น พนักงานและผู้บริหารจะต้อง 1) ขออนุญาตก่อนทุกครั้ง 2) ส่งรายงานการซื้อขายให้ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานของ บลจ. ทุกครั้งที่มีการซื้อขาย 3) ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานของ บลจ. จะตรวจสอบโดยเทียบกับรายการที่พนักงานรายงานมานั้นกับรายการซื้อขายจริงที่ได้จากโบรกเกอร์ที่กำหนดให้พนักงานไปซื้อขายผ่านได้โดยตรงว่าข้อมูลตรงกันไหม มีพฤติกรรมอันเป็นการเอาเปรียบกองทุนหรือไม่ 4) ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงานของ บลจ. จะส่งรายงานดังกล่าวให้ ก.ล.ต. ปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย และรายงานโดยสม่ำเสมอต่อคณะกรรมการ บลจ. โดยตรง

ดังนั้น เมื่อ บลจ. ต่าง ๆ มีการกำหนดกรอบ มีการจัดทำระบบ มีการตรวจสอบ และมีการรายงานให้ ก.ล.ต. กับคณะกรรมการ บลจ. รับทราบทุกธุรกรรมที่เกิดขึ้น จึงมั่นใจถึงความโปร่งใสในการปฏิบัติงานได้
กำลังโหลดความคิดเห็น