xs
xsm
sm
md
lg

ต้นทุนแฝงของการใช้จ่ายภาครัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ จับชีพจรการลงทุน
โดย บลจ.เอสซีบี ควอนท์

ผมเขียนบทความนี้ด้วยความเซ็งกับข่าว สภาป่วน การต่อรองเรื่องงบของพรรคร่วมซึ่งอาจส่งผลต่อการโวต พ.ร.ก. การกู้เงินเร่งด่วนของรัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการเลื่อนประชุมอาเซียนไปเป็นเดือน ต.ค. ซึ่งอาจส่งผลทำให้นโยบายการทุ่มงบประมาณของรัฐหรือการจะได้เม็ดเงินจากต่างประเทศรวมถึงความร่วมมือต่างๆซึ่งทั้งหมดจะเป็นปัจจัยสำคัญในการนำประเทศออกจากภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ต้องล่าช้าออกไป ก็ไม่รู้เมื่อไรประเทศไทยจะหมดเวรหมดกรรมซะทีกับ (นัก) การเมืองบ้านเราที่วันๆเอาแต่เล่นการเมืองโดยนึกถึงแต่พวกพ้องตนเองเท่านั้น

แม้ว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรัฐบาลถูกเชื่อว่าน่าจะเป็นวิธีเดียวที่จะนำประเทศก้าวผ่านวิกฤติร้ายแรงครั้งนี้ไปได้ แต่เราก็ควรจะระลึกด้วยว่าวิธีดังกล่าวซึ่งได้แก่การที่รัฐบาลมีขนาดใหญ่มากขึ้นหรืออีกนัยหนึ่งคือการที่รัฐบาลเลือกนโยบายที่จะเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญในระบบเศรษฐกิจแทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภาคเอกชนและผู้บริโภคนั้นอาจไม่ใช่วิธีการที่ดีของการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในระยะยาว

แนวคิดดังกล่าวที่จะให้รัฐบาลเป็นผู้นำในการใช้จ่ายสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนภาครัฐค่อนข้างจะขัดกับหลักเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่มักจะมองว่าเศรษฐกิจควรจะเติบโตหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ควรเกิดจากภาคเอกชนมากกว่าเนื่องจากวิธีการที่รัฐจัดหาเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น การขึ้นภาษีประเภทต่างๆ การกู้ยืมเงินหรือพิมพ์เงินขึ้นมาใหม่นั้น ล้วนก่อให้เกิดผลเสียต่างๆตามมา นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องจริงอีกด้วยที่ว่าการใช้จ่ายของรัฐบาลนั้นมักจะไม่จัดสรรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด (Economically destructive) ซึ่งต่างจากภาคเอกชน ทั้งนี้เนื่องมาจากเงินที่รัฐบาลได้มาไม่ว่าจะเป็นทางใดก็ตามผู้ที่รับภาระไม่ใช่ผู้ดำเนินการใช้จ่าย (ข้าราชการและนักการเมือง) แต่กลับเป็นเราประชาชน (ผู้บริโภคและบริษัทเอกชน)

เหตุผลที่ว่าทำไมหากมีการใช้นโยบายการใช้จ่ายภาครัฐในวงเงินที่สูงเป็นระยะเวลานานเกินไปจึงส่งผลเสียต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว ก็คือการมีต้นทุนที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้น ซึ่งต้นทุนดังกล่าวได้แก่

ต้นทุน DRAW-OUT
เมื่อรัฐจำเป็นต้องหารายได้มากขึ้นหรือกู้ยืมเงินเกินกว่าที่วางแผนไว้สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐที่มากขึ้น ทางเลือกใดๆในการ Finance ล้วนมีผลกระทบในทางลบทั้งสิ้น การขึ้นอัตราภาษีอาจจะส่งผลกระทบต่อ Output ของคนทำงานเนื่องจากทำงานมากก็เสียภาษีให้รัฐมากขึ้น การกู้เงินเป็นจำนวนมากในตลาดเงินซึ่งอาจจะล้ำเข้าไปส่วนของภาคเอกชนอาจนำไปสู่ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Crowding-out effect คือทำให้ราคาการกู้ยืมสูงมากกว่าที่ควรจะเป็น

ต้นทุน DISLOCATION
การใช้จ่ายภาครัฐมากขึ้น 1 บาทหมายถึง 1 บาทที่ลดลงของการใช้จ่ายหรือลงทุนของภาคเอกชน โดยทั่วไปแล้วการนำทรัพยากร (เงิน) มาใช้โดยข้าราชการหรือนักการเมืองมักไม่ค่อยมีคุณภาพหรือได้งานไม่เท่าเอกชน ผลสุดท้าย การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมจึงได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น

ต้นทุน NEGATIVE MULTIPLIER
งบประมาณของภาครัฐบางส่วนนำไปสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานบางหน่วยที่อาจจะออกกฎเกณฑ์บางอย่างซึ่งอาจส่งผลลบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาทิเช่น เงินสำรองที่กำหนดเอาไว้ที่แม้จะมีประโยชน์ในแง่ของการรองรับหรือป้องกันความเสี่ยง แต่ถ้ามองอีกมุมมองหนึ่งก็เป็นการใช้ประโยชน์จากเงินที่แช่นิ่งๆไว้ไม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ต้นทุน SUBSIDY
งบประมาณภาครัฐบางอย่างก็ช่วยสนับสนุนพฤติกรรมที่ไม่ดีของกลุ่มบุคคลใดๆที่อาจมีอิทธิพลทางการเมือง เช่น โปรแกรมการให้เงินอุดหนุน (Subsidy) หรือการประนอมหนี้ให้แก่เกษตรกรบางกลุ่มอยู่เรื่อยๆ หรือหลายๆอย่างก็นำมาซึ่งผลเสียที่คาดไม่ถึง สวัสดิการที่ดีเกินไปทำให้คนที่ได้รับไม่ตั้งใจทำงาน การให้เงินประกันเพื่อใช้จ่ายสำหรับคนว่างงานอาจทำให้คนขี้เกียจไม่ดิ้นรนหางานทำเนื่องจากยังไงรัฐก็เลี้ยงอยู่แล้ว การช่วยเหลืออุบัติภัยทางธรรมชาติบางอย่างที่ป้องกันได้เช่นน้ำท่วม ทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงไม่หาทางรับมือซึ่งทำให้รัฐต้องนำงบประมาณจำนวนมากมาเสียเปล่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้นทุกปี

ต้นทุน BAD BEHAVIOR
นโยบายการให้เรียนฟรีของรัฐบาลเป็นตัวอย่างหนึ่งของต้นทุนประเภทนี้ การที่รัฐช่วยแบ่งเบาภาระที่เป็นเงินก้อนใหญ่ทำให้คนมีเงินเหลือซึ่งถ้าไม่ควบคุมให้ดีอาจจะนำไปใช้จ่ายในสิ่งฟุ่มเฟือยและทำให้มีเงินเก็บน้อยลง และเมื่อเงินออมน้อยลง การนำเงินไปลงทุนเพื่อประโยชน์สูงสุดผ่านคนกลาง (ธนาคารหรือสถาบันการเงิน) ก็จะน้อยลงไปด้วย การประกันสุขภาพอาจส่งเสริมให้คนดูแลสุขภาพน้อยลงซึ่งส่งผลต่อค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศในเรื่องค่ารักษาพยาบาลมากกว่าที่ควรจะเป็น

ต้นทุน DISTORTION
ในตลาดเสรีที่มีการแข่งขัน ผู้ซื้อและผู้ขายในสินค้าหรือบริการจะเป็นผู้กำหนดราคาที่บ่งบอกถึงการนำทรัพยากรไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โครงการบางอย่างของรัฐบาลทำให้กลไกตลาดเกิดการบิดเบือนซึ่งนำไปสู่การใช้ทรัพยากรทางการเงินและธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพต่ำ ตัวอย่าง การให้เงินสนับสนุนราคาน้ำมันให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น การสนับสนุนแบบนี้จะทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า “Third party problem” กล่าวคือประชาชนจะใช้น้ำมันอย่างสิ้นเปลืองมากเหมือนเดิมเนื่องจากราคาต่ำกว่าที่ควรเพราะมีคนจ่ายแทนอยู่แล้วซึ่งคือรัฐบาลนั่นเอง

ต้นทุน IDLE
การใช้จ่ายโดยรัฐอาจเป็นตัวขัดขวางการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation) ความต้องการร่ำรวยของภาคเอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนให้มีการแข่งขันเพื่อผลิตสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นถ้าทรัพยากรส่วนใหญ่ถูกบริหารโดยภาครัฐบาลซึ่งถูกมองว่าไม่มีความคล่องตัวและมีกระบวนการต่างๆมากเกินไป การคิดค้นสิ่งใหม่ๆเพื่อเพิ่มผลผลิตก็จะลดน้อยลงไปด้วย

ต้นทุน INFLATION
ในกรณีที่รัฐบาล Finance การลงทุนและใช้จ่ายโดยการพิมพ์เงินใหม่หรือออกพันธบัตรรัฐบาลจำนวนมาก สิ่งที่ตามมาซึ่งจะกระทบกับคนทั่วประเทศคือเงินเฟ้อ เงินเฟ้อทำให้อำนาจการซื้อของคนน้อยลง เดิมเงิน 30 บาทกินข้าวได้หนึ่งจาน แต่ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเราอาจจะได้รับหมูน้อยลงหรือแม่ค้าตักข้าวให้เราน้อยลงก็ได้ ยิ่งถ้าในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีที่ประชาชนไม่น่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากหรืออาจจะน้อยลงด้วยซ้ำ การใช้จ่ายภาครัฐโดยก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยต้องเข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดแบบ Proactive ไม่ใช่ ปล่อยให้เกิดก่อนถึงค่อยมาหาวิธีแก้ไขในภายหลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น