บลจ.อยุธยา
รายงานภาวะเศรษฐกิจประจำสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่ามีตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ของไทยมีความเคลื่อนไหวอย่างน่าสนใจ โดยตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันจากสัปดาห์ก่อนรวมทั้งมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นด้วย
สหรัฐอเมริกา : นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟด แถลงต่อสภาคองเกรสว่า ภาวะตกต่ำในตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯอาจใกล้จุดต่ำสุดแล้ว และเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเริ่มฟื้นตัวในปีนี้ สำหรับผลการทดสอบความแข็งแกร่งของธนาคารขนาดใหญ่ 19 แห่ง สรุปว่า มีธนาคาร 10 แห่งที่จะต้องเพิ่มทุนตามที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้ โดยธนาคารทั้ง 10 แห่งจะต้องเพิ่มทุนรวม 74,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าที่ตลาดคาด และธนาคารที่ต้องเพิ่มทุนต่างแถลงแผนการเพิ่มทุน โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาล สำหรับอัตราการว่างงานของเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นสู่ร้อยละ 8.9 จากร้อยละ 8.5 ในเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมเดือนเมษายนลดลง 539,000 ตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่คาด และลดลงน้อยกว่าเดือนมีนาคมซึ่งมีการจ้างงานลดลง 699,000 ตำแหน่ง
ยุโรป : ธนาคารกลางยุโรปมีมติลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 สู่ร้อยละ 1.0 ตามคาดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของยูโรโซนเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ระดับ 36.8 ในเดือนเมษายน จาก 33.9 ในเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีกของยูโรโซนในเดือนมีนาคม ลดลงร้อยละ 4.2 จากเดือนมีนาคม ปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นการลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบปีต่อปี และลดลงร้อยละ 0.6 จากเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เป็นการบ่งชี้ว่าถึงแม้ความรุนแรงของการหดตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนลดลง แต่ความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังคงอ่อนแอ สำหรับยอดสั่งซื้อภาคการผลิตของเยอรมนีในเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
อังกฤษ : ธนาคารกลางอังกฤษมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.5 พร้อมทั้งประกาศเพิ่มวงเงินซื้อทรัพย์สินอีก 5 หมื่นล้านปอนด์
จีน : สำนักงานสารสนเทศของรัฐบาลคาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 7 ในไตรมาสที่ 2 หลังจากขยายตัวร้อยละ 6.1 ในไตรมาสแรก นายฟาน กัง ที่ปรึกษาของธนาคารกลางจีน คาดว่า เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวร้อยละ 7 – 8 ในปีนี้และปีหน้า โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเริ่มฟื้นตัวในปีหน้า เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะเริ่มส่งผลและตลาดอื่นๆเริ่มทรงตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของจีนในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน ที่ระดับ 50.1 จาก 44.8 ในเดือนมีนาคม โดยดัชนีที่สูงกว่า 50 แสดงถึงการขยายตัว
ไทย : คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนการกู้เงินจำนวน 8 แสนล้านบาท เพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสองในวงเงิน 1.43 ล้านล้านบาท นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า เศรษฐกิจไทยอาจแตะจุดต่ำสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ และเชื่อว่าจีดีพีในไตรมาสที่ 2 จะดีกว่าไตรมาสแรก ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังมีโอกาสที่จะลดลงอีก
ด้านตลาดตราสารหนี้นั้นมีความผันผวนมากในสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนกู้เงินจำนวน 8 แสนล้านบาทเพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น 10 – 40 bps โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 4 – 10 ปี ปรับขึ้นมากที่สุด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับปริมาณพันธบัตรที่จะออกเพิ่มเติม ในขณะที่ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นทั่วโลกและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เป็น 2 ในหลายๆสัญญาณที่บ่งชี้ว่า การหดตัวของเศรษฐกิจโลกอาจแตะจุดต่ำสุดแล้ว กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางของเอวายเอฟได้ลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์เพื่อลดระดับความเสี่ยง โดยอายุเฉลี่ยของกองทุนอยู่ที่
ส่วนตลาดตราสารทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวสูงขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 8 ติดต่อกัน ในขณะที่ปริมาณการซื้อขายก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่เกือบ 3 หมื่นล้านบาทต่อวัน เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้าทำการซื้อขายมากขึ้น โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของสัปดาห์นี้ปิดที่ 527.72 จุด เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.33 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ตลาดรอดูผลการทดสอบความแข็งแกร่งของธนาคารในสหรัฐฯ ซึ่งได้ประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ข้อมูลเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทต่างๆที่ออกมาดีกว่าที่คาดได้ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนดีขึ้นทั้งภูมิภาค ในขณะที่ปัญหาการเมืองภายในประเทศยังคงอยู่ในภาวะเลวร้าย ทางเราคาดว่าตลาดจะปรับฐานเล็กน้อยก่อนที่จะทะยานขึ้นอีกครั้ง สำหรับราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศผลทดสอบความแข็งแกร่งของธนาคารในสหรัฐฯ