xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจโลกรับความหวัง มะกันส่งสัญญาณสดใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตัวเลขล่วงหน้าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของสหรัฐฯ ในช่วง ไตรมาสแรกของปี 2552 หดตัวลงอยู่ที่ระดับ -6.1% qoq (อัตรารายปี) โดยเป็นการหดตัวลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน จาก 2 ไตรมาสก่อนที่หดตัว -6.3% และ -0.5% ตามลำดับ โดยการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของภาคเอกชนขยายตัว 2.2% qoq จากไตรมาสก่อนที่หดตัว -4.7% ขณะที่ในด้านของการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -37.9% qoq จาก 21.7% การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐหดตัว -4% qoqจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 7% ส่วนการส่งออกหดตัวเพิ่มขึ้นเป็น -30% qoq ต่อจากที่ลดลง -23% และการนำเข้าหดตัว -34% qoq เพิ่มขึ้นจากที่หดตัว -17.5% ในไตรมาสก่อนหน้า

ทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วง ไตรมาสแรกของปี 2552ที่ผ่านมา ปัจจัยลบหลักยังคงมาจากการชะลอตัวลงในด้านของการลงทุนภาคเอกชนในประเทศ ที่บังคงกดดันให้ตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯในช่วงไตรมาสมาสแรกของปีนี้ ที่ผ่านมาโดยรวมแล้วยังคงถือได้ว่าอยู่ในแนวโน้มที่เป็นลบต่อเนื่อง โดยตัวเลข GDP ของสหรัฐฯยังคงได้สะท้อนถึงทิศทางการหดตัวลงต่อเนื่องของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม โดยที่ปัจจัยลบหลักๆที่กดดันภาพรวมเศรษฐกิจมาจาก การหดตัวลงในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่องของภาคการลงทุนของสหรัฐฯ เนื่องจากการขาดความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการต่อภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และยังรวมไปถึงสภาพคล่องในระบบการเงินที่อยู่ในภาวะตึงตัวต่อเนื่อง ซึ่งทั้งหมดเป็นเหตุผลสำคัญที่ส่งผลให้ ภาคการลงทุนของสหรัฐฯมีการชะลอตัวลงอย่างรุนแรง และทำให้การหดตัวลงของการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสที่ผ่านมา ได้ส่งผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ (Contribution to Real GDP Growth) ให้มีการปรับลดลงถึง-8.83% จากการหดตัวลงทั้งหมด -6.1% ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่ส่งผลลบต่อภาพรวมของตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ผ่านมาอย่างมาก

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจัยหลายๆตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯในด้านอื่นเริ่มมีการส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านของภาคการบริโภคในประเทศที่มีการขยายตัวขึ้นจากในไตรมาสก่อนหน้า และยังรวมไปถึงการลดลงค่อนข้างมากของสินค้าคงคลัง ซึ่งจะส่งผลให้แนวโน้มในช่วงถัดไป ผู้ประกอบการน่าจะเริ่มมีการสะสมสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับปกติมากขึ้น (Restocking) ซึ่งจะส่งผลบวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจให้มีการฟื้นตัวได้ในระยะถัดไป โดยตัวเลขการบริโภคของภาคเอกชนในประเทศของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ผ่านมา ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2.2% qoq ซึ่งเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นบวก ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ไตรมาส ซึ่งมองว่าเป็นสัญญาณการปรับตัวของภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้นอย่างมาก เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ มีสัดส่วนโดยประมาณกว่า 70% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมด ซึ่งทำให้การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของภาคเอกชนในสหรัฐฯนั้น ถือได้ว่ามีน้ำหนักมากในการกำหนดทิศทางของภาพรวมเศรษฐกิจ

และยิ่งเมื่อประกอบไปกับการที่สินค้าคงคลังของสหรัฐฯในไตรมาสที่ผ่านมามีการปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงถึงกว่า 103.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ประกอบการต่างๆได้มีการลดการสะสมสินค้าคงคลังลง โดยมีการการเก็บเงินสดไว้สร้างสภาพคล่อง เพื่อเตรียมรับกับสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจทีมีความผันผวนสูงในช่วง 2-3 ไตรมาสที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มในช่วงถัดไป ทางผู้ประกอบการและผู้ผลิตต่างๆน่าจะมีการเริ่มกลับมารักษาระดับสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับปกติมากขึ้น (Restocking) เนื่องจากปัจจัยทั้งในด้านของสินค้าคงคลังที่ต่ำอย่างมากเองแล้ว ยังรวมไปถึงการที่แนวโน้มของภาคการบริโภคของสหรัฐฯ เริ่มเข้าสู่ระดับที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งทั้งหมด เชื่อว่าจะทำให้เกิดการสะสมสินค้าคงคลังเพิ่มขึ้น ซึ่งถือได้ว่าจะเป็นปัจจัยบวกกับภาพรวมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในระยะสั้น และยังรวมไปถึงภาคการค้าของโลกที่จะได้รับปัจจัยบวกโดยตรง เนื่องจากสหรัฐฯถือได้ว่าเป็นประเทศนำเข้ารายใหญ่ที่สุดของโลก

ดังนั้นโดยสรุปแล้ว คาดว่าภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯในช่วงถัดไปของ 2552 น่าจะเริ่มมีแนวโน้มชะลอในการปรับลดลงในอัตราเร่งต่อเนื่องลงโดยคาดว่าภาพรวมจะเริ่มมีการปรับตัวได้ดีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2552 แต่อย่างไรก็ตามโดยรวมทั้งปีแล้ว ยังคงคาดว่าน่าจะยังคงเป็นการหดตัวลงโดยตลอดทั้งปี โดยล่าสุดทางธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวลงโดยเฉลี่ยประมาณ 0.5-1.3% ในปี 2552 มากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ที่คาดว่าจะหดตัวเพียง 0.2-1.1% โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวตลอดทั้งปี 2552 ซึ่งเป็นสถิติที่หดตัวทั้งปีเป็นครั้งแรกในรอบ8 ปี และคาดว่าอัตราว่างงานในสหรัฐจะพุ่งขึ้นสู่ระดับ 8.5-8.8% สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 7.1-7.6%

Fed เริ่มเห็นสัญญาณเสถียรภาพศก.
ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ที่กรอบ 0-0.25 % ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยในกรอบเดิมต่อเนื่องกันนับตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ในการประชุมครั้งนี้ Fed ได้ระบุในแถลงการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจมีลักษณะหดตัวในอัตราที่ชะลอลงโดยเฉพาะการใช้จ่ายครัวเรือนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าจะได้รับแรงกดดันจากอัตราว่างงานซึ่งยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับมูลค่าบ้านที่ลดลงและภาวะสินเชื่อที่ตึงตัว อย่างไรก็ตาม Fed เห็นสัญญาณแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา ในด้านของเงินเฟ้อนั้น Fed คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อนั้นมีแนวโน้มลดลงและประเมินว่าเงินเฟ้อนั้นจะยังคงอยู่ในระบบเศรษฐกิจแต่จะอยู่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวรวมทั้งระดับราคามีเสถียรภาพในระยะยาว

โดยจากแถลงการณ์ล่าสุดของ Fed สะท้อนให้เห็นว่า 1) Fed ไม่กังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อมากเท่าที่ควรนัก แม้ว่า Fed จะใช้นโยบายการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing: QE) จนเป็นผลให้งบดุลของ Fed ขยายสูงถึง 9 % ของ GDP ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมาหรือเพิ่มสูงขึ้น 2.36 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2550 2) Fed ระบุว่าเริ่มเห็นสัญญาณของเสถียรภาพของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแง่ที่ว่าอัตราการหดตัวของเศรษฐกิจมีอัตราการหดตัวที่ชะลอลง รวมทั้งการใช้จ่ายครัวเรือนเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้นแม้ว่าอัตราการว่างงานยังคงถีบตัวสูงอย่างต่อเนื่องความมั่งคั่งของครัวเรือนลดลงเพราะราคาบ้านลดลงและภาวะตลาดสินเชื่อตึงตัว ซึ่งประเมินว่านั่นคือสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นมีแนวโน้มที่จะแตะที่จุดต่ำสุดในระยะเวลาอันใกล้ แต่ไม่ควรสับสนว่าเมื่อถึงจุดต่ำสุดแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะฟื้นตัวในลักษณะรูปตัว V ทันที ตราบใดที่ภาวะตลาดสินเชื่อนั้นยังไม่ฟื้นฟูอย่างเต็มที่ เพราะรูปแบบการฟื้นตัวอาจจะเป็นรูปตัว U หรือ W ก็ได้

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย มีความกังวลในเรื่องแนวโน้มเงินเฟ้อในอนาคต ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจาก Fed เพราะ ประเมินว่าด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายค่อนข้างมากควบคู่ไปกับนโยบายการคลังที่กระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาลของสหรัฐอเมริกาและชาติต่างๆทั่วโลกจะส่งผลต่อแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อให้กลับมาทะยานขึ้นในระดับสูงได้โดยเฉพาะถ้าตลาดสินเชื่อกลับมาทำงานตามภาวะปกติ


กำลังโหลดความคิดเห็น