xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึกซี่รี่ส์เกาหลี ทำไมกองทุนที่ไปลงทุนในเกาหลีใต้จึงได้รับความนิยมมาก?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์คอลัมน์ Desire your Live by mutual Fund
บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน นครหลวงไทย จำกัด
www.sci-asset.com
โทรศัพท์ 0-2624-8555


คงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเกาะกระแสความฮ็อตฮิตของหนังซี่รี่ส์เกาหลีเท่านั้น แต่กองทุนที่ออกเสนอขายกันมากๆ ช่วงนี้ ซึ่งเน้นลงทุนในเกาหลีใต้มีความโดดเด่นด้านอัตราผลตอบแทนซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารและอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีระยะเวลาการลงทุนเท่าๆกัน ค่อนข้างมาก

ลงทุนอะไร? ทำไมจึงได้ผลตอบแทนสูง?
•เน้นลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ของธนาคารภาครัฐในประเทศเกาหลีใต้ ที่นิยมกัน ได้แก่ The Export-Import Bank of Korea (K-Exim), The Korean Development Bank (KDB), The Industrial Bank of Korea (IBK) ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศระยะยาวในระดับเดียวกับรัฐบาลเกาหลีใต้ เนื่องจากภาครัฐของเกาหลีใต้เป็นผู้ถือหุ้นหลักและเป็นผู้ค้ำประกัน โดยพฤตินัย ตามกฎหมายเฉพาะจัดตั้งธนาคารที่ระบุว่ารัฐบาลเกาหลีใต้มีพันธะที่จะต้องเพิ่มทุนให้เมื่อธนาคารเหล่านั้นมีส่วนทุนเป็นลบ

- รัฐบาลเกาหลีใต้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Rating) ในระดับที่สูงกว่ารัฐบาลไทย โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2552 Fitch เพิ่งปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยลงจาก BBB+/แนวโน้มเชิงลบ เป็น BBB/แนวโน้มคงที่

- เศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้พึ่งพาภาคส่งออกถึง 60% จึงมีรายได้ในหลักรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ส่งออกในประเทศเกาหลีใต้ จึงกู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ทำให้โดยรวมทั้งประเทศมีหนี้สินในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ค่อนข้างมาก และเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับทุนสำรองระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าเกาหลีใต้จะมีทุนสำรองสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลกและส่วนใหญ่ (>80%) อยู่ในรูปของตราสารที่มีสภาพคล่องสูง (เช่น เงินฝาก พันธบัตรรัฐบาลและองค์กรภาครัฐ) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลว่าผู้กู้ในเกาหลีใต้อาจไม่สามารถหาเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ มาชำระหนี้เงินกู้ได้ เมื่อครบกำหนด


- ถ้าวิเคราะห์ภาระหนี้เงินกู้ต่างประเทศของเกาหลีใต้โดยละเอียดจะเห็นว่าไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

- ยอดหนี้เงินกู้สกุลเงินต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2551 มีทั้งหมด 380.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นหนี้ระยะสั้นที่ครบกำหนดในปี 2552 จำนวน 151 พันล้านเหรียญสหรัฐ

- มีสัดส่วนหนึ่งในสามที่เป็นหนี้ของบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งเกิดจากการกู้เพื่อผลิตสินค้าส่งออกไปขายยังหลายประเทศทั่วโลก จึงนับว่ามีการกระจายความเสี่ยง และได้รับรายได้ในรูปสกุลเงินต่างประเทศสามารถนำมาชำระหนี้ได้ จึงไม่น่ากังวลนัก อีกสองในสามเป็นหนี้ของสถาบันการเงิน โดยครึ่งหนึ่งเป็นหนี้ของสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นภาระของธนาคารแม่ในต่างประเทศที่จะต้องหาเงินมาชำระหนี้ คงเหลือเพียง 1 ใน 6 ของหนี้ระยะสั้นทั้งหมดที่เป็นภาระของธนาคารพาณิชย์ในเกาหลีใต้ ซึ่งได้มีการจัดการสินทรัพย์และหนี้สินระยะสั้นอย่างเหมาะสม (ดังแสดงในภาพด้านล่าง) จะเห็นได้ว่าสินทรัพย์ระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศมีจำนวนเท่าๆ กันกับหนี้สินระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศพอดี จึงไม่ต้องกังวลว่าจะหาเงินสกุลต่างประเทศมาชำระหนี้ไม่ได้

- ตัวเลขดุลการค้า, ดุลบัญชีเดินสะพัด และทุนสำรองระหว่างประเทศของเกาหลีใต้ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดในเดือนมี.ค.52 เกาหลีใต้เกินดุลการค้า 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ และรัฐบาลเกาหลีใต้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี 52 จะเกินดุล 13 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่หนี้ต่างประเทศระยะสั้นลดลงต่อเนื่อง โดยล่าสุดทุนสำรองระหว่างประเทศซึ่งมีประมาณ 206 พันล้านเหรียญสหรัฐ

- รัฐบาลเกาหลีใต้ได้รับวงเงินในการแลกเปลี่ยนเงินวอนเป็นสกุลเงินต่างประเทศจากธนาคารกลางสหรัฐ ญี่ปุ่น และจีน รวมประมาณ 90 พันล้านเหรียญสหรัฐ (หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ครบกำหนดในปีนี้) และไม่จำกัดวงเงินจาก IMF จึงทำให้ความกังวลว่ารัฐบาลเกาหลีใต้จะไม่สามารถแลกเงินวอนเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดได้นั้น ลดต่ำลงมาก

- ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นมาก สะท้อนได้จากค่าเงินวอนที่แข็งค่าขึ้นจากระดับ 1,571 วอน/ดอลลาร์สหรัฐ ณ ต้น มี.ค.52 มาอยู่ที่ 1,350 วอน/ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน หรือประมาณ 14% ในช่วง 1 เดือน และมีเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ในช่วง 1 ม.ค.-21 เม.ย.52 ประมาณ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสูงที่สุดในภูมิภาค ทำให้ดัชนี KOSPI ปรับเพิ่มขึ้น 20.6% (ในขณะที่ SET ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน) การที่นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมเงินของธนาคารในเกาหลีใต้ปรับลดลงต่อเนื่อง กองทุนที่ออกเสนอขายในระยะหลังๆ จึงได้รับอัตราผลตอบแทนลดลงตามไปด้วยเช่นกัน

ความเสี่ยงเป็นอย่างไร?
- กองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงที่ผู้ออกตราสารอาจไม่สามารถชำระหนี้ได้เมื่อครบกำหนด ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

- ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

เนื่องจาก กองทุนส่วนใหญ่ได้ทำการป้องกันความเสี่ยงด้านนี้ โดยการล็อคอัตราแลกเปลี่ยนจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นบาทไว้ล่วงหน้าสำหรับจำนวนเงินที่จะได้รับในอนาคตทั้งจำนวนผ่านธุรกรรมฟอร์เวิร์ด จึงทำให้กองทุนไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

- ความเสี่ยงจากการที่คู่สัญญาธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอาจไม่ปฏิบัติตามสัญญาได้ แต่เนื่องจากกองทุนส่วนใหญ่ทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งมีความมั่นคงสูง จึงทำให้ความเสี่ยงในด้านนี้ค่อนข้างต่ำ

โดยสรุปแล้ว ความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนเกาหลีใต้ดังที่กล่าวมาข้างต้น นับว่าไม่มากนัก ถ้าคุณเป็นคนที่สามารถรับความเสี่ยงได้บ้าง เพื่อแลกกับอัตราผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนภายในประเทศ ก็ถือว่าคุ้มค่า อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุนค่ะ

หากท่านสนใจและมองหาทางเลือกให้เงินออมในภาวะดอกเบี้ยต่ำ มาเปลี่ยนใจใช้กองทุนรวมในงาน SET in the city Zone@ Money Expo 2009 วันที่ 7-10 พ.ค. 52 ณ Meeting Room 3 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
กำลังโหลดความคิดเห็น