ขึ้นชื่อว่า “อิตาลี” หลายคนคงนึกถึงประเทศที่มีภูมิประเทศคล้ายรองเท้าบูท หรือไม่อาจจะนึกถึงเมืองเวนิส ซึ่งในอดีตประเทศไทยเองเคยถูกขนานนามจากชาวตะวันตกว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” นั่นเอง ส่วนผู้ชายคงหนีไม่พ้นฟุตบอลอิตาลีอย่างกัลโช่ เซเรีย อา ที่ยังถือว่าเป็นลีกฟุตบอลในระดับแนวหน้าของโลกอยู่ แม้ว่าในปัจจุบันอาจจะถูกลีกพรีเมียร์ชิปของอังกฤษที่ยกระดับขึ้นมาจนขึ้นชั้นเป็นลีกที่แข็งแกร่งกว่าแล้วก็ตาม
ส่วนในทางเศรษฐกิจนั้น อิตาลีเป็นประเทศในกลุ่ม G7 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อันดับ 7 ของโลก หรือกว่า 2.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่าประเทศไทยประมาณ 9 เท่า และสถาบันการเงินส่วนใหญ่ของอิตาลี ไม่ได้ลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อซับไพรม์ จึงทำให้อิตาลีไม่ได้รับผลกระทบเหมือนประเทศอื่นๆ ในยุโรป รวมทั้งยังเป็นสมาชิกของ Europe Monetary Union (EMU) ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศยุโรปที่มีความแข็งแกร่งทางการเงิน ถือเป็นสิ่งที่ยังช่วยเสริมความมั่นคงทางการเงินของอิตาลีได้เป็นอย่างดีด้วย
จึงไม่น่าแปลกใจหากจะเห็นว่าในช่วงนี้หลายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เริ่มหันเหไปลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศอิตาลีกันมากขึ้น ซึ่งไล่มาตั้งแต่ บลจ.ไทยพาณิชย์ กสิกรไทย และล่าสุดเป็นของ บลจ.บัวหลวงนั่นเอง จากที่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐของประเทศเกาหลีใต้เป็นหลัก ขณะที่ตราสารหนี้ของเดนมาร์กมีออกมาบ้างเช่นกัน
วันนี้ คอลัมน์ “MutualFund IPO” ขอพามาดูกองทุนที่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 1/09 (BP1/09) และกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 2/09 (BP2/09 ที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เช่น ตราสารหนี้ภาครัฐของประเทศอิตาลี โดยจะพามาพบกับ มุมมองของผู้บริหาร และเหตุผลว่ากองทุนนี้มีความน่าสนใจอย่างไร รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐของประเทศดังกล่าวด้วย
วศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เล่าให้ฟังว่า บริษัทได้เปิดขายกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐของประเทศอิตาลีจำนวน 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 1/09 (BP1/09) มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 2 ปี 3-4 เดือน และกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 2/09 (BP2/09) มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท อายุโครงการประมาณ 5-6 เดือน ซึ่งได้เปิดขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) และครั้งเดียวระหว่างวันที่ 17 – 24 เมษายน 2552 และมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท
สาเหตุที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐของประเทศอิตาลี เนื่องจากผลตอบแทนของตราสารหนี้ดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง และอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) แล้วยังดีกว่าประเทศไทย โดยบริษัทได้เสนอขายพร้อมกัน 2 กองทุน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน หากมองว่าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวลดลง นักลงทุนก็สามารถเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 2/09 ที่มีอายุโครงการยาวนานถึง 2 ปีได้
ขณะเดียวกัน ยังเป็นการออกกองทุนมาเพื่อทดลองตลาดด้วย หากได้รับผลการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน บริษัทก็เปิดขายกองทุนประเภทดังกล่าวออกมาอีก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนตราสารหนี้ภาครัฐของอิตาลีจะมีค่อนข้างน้อย แต่เชื่อว่าจะไม่ประสบกับปัญหาในการหาตราสารหนี้มาลงทุนแต่อย่างใด
“อิตาลีถือว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวบ้าง แต่ก็เป็นประเทศที่มีสถาบันการเงินที่แข็งแกร่ง และไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ นอกจากนี้ หนี้สินภาคครัวเรือนของประเทศยังมีค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน” วศิน บอกทิ้งท้าย
สำหรับกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 1/09 จะลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (Foreign Investment Fund) โดยลงทุนในตราสารภาครัฐต่างประเทศ และ/หรือตราสารที่ออก โดยรัฐวิสาหกิจ และ/หรือสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งผู้ออกหรือตราสารได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตั้งแต่ A- ขึ้นไป ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้ รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives contract) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด หรือให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ กองทุนจะไม่ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) รวมถึงตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) แต่อย่างไรก็ตาม กองทุนอาจมีไว้ซึ่งตราสารแห่งหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (non-investment grade) เฉพาะกรณีที่ตราสารแห่งหนี้นั้นได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) ขณะที่กองทุนลงทุนเท่านั้น
ส่วนกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 2/09 จะลงทุนในตราสารหนี้ที่เสนอขายในต่างประเทศมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน (Foreign Investment Fund) โดยเน้นลงทุนในตราสารภาครัฐต่างประเทศ และ/หรือตราสารที่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ และ/หรือสถาบันการเงินต่างประเทศ ซึ่งผู้ออกหรือตราสารได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ตั้งแต่ A- ขึ้นไป ส่วนที่เหลืออาจพิจารณาลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นทั้งในและต่างประเทศ
อนึ่ง การลงทุนในประเทศ จะเป็นการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงานรอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่องของกองทุน หรือสำหรับการอื่นใดที่มีลักษณะทำนองเดียวกันนี้ โดยจะเป็นการลงทุนในตราสารแห่งหนี้หรือเงินฝากที่มีอายุของตราสารหรือสัญญาหรือระยะเวลาการฝากเงินไม่เกินหนึ่งปี และ/หรือลงทุนในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นหรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต. ประกาศกำหนดหรือเห็นชอบให้กองทุนลงทุนได้
ทั้งนี้ กองทุนอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives contract) เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด หรือให้ความเห็นชอบเช่นกัน
...สำหรับนักลงทุนท่านใดที่สนใจกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 1/09 (BP1/09) และกองทุนรวมบัวหลวงธนสารพลัส 2/09 (BP2/09)...บลจ.บัวหลวง จะเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) และครั้งเดียว ระหว่างวันที่ 17 – 24 เมษายน 2552 ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท...สอบถามและติดต่อจองซื้อหน่วยลงทุนได้ที่สาขาธนาคารกรุงเทพทั่วประเทศ หรือ บลจ.บัวหลวง โทร 0 2674 6488 กด 8 หรือที่เว็บไซต์ www.bblam.co.th