xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองไทยร้อนระอุ ปัจจัยฉุดความเชื่อมั่น-เศรษฐกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่เป็นปัญหาทางการเมือง และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจของไทยนั้น ทางสถาบันวิจัยนครหลวงไทย มองว่า สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ยกระดับเป็นการจลาจล จนทำให้รัฐบาลต้องตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เป็นผลให้ระดับความเสี่ยงของการเมืองปรับเพิ่มขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว และทำให้โอกาสที่รัฐบาลต้องเลือกแนวทางการยุบสภาในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองมีเพิ่มขึ้นในปี 2552 โดยทิศทางการเมืองในระยะสั้นนั้น การที่รัฐบาลสามารถจัดการกับการจลาจลส่งผลให้ผู้ชุมนุมมีการสลายตัวในวันที่ 14 เม.ย. ได้ โดยกลยุทธ์สำคัญที่รัฐบาลใช้ คือ ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลตลอดเวลาที่รัฐบาลสลายกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐบาลมีความได้เปรียบทางการเมืองเพิ่มขึ้น

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเมินว่า สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในครั้งประวัติศาสตร์นี้จะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2552 – 2553 เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ในขณะที่ภาคการบริโภคและการลงทุนของเอกชนมีความเสี่ยงปรับลดลงเช่นกัน จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะปรับลดลงอีกครั้ง รวมถึงอัตราการว่างงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในการรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจอาจมีความเสี่ยงหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นเช่นการยุบสภาโดยคาดว่าผลกระทบจะต่อเนื่องถึงปี 2553

ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยคาดว่าจะถูกกดดันจากปัจจัยความเสี่ยงด้านการเมืองเพิ่มขึ้นในระยะกลาง-ยาวเช่นกัน และคาดว่าจะเป็นผลให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค (Underperform) โดย SCRI ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีฯในปี 2552 ไว้ที่ระดับ 364-483 จุด แนะนำซื้อลงทุนในหุ้น Defensive ที่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ต่อเนื่อง ได้แก่ EGCO GLOW BEC GRAMMYBCP-DR1 ADVANC

ไทยเสี่ยงที่จะถูกลดเครดิตลงอีก
หลังจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในช่วงวันหยุดยาว ส่งผลให้ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออย่างS&P ออกมาปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือสกุลเงินบาทลงสู่ระดับ A- จาก A และคงมุมมองในเชิงลบ(negative) โดยนอกจากนี้ S&P ยังได้ปรับมุมมองบริษัท Advanced info service (AIS) จาก Stable เป็นNegative ซึ่งเป็นการสะท้อนถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจหากการเมืองไร้เสถียรภาพและ ได้ปรับลดอันดับเครดิตสกุลเงินในบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับภาครัฐฯ อาทิ EGAT และ PTT (จาก A- เป็น BBB+)
รวมถึงปรับลดอันดับความเสี่ยงคู่ค้าในธุรกิจประกันภัยอีก 3 บริษัท
ทั้งนี้ไทยยังคงมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดอันดับเครดิตได้อีกในอนาคตจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่างๆ (Moody’s และ FITCH เป็นต้น) เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งนำไปสู่การแตกแยกของมวลชนซึ่งปัญหานี้จะต้องอาศัยระยะเวลาในการแก้ไขปัญหานอกจากนี้ ผลกระทบจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือนอกจากกระทบความเชื่อมั่นแล้วยังคงส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลกำลังเตรียมแผนที่จะกู้เงินจากต่างประเทศเพี่อที่จะเป็นแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยาว ตามแผนในช่วงปี 2552 – 2555 ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น 1.56 ล้านล้านบาท

ธุรกิจท่องเที่ยวอาจลดการจ้างงาน
ผลจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศในปี 2552 จะลดลงไม่ต่ำกว่า 15 - 18% yoy เท่ากับประมาณ 12.5 - 12 ล้านคน ซึ่งจะสะท้อนระดับที่ลดลงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์และลดลงมากกว่าช่วงที่ SARS ระบาดในปี 2546 ที่ลดลงเพียง 7% อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับกรอบประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวที่ SCRI ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้ที่ 13.8 – 12.4 ล้านคนหรือสะท้อนระดับการลดลง 5 – 15% yoy มีแนวโน้มที่จะเป็นลบมากขึ้นและมีความเป็นอนุรักษ์นิยมมากว่า ททท.และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่คาดไว้ที่ 12.8 ล้านคน

ทั้งนี้การออก Travel Warning จาก 19 ประเทศเป็นแรงกดดันหลักต่อกลุ่มท่องเที่ยว ซึ่งผลจากการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นผลให้เกิดการออกเตือนการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย (Travel Warning) จากล่าสุด 19 ประเทศ เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ รัสเซีย และฮ่องกง ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันจำนวนนักท่องเที่ยวของไตรมาส 2 ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ว่าจะมีการปรับประกาศยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คาดว่าการฟื้นตัวจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสนี้แต่มีความเป็นได้ที่จะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 4

อย่างไรก็ตามมีการประเมินถึงกรณีที่ร้ายแรงที่สุดที่จะกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวในปี 2552 คือ จะเสียหายเป็นเม็ดเงินมากที่สุดที่ 200,000 ล้านบาท บนสมมุติฐานของจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง 15% yoy ซึ่งในเบื้องต้นแล้วจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ลดลง 0.5%: จากการประเมินในเบื้องต้นภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวมแล้วจะได้รับผลกระทบโดยตรงอยู่ในขอบเขตประมาณ 150,000 - 200,000 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าจะส่งผลกระทบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ0.35 – 0.5% อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องประเมินและจับตาในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิดว่าจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าถ้าสถานการณ์ทางการเมืองยังคงมีความรุนแรงและยืดเยื้อต่อเนื่องออกไป อาจจะต้องมีการปรับประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจลงอีกก็เป็นได้

กู้ยืมเงินลงทุนโครงการยากขึ้น
แม้สถานการณ์การเมืองจะเริ่มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม แต่เสี่ยงทางการเมืองยังคงมีอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะภาพของรัฐบาลในอนาคตนอกจากนี้ การลดอันดับความน่าเชื่อถือภายในประเทศของสถาบันจัดอันดับของโลกอย่าง S&P จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ให้กู้ยืมเงินอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการกู้ยืมส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือ รัฐบาลต่อสถาบันการเงิน อาทิเช่น รัฐบาลไทยกู้ยืมเงินจาก JICA และ World bank ดังนั้น โครงการ Megaproject ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขอกู้ยืม อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต เป็นต้นจึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีความล่าช้าออกไปอีกไม่น้อยกว่า 2 ไตรมาส ในการสร้างระบบรัฐบาลให้เข้าที่ และสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ให้กู้ อีกทั้ง ต้นทุนทางการเงินที่ขยับขึ้น อาจทำให้รัฐบาลต้องประเมินงบการลงทุนในโครงการดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

ตลาดหุ้นไทยเสี่ยงที่จะถูกลดพอร์ต
จากการรายงานกลยุทธ์ฉบับ “Thailand under structural political crisis” ในวันที่ เมษายน 2552 ประเมินว่าหากมีการจลาจลแต่รัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ (กรณีที่ 2) จะส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงและปรับตัวเพิ่มขึ้น (V–Shape) แต่ทว่าการจลาจลได้เกิดขึ้นในช่วงวันหยุด และรัฐบาลสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ประกอบกับมีประเด็นความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหลังจากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือปรับลดอันดับ ทำให้มีการประเมินถึงความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่นักลงทุนต่างชาติจะลดพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นไทยลงเพื่อสะท้อนการปัจจัยลบดังกล่าว ดังนั้นถึงแม้ว่าจะมีการไหลเข้าของเงินลงทุนในภูมิภาคเอเชีย ตลาดหุ้นไทยจะยังคง Under perform ตลาดภูมิภาค โดย SCRI ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีฯในปี 2552ไว้ที่ระดับ 364-483 จุด
กำลังโหลดความคิดเห็น