xs
xsm
sm
md
lg

ยูโอบีชี้ขั่นต่ำกองอสังหา1พันล. ไม่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องซื้อ-ขาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ยูโอบี (ไทย) ชี้ เพิ่มขนาดขั้นต่ำกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ที่ 1,000 ล้านบาท ไม่ช่วยเพิ่มภาพคล่องการซื้อขายในตลาดได้ ระบุต้องขนาด 10,000 ล้านบาทถึงจะช่วยได้ ย้ำสภาพคล่องมาจากผู้ถือหน่วย ถ้าไม่ขายก็ไม่เกิด ดังนั้น จึงหนุนให้กระจายหน่วยลงทุนให้ทั่วถึงมากกว่า ส่วนการแยกหมวดพร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ชัดเจน ช่วยเพิ่มความชัดเจนได้

นายวนา พูลผล
นายวนา พูลผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ยูโอบี (ไทย) จำกัด เปิดเผยว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวคิดที่จะเพิ่มขนาดขั้นต่ำของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) เป็น 1,000 ล้านบาทจากเดิม 500 ล้านบาทนั้น ไม่สามารถช่วยเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายได้ เนื่องจากหากต้องการเพิ่มสภาพคล่องกองทุนจะต้องมีขนาดกองทุนขั้นต่ำที่ 10,000 ล้านบาทขึ้นไป และในปัจจุบัน กองทุนที่มีขนาดตั้งแต่ 1,500 ล้านบาทล้วนมีสภาพคล่องไม่แตกต่างจากกองทุนที่มีขนาด 600 ล้านบาทมากนัก

สำหรับปัจจัยสำคัญในการเพิ่มสภาพคล่องการซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์น่าจะอยู่ที่ช่องทางการขาย และสามารถกระจายหน่วยลงทุนไปยังผู้ถือหน่วยลงทุนในช่วงเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (ไอพีโอ) ได้อย่างทั่วถึงตั้งแต่ 1,000 รายขึ้นไป ไม่ใช่มีจำนวนแค่ 20 รายเท่านั้น นอกจากนี้ ยังต้องดูที่พฤติกรรมของผู้ถือหน่วยลงทุนว่าจะมีถือครองหน่วยลงทุนในระยะยาวนานเพียงใด

ทั้งนี้ หากผู้ถือหน่วยลงทุนต้องการเก็บหน่วยลงทุนไว้ในระยะยาว แม้ว่าจะมีการกำหนดขั้นต่ำในการจัดตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไว้ที่เท่าใดก็ไม่มีประโยชน์แต่อย่างใด เนื่องจากสภาพคล่องในการซื้อขายนั้นเกิดจากคนถือครองหน่วยลงทุนเป็นหลัก หากพฤติกรรมของนักลงทุนยังต้องการถือครองไว้ระยะยาว ขนาดของกองทุนก็จะมีส่วนต่อการเพิ่มสภาพคล่องในการซื้อขายน้อยมาก

นายวนา กล่าวว่า การที่แยกหุ้นในหมวดกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ออกมาจากหุ้นในหมวดกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมาจะช่วยในเรื่องทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนประโยชน์ในด้านอื่นต้องระยะเวลาจึงจะเห็นผลดีอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกัน บลจ.ยูโอบี (ไทย) ยังอยู่ในระหว่างการเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนสำหรับรอบระยะการลงทุนใหม่(โรลโอเวอร์)ของกองทุนตราสารหนี้ ได้แก่ กองทุนเปิดยูโอบี มันนี่ ฟันด์ 1 (UOB MONEY FUND 1 : UOBMF1) มูลค่าโครงการประมาณ 2,000 ล้านบาท เน้นลงทุนในตราสารหนี้ และเงินฝาก โดยได้เปิดจองให้นักลงทุนสามารถซื้ออีกครั้งในวันที่ 8 - 10 เมษายน 2552 และมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท

สำหรับกองทุนเปิดยูโอบี มันนี่ ฟันด์ 1 มีนโยบายมุ่งลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก เพื่อลดความผันผวนของการลงทุนจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย โดยคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝากประจำระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้จะไม่ลงทุนหรือมีไว้ในในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) ตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Notes) และหลักทรัพย์ หรือตราสารที่เสนอขายในต่างประเทศ

ส่วนผลการดำเนินงานสิ้นสุด ณ วันที่ 27 มีนาคม 2552 มีดังนี้ โดยกองทุนนี้สามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 เดือนอยู่ที่ 1.95% เมื่อเทียบกับดัชนีมาตรฐานกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 3 เดือนที่ -6.13% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 3 เดือนที่ 1.46% ผลตอบแทนย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ 2.55% เมื่อเทียบกับดัชนีมาตรฐานกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 6 เดือนที่ 9.39% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 6 เดือนที่ 2.04%

ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปีอยู่ที่ 2.69% เมื่อเทียบกับดัชนีมาตรฐานกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 1 ปีที่ 6.26% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 1 ปีที่ 2.33% ผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปีอยู่ที่ 3.43% เมื่อเทียบกับดัชนีมาตรฐานกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลัง 3 ปีที่ 5.91% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลัง 3 ปีที่ 2.92% และสามารถให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 1.90% เมื่อเทียบกับดัชนีมาตรฐานกองทุนตราสารหนี้ย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีที่ -7.48% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีที่ 1.44%
กำลังโหลดความคิดเห็น