xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางศก.มะกันยังไม่สดใส แม้ตัวเลขภาคการผลิต-อสังหาฯฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ว่าหลายฝ่ายจะมองว่าภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกากำลังเข้าสู่การนับถอยหลังไปยังจุดต่ำสุดของวิกฤติการณ์ แต่ก็ไม่มีใครสามารถบ่งบอกได้ว่าจุดต่ำสุดมาถึงหรือยัง และแม้ว่าตัวเลขภาคการผลิต และอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯที่ออกมาล่าสุดจะออกมาดีขึ้น แต่ยังไม่เห็นถึงการฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของภาคการผลิต และอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ภายในช่วงปี 2552 เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงถือได้ว่ามีความเสี่ยงอยู่สูงในขณะนี้ ขณะที่ ECP มีการปรับลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นการสะท้อนทิศทางการลดลงที่ใกล้ถึงจุดต่ำสุด

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย (SCRI) รายงานถึงภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ ล่าสุดว่า ตัวเลขในภาคการผลิต และอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ออกมาปรับตัวดีขึ้นกว่าคาดการณ์ของตลาด โดยระบุว่าสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของโรงงานทั่วประเทศของสหรัฐในเดือนมีนาคม 2552 เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ไปอยู่ที่ระดับ 36.3 จุด จากเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ระดับ 35.8 จุด มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มขึ้นไปที่ระดับ 36.0 จุด แต่อย่างไรก็ตามดัชนีที่ยังคงเป็นการทรงตัวอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ซึ่งยังคงบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวในภาคการผลิต

ส่วนดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขายของสหรัฐฯ (Pending home sales) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ปรับขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.1% mom อยู่ที่ระดับ 82.1 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือนก่อนหน้าที่หดตัวลงไปกว่า -7.7% mom และยังเป็นการปรับตัวดีขึ้นกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย จะยังคงทรงตัวที่ 0.0% mom

ขณะที่ภาคการผลิตของสหรัฐฯ เริ่มกลับมาทรงตัวได้ต่อเนื่อง ตามภาพรวมของความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่เริ่มกลับมามีมุมมองเป็นบวกกับแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยสถาบันวิจัยนครหลวงไทยประเมินภาพโดยรวมของภาคการผลิตของสหรัฐฯ คาดว่าได้เริ่มกลับมาอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากที่มีการปรับเพิ่มขึ้นของดัชนีในภาคการผลิตต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน

โดยสถาบันวิจัยนครหลวงไทยประเมินว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ภาคการผลิตเป็นการปรับตัวดีขึ้น มาจากทางผู้ประกอบการเริ่มมีมุมมองต่อแนวโน้มของธุรกิจดีขึ้น โดยมองว่าอย่างน้อยแล้วจะสามารถที่จะประคองธุรกิจให้สามารถที่จะพ้นจากช่วงของการถดถอยไปได้ แม้ว่าในด้านของยอดขายในตลาดจะมีการหดตัวลงต่อเนื่องก็ตาม โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากต้นทุนทางการเงินที่ลดต่ำลงอย่างมาก รวมไปถึงแนวโน้มในด้านของสภาพคล่องที่มีการปรับตัวดีขึ้น หลังจากทางธนาคารกลางสหรัฐ (FED) มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอีกกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ยังคงมีมุมองต่อภาคการผลิตของสหรัฐฯว่าจะยังคงแค่เป็นการทรงตัวในระดับต่ำต่อเนื่องเท่านั้น โดยคาดว่าจะยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงปี 2552 เนื่องจากโดยปัจจัยพื้นฐานของภาคการผลิตสหรัฐฯเองแล้วยังคงมีปัจจัยลบเข้ามากระทบเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านของภาคอุปสงค์ทั้งจากในและนอกประเทศสหรัฐฯที่ยังคงเห็นสัญญาณการถดถอยลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ช่วงภาวะถดถอย รวมไปถึงในด้านของสภาพคล่องที่อาจจะเข้าสู่สภาวะตึงตัวมากขึ้น หลังจากสถาบันการเงินในสหรัฐฯกำลังตกอยู่ในช่วงการถดถอยลงอย่างรุนแรง ดังนั้นโดยสรุปแล้วถึงแม้ภาพรวมของภาคการผลิตของสหรัฐฯจะดูดีขึ้น จากทิศทางการทรงตัวของดัชนีในภาคการผลิตในช่วง 3 เดือนหลังสุด แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงคาดว่าจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของภาคการผลิตได้ในช่วงปี 2552

ดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้านที่รอการปิดขาย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ย้ำถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมของตลาดอสังหาฯของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ดัชนีที่บ่งชี้ในภาคอสังหาฯได้มีการปรับตัวดีขึ้นเกือบทุกตัว ทั้งในด้านของยอดขายบ้านมือสอง ยอดขายบ้านใหม่ รวมไปถึงดัชนีการทำสัญญาซื้อบ้าน ที่ประกาศออกมาในช่วงเมื่อวาน ซึ่งสถาบันวิจัยนครหลวงไทยคาดว่าการปรับตัวดีขึ้นในภาพรวม มีสาเหตุมาจากการที่ประชาชนเข้าซื้อบ้านในช่วงที่ราคาบ้านตกต่ำลงอย่างมาก

ประกอบกับต้นทุนทางการเงินในการกู้ยืมลดต่ำลงอย่างชัดเจน จากการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของทาง FED ซึ่งโดยรวมถือเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนในธุรกิจอสังหาฯของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะใช้ในการอยู่อาศัยหรือเพื่อในการลงทุน รวมไปถึงความเชื่อมั่นที่ว่ารัฐบาลสหรัฐจะใช้มาตรการฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น ส่งผลให้สถาบันวิจัยนครหลวงไทยคาดว่าภาพโดยรวมของตลาดอสังหาฯของสหรัฐฯในช่วงต่อจากนี้ไป จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดีมากขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วงเดือนก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าโดยรวมแล้วคงจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญภายในช่วงปี 2552 เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงถือได้ว่ามีความเสี่ยงอยู่สูงในขณะนี้

ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงน้อยกว่าคาด
ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ไปอยู่ที่ระดับ 1.25% ในการประชุมช่วงวันที่ 2 เมษายน2552 โดยเป็นการลดน้อยกว่าความคาดหมายของตลาดที่คาดว่าธนาคารกลางยุโรปจะลดดอกเบี้ยลง 0.5%

ทั้งนี้ สถาบันวิจัยนครหลวงไทยได้ประเมินแนวโน้มการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินของทางธนาคารกลางยุโรปเริ่มจำกัด โดยมองว่าจุดต่ำสุดของระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB จะอยู่ที่ระดับ 0.75-1.0% โดยประเมินว่าส่วนหนึ่งแล้วการที่ ECB มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงน้อยกว่าการคาดการณ์ของตลาด มาจากการที่ภาพโดยรวมของภาคอุปสงค์ในยูโรโซนเริ่มเห็นสัญญาณในการปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านของภาคการบริโภคในยูโรโซนที่มีแนวโน้มดีขึ้น

โดยส่งสัญญาณจากการที่ในเดือนมกราคม 2552 ยอดค้าปลีกของยูโรโซนได้มีการปรับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ระดับ 0.0% mom ประกอบกับสถาบันวิจัยนครลหวงไทยมองว่าทาง ECB ยังคงต้องให้น้ำหนักความสมดุลในการดำเนินนโยบายทางการเงิน ระหว่างประเทศสมาชิกให้เหมาะสม เนื่องจากสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจในแต่ละประเทศสมาชิกที่ค่อนข้างจะมีความแตกต่างกันมาก

ซึ่งส่งผลให้โดยรวมแล้ว มองว่าโดยรวมของระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางยุโรป ใกล้ลงไปอยู่ระดับจุดต่ำสุดแล้ว หลังจากที่ทาง ECB มีการลดอัตราดอกเบี้ยลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2551 โดยคาดว่าภายในช่วงไตรมาส 2/52 ทาง ECB น่าจะมีการตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องอีก 25-50 bps ซึ่งจะส่งผลให้ระดับอัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 0.75-1.0% และหลังจากนั้นคาดว่าจะเป็นการทรงตัวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงปลายปี


กำลังโหลดความคิดเห็น