xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนอย่างไรชีช้ำใจทุกที (2)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จริงๆแล้วหัวข้อนี้เป็นตอนต่อของบทความชื่อเดียวกันตีพิมพ์เมื่อต้นเดือนที่แล้วครับ แต่ผมบังเอิญได้โอกาสสัมภาษณ์เซียนด้านการลงทุนเลยขอแซงไปก่อน 3 ตอนรวด ตอนนี้เลยต้องกลับมาบรรเลงกันต่อ ตอนนี้ดูตลาดหุ้นประเทศอื่นๆเขาเริ่มจะดูดีมีน้ำมีนวลขึ้นบ้าง แต่ท่าทางตลาดหุ้นพี่ไทยเราอาจโดนฤทธิ์ศึกวันแดงเดือดน็อคเอาได้ง่ายๆ
 ช่วงนี้ผมเห็นพี่ๆแม่บ้านกับรปภ.ที่ทำงานหน้าตาแช่มชื่นตื่นตาตื่นใจกับมหกรรมแจกเช็คช่วยชาติแล้ว ก็อดอิจฉาไม่ได้ ไม่นับพวกสมองไวตั้งโต๊ะรับซื้อเช็คเพื่อไปซื้อของต่อก็มี ตามโปรโมชั่นที่ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อจนถึงห้างหรูพากันโหนกระแสช่วยชาติเป็นการใหญ่ ส่วนตัวผมเองล่าสุดนี้ก็งงสุดๆที่เห็นฟู้ดคอร์ทไฮโซมาร่วมแจมกับเขาด้วย ประมาณว่ารับเช็คมาแล้ว ใครอยากหาอะไรหรูๆมาฟาดปากแบบมื้อละสองสามร้อยต่อคนก็ลองดูได้นะครับ เงินจะได้หมุนเวียนออกจากกระเป๋าเราไวๆอย่างที่รัฐบาลท่านตั้งใจเอาไว้
 สำหรับนักลงทุนที่ระหว่างนี้เต้นฟุตเวิร์ครอจังหวะลงทุนอยู่นั้น ผมขอทบทวนความหลังเมื่อเดือนก่อนหน้า ถึง 4 หลักการลงทุนที่น่าจะทำให้ช้ำใจมากกว่าได้ตังค์มาฝาก บวกด้วยข้ออื่นๆต่อจากตอนที่ว่า เผื่อจะได้หลีกเลี่ยงกันไว้ครับ
1) ลงทุนตามแรงเชียร์:คือไม่รู้ว่าทำอะไรกันอยู่ รู้แต่ว่าเพื่อนลงทุน ขอลงทุนด้วย ตะพึดตะพือทำตามเขาไป ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ซึ่งที่เหมาะสมควรที่จะทำความเข้าใจการลงทุนด้วยตัวเอง พร้อมทั้งซักถามเจ้าหน้าที่แนะนำด้านการตลาด หรือผู้วางแผนการลงทุนของบริษัทจัดการต่างๆให้ถ่องแท้ก่อนการลงทุน
2) ลงทุนแบบคลั่งไคล้: มุ่งมั่นลงทุนในหุ้นตัวนี้ตัวเดียว หรือกองทุนนี้กองทุนเดียว โดยไม่ดูพอร์ตการลงทุนหรือผลการดำเนินงานเทียบกับดัชนีเปรียบเทียบหรือเทียบกับผลงานกองทุนอื่นที่มีลักษณะการลงทุนใกล้เคียงกัน
3) ขาดความอึด: การลงทุนที่ดีต้องอาศัยเวลา คือต้องใช้เวลาบ่มกันบ้าง การลงทุนในหุ้นให้ได้กำไรเสมอในสามเดือน หกเดือนนี่ก็เหมือนการเร่งมะม่วงสุกก่อนเวลานั่นแหละครับ มันผิดธรรมชาติ ถึงเวลาสุกมันก็สุกครับ แวะเวียนไปดูบ้างว่ามีแมลงมากัดชอนใชหรือไม่ รดน้ำใส่ปุ๋ยตามสมควร ถึงเวลาก็ได้กิน ไม่ต้องไปเฝ้าเช้าเฝ้าเย็นก็ได้ครับ
 4) ซื้อ ขาย บ่อย:  อาจทำให้เราเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าคอมมิชชั่น หรือค่าธรรมเนียมการขายเยอะ หรืออาจอดได้ผลตอบแทนเวลาหุ้นปรับตัวขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่ง (ซึ่งยากที่จะทราบได้ล่วงหน้า) คือ ขายแล้วรอ ปรากฏว่ายิ่งรอยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นยิ่งไม่กล้าซื้อ จนขึ้นไปอีกเป็นเดือน เป็นปี ก็บอกกับตัวเองว่าทนไม่ไหวแล้วต้องกระโจนเข้าใส่ ราคาก็ตกพอดี เป็นต้น
 5) หาจังหวะการลงทุน หรือที่ในวงการเขาเรียกกันว่า Market Timing คือพยายามหาจังหวะเวลาที่จะซื้อถูกขายแพง ซึ่งถ้าทำกันได้ผลอย่างสม่ำเสมอแล้ว เชื่อว่าผู้จัดการกองทุนคงไม่มารับจ้างบริหารกองทุนให้ท่านหรอกครับ ป่านนี้คงไปนั่งซื้อขายหุ้นเองกันหมดแล้ว โดยจากผลการศึกษาที่มีชื่อเสียงของโลกชิ้นหนึ่งระบุไว้ว่า 94% ของผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นเกิดจากการจัดสัดส่วนการลงทุนระหว่างตราสารประเภทต่างๆมากกว่าการหาจังหวะเวลาในการลงทุนครับ
 6) รอจนกว่าจะเท่าทุน  เป็นความรู้สึกของคนจำนวนมากครับที่รับไม่ได้กับการขาดทุนในหุ้นที่ไม่มีอนาคต และวิธีแก้ปัญหาของคนส่วนใหญ่ คือ อยู่กับความไม่มีอนาคตไปจนกว่าจะได้เห็นหุ้นตัวนี้เจ๊งคาตา นอกจากนี้ยังเสียโอกาสที่จะไปลงทุนในหุ้นตัวอื่นที่มีอนาคตที่ดีกว่าอีกด้วย
 7) ไม่กระจายความเสี่ยง  วิกฤติที่ผ่านมาสอนเราว่า โลกการลงทุนใบนี้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากเหลือเกิน จากที่เคยบอกว่าหุ้นกับสินค้าโภคภัณฑ์ไม่มีความสัมพันธ์กัน จนกระทั่งจับมือกันทำนิวโลว์ทุกวันเมื่อปีที่แล้ว แต่ถึงกระนั้นการกระจายความเสี่ยงในตราสารหลายประเภทก็ย่อมดีกว่ากระจุกตัวกับการลงทุนในตราสารอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว
 8) ใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล  อันนี้อันตรายที่สุดครับเพราะเราเอาความกลัวนำหน้าเหตุผล อย่างการลงทุนในหุ้นเป็นต้น ถ้าทุกครั้งที่หุ้นตกแล้วเราขายทิ้ง ก็เท่ากับลงทุนทีไรก็ขาดทุนทุกครั้ง ไม่นับว่าตอนหุ้นตกก็ไม่กล้าลงทุนเพิ่มอีกต่างหาก ดังนั้น คงต้องสร้างภูมิคุ้มกันด้านจิตใจให้หนักแน่นมองการลงทุนแบบระยะยาวมากกว่าจะมองเฉพาะช่วงสั้นๆครับ

หลังจากรู้แล้วว่าลงทุนอย่างไรจึงชีช้ำใจทุกทีแล้ว ก็ถึงคราวที่จะมาดูว่าจะมีวิธีใดที่จะหลบเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ได้บ้าง

 1) วางแผนการเงินและการลงทุนอย่างเป็นระบบ  โดยปรึกษาผู้ติดต่อด้านการลงทุน หรือถ้าจะเอาแบบเชี่ยวชาญชำนาญเหตุจริงๆก็มองว่าผู้วางแผนการลงทุน หรือผู้ที่มีตัวย่อภาษาอังกฤษว่า CFP ห้อยอยู่หลังชื่อในนามบัตร โดยมาจากคำเต็มว่า Certified Financial Planner ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุน ประกัน และภาษีอากร (คงจะหาได้ค่อนข้างยากในเมืองไทยตอนนี้ เพราะเพิ่งจะมีรุ่นแรก ซึ่งล้วนแต่เป็นรุ่นลายครามในปีนี้นี่เอง) หรืออาจใช้วิธีศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อเป็นกลางประเภทต่างๆเพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการลงทุนของตนเอง
 
 2) มีวินัยในการติดตามผลการลงทุน ไม่จำเป็นต้องตามดูทุกสัปดาห์ หรือทุกเดือนครับ เอาเป็นว่าดูเป็นประจำทุกสิ้นปีก็น่าจะเพียงพอ โดยพิจารณาว่าสัดส่วนการลงทุนความต้องมีการปรับเข้ามาอยู่สัดส่วนเดิมหรือไม่ รวมถึงเทียบผลการดำเนินงานกับดัชนีอ้างอิงและการลงทุนอื่นในลักษณะเดียวกัน
   
  สุขสันต์วันสงกรานต์ล่วงหน้านะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น