xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นระยะยาวอยุธยาปันผล แชมป์LTFด้วยผลตอบแทนเป็นบวก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ในช่วงนี้ เชื่อว่าหลายคงที่ลงทุนทั้งในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) น่าจะได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีไปตามๆ กัน โดยเฉพาะนักลงทุนที่ซื้อช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2551 ที่ได้รับสิทธิลดหย่อยรวมทั้ง 2 กองทุนถึง 1,400,000 บาท ซึ่งจำนวนดังกล่าว น่าจะพอทำให้ใจชื้นขึ้นมาบ้าง จากผลตอบแทนที่ออกไม่ค่อยสวยหรูเท่าไหร่นัก
 แต่สำหรับใครที่ยังไม่ได้ซื้อเอาไว้ ก็ไม่ต้องเสียดายไป เพราะปีนี้ ยังซื้อกองทุนทั้งสองประเภทได้ต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้เอง นอกจากโอกาสที่จะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีแล้ว ยังมีโอกาสได้รับแคปปิตอลเกน (กำไรส่วนต่างจากการปรับขึ้นของหลักทรัพย์) อีกด้วย เพราะตอนนี้ต้องบอกว่าราคาหุ้นในบ้านเราถูกแสนถูก บางตัวลงไปต่ำกว่าพื้นฐานค่อนข้างมาก...ยังไงก็แล้วแต่ การคาดหวังว่าแคปปิตอลเกนจะได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วนั้น คงเป็นไปไม่ได้ แต่หากมองการลงทุนที่กำหนดให้ถือยาวไปถึง 5 ปี หรืออย่างน้อย 3 ปีปฏิทิน ถือว่าคุ้มทีเดียว
 เกริ่นไปเยอะแล้ว มาดูกันบ้างว่า แล้วกองทุนกองไหนน่าสนใจบ้าง...ขอเริ่มต้นกันด้วย กองทุนแอลทีเอฟ เพราะว่าที่ผ่านมา อาจจะประสบกับปัญหาขาดทุนบ้างจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ถือว่าหลายอย่างดีขึ้นในระดับหนึ่ง ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามต่อในคอลมัมน์ "Best of Fund" ฉบับนี้
 สำหรับกองทุนแอลทีเอฟที่ให้ผลตอบแทนเป็นอันดับ 1 ได้แก่ กองทุนเปิดหุ้นระยะยาวอยุธยาปันผล ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด (เอวายเอฟ) โดยผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 2.07% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ถึง 6.17%
  อันดับ 2 กองทุนเปิดหุ้นระยะยาวอยุธยาปันผล 70/30  ของ บลจ.เอวายเอฟ อีก 1 กองทุน พบว่า กองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ 1.28% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์  5.38%
อันดับ 3. กองทุนเปิดอเบอร์ดีนหุ้นระยะยาว ที่บริหารจัดการโดย บลจ.อเบอร์ดีน ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -0.04% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 4.06%
 อันดับ 4. กองทุนเปิดกรุงไทยหุ้นระยะยาว70/30 ของ บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -0.50% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 3.60%
 อันดับ 5. กองทุนเปิดฟิลลิป หุ้นระยะยาว ของบลจ. ฟิลลิป ซึ่งกองทุน ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -0.71% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์  3.39% 
 อันดับ 6. กองทุนเปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์หุ้นระยะยาวปันผล 70/30 ของบลจ. พรีมาเวสท์ ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -1.08% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์  3.02%
 อันดับ 7. กองทุนเปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์หุ้นระยะยาว อีก 1 กองทุนที่บริหารจัดการโดย บลจ.พรีมาเวสท์ โดยกองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -1.50% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 2.60%
อันดับ 8. กองทุนเปิดทุนทวีหุ้นระยะยาว ของบลจ. กสิกรไทย ซึ่งให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -1.63% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์  2.47%
อันดับ 9. กองทุนเปิดแอสเซทพลัสหุ้นระยะยาวทวีกำไร ของบลจ. แอสเซทพลัส ให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่ -1.85% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 2.25%
 อันดับ 10. กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว ภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.บัวหลวง โดยกองทุนให้ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่จัดตั้งกองทุนอยู่ที่-2.00% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ 2.10%
 ทั้งนี้ ผลตอบแทบดัชนีตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นเกณฑ์เทียบวัด ให้ผลตอบแทนย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ -4.10%
เปิดพอร์ตกองทุนอันดับ1
 สำหรับกองทุนเปิดหุ้นระยะยาวอยุธยาปันผล มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 โดยจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลดีและหุ้นที่มีราคาหลักทรัพย์ตามราคาตลาดต่ำถึงปานกลาง และกองทุนจะไม่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) และตราสารหนี้ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปร (Structured Note)
 ส่วนนโยบายเงินปันผล จะจ่ายได้ก็ต่อเมื่อกองทุนมีกำไรสะสมและจะต้องไม่มีผลขาดทุนสะสมขึ้นในงวดปีบัญชีที่มีการจ่ายเงินปันผลนั้น โดย**กองทุนมีประวัติการจ่ายปันผลทั้งหมด 4 ครั้ง คิดเป็นจำนวนเงินปันผลทั้งหมด 2.2400 บาท**
 ทั้งนี้ พอร์ตการลงทุนล่าสุดของกองทุน  (ณ วันที่ 27 ก.พ. 2552) พบว่า หมวดหลักทรัพย์แรกที่ลงทุน ประกอบด้วย หมวดพาณิชย์  30.51% หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  14.96% หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์  14.89% หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  11.31% หมวดธนาคาร  9.62% 
 ในขณะที่ 10 อันดับแรกของหลักทรัพย์ที่ลงทุน (ณ วันที่ 27 ก.พ. 2552) ประกอบด้วย บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  14.96%  บมจ. ซีพี ออลล์  14.28% บมจ.บีอีซี เวิลด์  11.75% บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จํากัด (มหาชน)  8.31% บมจ.สยามแม็คโคร  6.76% บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์  6.34% บมจ.เอ็ม บี เค  6.21% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ CPN รีเทล โกรท  5.10% บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อ  3.67% บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์  3.30%
 
กำลังโหลดความคิดเห็น