หากใครที่ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจโลกในช่วงนี้ เชื่อว่าหลายคน คงยังรอฟังข่าวดีจากฝากสหรัฐอเมริกา ว่าทิศทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรต่อไป ท่ามกลางข่าวร้ายรายวันที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน หลายคนก็ให้ความสนใจข่าวสารการลงทุนเเละทิศทางเศรษฐกิจของประเทศจีนไม่น้อยไปกว่ากัน หลังจากนักวิเคระห์หลายฝ่ายมองว่า เศรษฐกิจจีนจะฟื้นเร็วกว่าสหรัฐฯ...ส่วนแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ไปติดตามกันดูว่าภาพรวมเศรษฐกิจจีนในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน...ได้เปิดเผย ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 ระบุ ขยายตัวเพียง 3.8% เท่านั้น ซึ่งลดลงอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยยอดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 17.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการตอกย้ำผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยของตลาดสำคัญในต่างประเทศ ขณะที่การผลิตของวิสาหกิจรัฐก็ลดลง 1% โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ร่วงแรงถึง 11% จากช่วงเดียวกันในปี 2551
ทั้งนี้ เมื่อปี 2551 ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ชะลอตัวอยู่ที่ 9% เท่านั้น เป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปีที่ตัวเลขจีดีพีลดลงมาเหลือตัวเลขหลักเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าจากจีนลดลง ก่อนหน้านี้ทางธนาคารกลางจีนได้ออกมากระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ ปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทรายย่อยมากขึ้น ซึ่งอัตราปล่อยกู้ยังขยายตัวดี ล่าสุดธนาคารกลางได้ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาธนาคารได้มีการปล่อยกู้ก้อนใหม่มากถึง 1.07 ล้านล้านหยวน (156,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) เป็นตัวเลขมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารตอบรับความต้องการของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณเงินตามความหมายกว้าง หรือ M2 ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ขยายตัวต่อปี ร้อยละ 20.5 สูงกว่าร้อยละ 18.8 ของเมื่อปลายเดือนมกราคม นับเป็นอัตราขยายตัวสูงที่สุดนับแต่ปี 2546
ส่วนสำนักงานศุลกากรจีนระบุตัวเลขการส่งออกของจีนในเดือนกุมภาพันธ์ว่า ยอดการส่งออกตกลงถึง 25.7% และเมื่อคำนวณยอดสองเดือนแรกของปีพบว่าการส่งออกจีน ลดลงถึง 21.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งยอดเกินดุลอยู่ที่ 4,840 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นตัวเลขที่ลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ ที่ตัวเลขนี้อยู่ในระดับมากกว่า 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดเกินดุลจีน ตกลงเกือบครึ่ง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 8,560 ล้านเหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้สำนักศุลกากรยังรายงานยอดนำเข้าจีนเดือนกุมภาพันธ์ ตกลง 24.1% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้กลุ่มนักวิเคราะห์กุมขมับวิตกว่าจีนจะฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไปได้อย่างไร ถึงแม้ว่าจีนได้ระดมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งมโหฬารไปแล้วก็ตาม
การที่เศรษฐกิจจีนที่ขยับขึ้นมาใหญ่เป็นอันดับสามของโลกนั้น เเน่นอนว่าจีนพึ่งพิงการส่งออกอย่างมาก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้โรงงานนับหมื่นในแหล่งโรงงานโลกภาคใต้และแหล่งผลิตในภาคตะวันออก ต้องปิดกิจการ ขณะที่ทางการจีนเผยยอกแรงงานอพยพจากเขตชนบทที่ตกงานไปแล้ว มีมากถึง 20 ล้านคน ขณะที่อัตราเติบโตในไตรมาส4 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 6.8% ซึ่งต่ำกว่าระดับร้อยละ 8 ที่รัฐบาลประเมินว่าจะกระตุ้นการจ้างงานได้เพียงพอ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวายในสังคม
ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ว่าจะใช้งบประมาณถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (5.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ตอนนี้ นักวิเคราะห์หลายคนมองว่านจากตัวเลขการค้าที่สำนักศุลกากรมังกรระบุนั้น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไปนั้น ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็มีสัญญาณที่ดีจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากรายงานตัวเลขการลงทุนในภาคสินทรัพย์ถาวรในเขตชนบท ขยายตัวร้อยละ 26.5 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 นี้ ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสุขภาพของภาคการผลิต และการที่ตัวเลขนี้ สูงขึ้น ก็สะท้อนว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจะออกดอกออกผล ซึ่งตัวเลขการลงทุนในภาคสินทรัพย์ถาวรในจีนนั้น ถูกจับตามองมากที่สุด เนื่องจากมันสะท้อนการใช้จ่ายการคลัง ซึ่งมีความสำคัญมากในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว
ขณะที่ก่อนหน้านี้กรมสถิติของจีนเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคหรือ CPI ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นตัวเลขบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อร่วงลงแตะระดับติดลบ 1.6 % นับเป็นครั้งแรกในรอบ6 ปีที่จีนรายงานเงินฝืด ท่ามกลางความวิตกว่าประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลกจะทรุดหนักในช่วงเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งราคาอาหาร,เครื่องนุ่งห่ม และเชื้อเพลิงซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อก็ลดลงอยู่ที่ 1.9%
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า ได้แสดงความเชื่อมั่นว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้จะสามารถแตะระดับ 8 % อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์มองว่า เงินฝืดอาจเป็นอุปสรรคของเป้าหมายดังกล่าว จากดัชนีเงินเฟ้อที่ลดลงส่งผลให้หลายฝ่ายกังวลความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืด หากอุปสงค์ของผู้บริโภคที่เป็นกำลังหลักลดลงอย่างต่อเนื่อง และอาจไม่บรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามที่คาดการณ์
อย่างไรก็ตาม กรมสถิติจีนได้เผยตัวเลขดัชนีเงินเฟ้อในสองเดือนแรกของปีนี้ ชะลอตัวที่ 0.3 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารแห่งชาติจีนประเมิน ดัชนีเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ อาจขยายตัวที่ 1 % ขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้ผลิต หรือ PPI ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดการขายส่งในเดือนกุมภาพันธ์ก็อ่อนตัวลง 4.5 % ทั้งนี้ ดัชนีเงินเฟ้อที่ทางการจีนได้เปิดเผยเป็นลำดับแรกในชุดข้อมูลต่างๆ นับเป็นสัญญาณแรกที่มีนัยว่าปีนี้จะเกิดเหตุการณ์อะไรต่อไปกับเศรษฐกิจจีนตลอดทั้งปี ที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก แต่เนื่องจากความต้องการสินค้าจากทั่วโลกลดลงในปีที่แล้ว จึงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของประเทศ โดยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว ขยายตัวเพียง 6.8 % ซึ่งหน่วยงานกำหนดนโยบายมองว่าเป็นตัวเลขขั้นต่ำสุดที่เชื่อว่า จะสามารถเลี่ยงตัวเลขการว่างงานที่พุ่งขึ้นรุนแรง และอาจเกิดปัญหาความไม่สงบในประเทศ ขณะที่จีดีพีตลอดปี 2551 ขยายตัวที่ 9 % นับเป็นครั้งแรกที่ร่วงลงสู่เลขตัวเดียวนับตั้งแต่ปี 2545
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจในจีนอาจดูแย่ลง สืบเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญระหว่างสองเดือนแรกของปีนี้ ที่แถลงโดยสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น สะท้อนผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายกว่าที่คาด ได้แก่ ยอดการส่งออกที่ตกฮวบลงไปอีก ร้อยละ 17.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ผลผลิตอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 3.8 ซึ่งเป็นอัตราชะลอตัวลงอย่างแรง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ยอดค้าปลีกซึ่งเป็นมาตรวัดตัวหลักของการใช้จ่ายผู้บริโภค ขยายตัวร้อยละ 15. เทียบกับอัตราร้อยละ 20.2 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่การสำรวจชี้ประชาชนวิตกเรื่องงานอาชีพกันมาก
ขณะที่ธนาคารกลางแถลงว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีการปล่อยกู้มากถึง 1.07 ล้านล้านหยวน (156,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้ สะท้อนให้เห็นว่าธนาคารยังสนองนโยบายรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมกราคมกลุ่มธนาคารได้ปล่อยกู้ 1.6 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ ผู้นำจีนยังเชื่อในศักยภาพการบริโภคในจีน และสัญญาณเศรษฐกิจอื่นๆ ที่สะท้อนว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มจะเห็นผลเเล้ว
โดยกลุ่มนักวิเคราะห์ประเมินว่า สินทรัพย์ 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯในคลังทุนสำรองเงินตราต่างประเทศจีนนั้น ลงทุนอยู่ในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้อื่นๆ ที่ออกโดยองค์กรหน่วยงานในเครือรัฐบาลซึ่ง ปัญหาที่รัฐบาลจีนกลัวมากที่สุดก็คืออัตราว่างงานที่พุ่งสูงขึ้นซึ่งอาจนำไปสู่ความวุ่นวายในสังคม