เอเจนซี--ทางการจีนแถลงยอดเกินดุลการ และยอดส่งออกของจีนประจำเดือนกุมภาพันธ์หดฮวบ สะท้อนจีนเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่อันดับ3 ของโลกนั้น ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกสาหัสกว่าที่คาดคิด
สำนักงานศุลกากรจีนระบุการส่งออกจีนเดือนกุมภาพันธ์ ตกลงร้อยละ 25.7 และเมื่อคำนวณยอดสองเดือนแรกของปี การส่งออกจีน ลดลงร้อยละ 21.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551
ส่วนยอดเกินดุลอยู่ที่ 4,840 ล้านเหรียญสหรัฐ นับเป็นตัวเลขที่ลดลงอย่างน่าใจหาย เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ที่ตัวเลขนี้อยู่ในระดับมากกว่า 39,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และยอดเกินดุลจีน ตกลงเกือบครึ่ง เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 8,560 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำนักศุลกากรยังรายงานยอดนำเข้าจีนเดือนกุมภาพันธ์ ตกลงร้อยละ 24.1
กลุ่มนักวิเคราะห์กุมขมับวิตกว่าจีนจะฝ่ามรสุมเศรษฐกิจไปได้อย่างไร แม้ได้ระดมแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งมโหฬารไปแล้วก็ตาม
“เห็นกันชัดๆแล้วว่ามันเลวร้ายกว่าที่คิดมาก” โรเบิร์ต ซับบาราแมน นักวิเคราะห์ประจำโนมูระ อินเตอร์เนชั่นนัล ในฮ่องกง กล่าว พร้อมชี้ว่าตัวเลขที่ลดไปนี้ สร้างความประหลาดใจแก่ตลาดกันถ้วนหน้า โดยก่อนหน้าพวกเขาคาดว่าการส่งออกจีนจะขยับขึ้นมาร้อยละ 1 แม้ยามวิกฤตเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนซึ่งขยับขึ้นมาใหญ่เป็นอันดับสามของโลกนั้น พึ่งพิงการส่งออกอย่างมาก เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้โรงงานนับหมื่นในแหล่งโรงงานโลกภาคใต้และแหล่งผลิตในภาคตะวันออก ต้องปิดกิจการ
จีนเผยยอกแรงงานอพยพจากเขตชนบทที่ตกงานไปแล้ว มีมากถึง 20 ล้านคน ขณะที่อัตราเติบโตในไตรมาสสี่ปีที่แล้ว อยู่ที่ร้อยละ 6.8 ซึ่งต่ำกว่าระดับร้อยละ 8 ที่รัฐบาลประเมินว่าจะกระตุ้นการจ้างงานได้เพียงพอ และไม่เสี่ยงต่อการเกิดความวุ่นวายในสังคม
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว รัฐบาลประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะใช้งบประมาณถึง 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (5.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) แต่ตอนนี้ ซับบาราแมน ชี้ว่าประเมินจากตัวเลขการค้าที่สำนักศุลกากรมังกรระบุนั้น แผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประกาศไปนั้น ดูจะไม่เพียงพอเสียแล้ว
อย่างไรก็ตาม ก็มีสัญญาณที่ดีจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากรายงานตัวเลขการลงทุนในภาคสินทรัพย์ถาวรในเขตชนบท ขยายตัวร้อยละ 26.5 ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2552 นี้ ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสุขภาพของภาคการผลิต และการที่ตัวเลขนี้ สูงขึ้น ก็สะท้อนว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจ เริ่มจะออกดอกออกผล
ทั้งนี้ ตัวเลขการลงทุนในภาคสินทรัพย์ถาวรในจีนนั้น ถูกจับตามองมากที่สุด เนื่องจากว่ามันสะท้อนการใช้จ่ายการคลัง ซึ่งมีความสำคัญมากในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว
แต่กระนั้นก็ตาม ข่าวดีนี้ก็ไม่ช่วยอะไรมาก เนื่องจากในวันก่อนหน้า(10 มี.ค.) รัฐบาลได้เผยตัวเลขดัชนีผู้บริโภค หรือซีพีไอ ดิ่งเหวติดลบครั้งแรกในรอบ กว่า 6 ปี โดยดิ่งติดลบร้อยละ 1.6 การที่ซีพีไอลดลงเช่นนี้ ได้ความวิตกต่อภาวะเงินฝืดระยะยาว ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคยกเลิกแผนใช้จ่ายลงไปมาก และเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวอุบัติขึ้น จีนก็จะยิ่งประสบความยากลำบากยิ่งขึ้นในการบรรลุอัตราเติบโตที่ ร้อยละ 8 ในปีนี้.