xs
xsm
sm
md
lg

แอสเซทพลัสเชียร์ลงทุนบอนด์เอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ
ASTVผู้จัดการรายวัน - บลจ.แอสเซท พลัส เผย วิกฤตเศรษฐกิจยังพ่นพิษไม่จบ แนะชะลอลงทุนในต่างประเทศ ชูตราสารหนี้เอกชนในประเทศเป็นทางเลือกแทน ย้ำขั้นตอนสกรีนหุ้นกู้ของบริษัทมั่นใจได้ ล่าสุด เปิดขาย-ซื้อคืนรอบใหม่ "แอสเซทพลัสทวีเงินออม 3" รอบการลงทุนนี้ประมาณ 3 เดือน ชูผลตอบแทน 2.20% 
 นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน แอสเซท พลัส จำกัด เปิดเผยว่า มุมมองด้านการลงทุนในปีนี้  บริษัทฯ เห็นว่าควรชะลอการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจาก ยังมีความไม่แน่นอนจากผลกระทบวิกฤตการณ์สถาบันการเงินที่ยังรับรู้ไม่หมด ดังนั้น บริษัทฯ จึงเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตราสารหนี้เอกชนที่ผู้ออกมีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง ซึ่งเริ่มมีซัพพลายทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง
 โดยหลังจากที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ได้ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในไตรมาส 4 ของปี 2551 ที่ปรับตัวลดลงถึง 4.3% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกัน ปี 2550 และตลอดทั้งปี 2551 ได้ขยายตัวเพียง 2.6% ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า อาจมีการปรับทบทวนการคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 2552 ในการประชุมวันที่ 8 เมษายนนี้
 “สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ลงอีกครั้งโดยเหลือเพียง 1% เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจยังคงอ่อนแอ อันเป็นผลมาจากทั้งภาคการส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงความต้องการใช้สินค้าภายในประเทศปรับตัวลดลงด้วย โดยมีสาเหตุมาจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคธุรกิจที่ลดลง” นางสาวจารุลักษณ์ กล่าว
 ขณะเดียวกัน การคัดเลือกตราสารหนี้ ทีมผู้จัดการกองทุนจะมีกรอบวิธีการคัดเลือกผู้ออกตราสาร เพื่อกลั่นกรองคุณภาพของตราสารที่จะลงทุน  โดยจะมีการคัดเลือกผู้ออกตราสารหนี้เบื้องต้น โดยใช้วิธีการวิเคราะห์ด้านปริมาณ เน้นในด้านความเสี่ยงด้านการเงินของผู้ออกตราสารหนี้ เช่น ปริมาณหนี้สิน ภาระดอกเบี้ยจ่าย กระแสเงินสดที่ได้จากการดำเนินงาน ความสามารถในการชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ย และความสามารถในการทำกำไร จากนั้น จะมีการคัดเลือกผู้ออกตราสารหนี้ขั้นสุดท้าย โดยผู้ออกตราสารหนี้ที่ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นแล้ว จะมีการพิจารณาปัจจัย อื่นๆ  เพิ่มเติม โดยใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เช่น แนวโน้มอุตสาหกรรมที่ผู้ออกตราสารนั้นดำเนินธุรกิจอยู่เป็นอย่างไร ความสามารถของผู้บริหาร ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ มีผลกระทบจากกฎระเบียบของราชการที่มีผลทั้งด้านสนับสนุนหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ออกตราสารนั้นอย่างไร สุดท้าย คณะกรรมการการลงทุน จะเป็นผู้พิจารณากรอบการลงทุนในภาพรวม และกำหนดเป็นกลุ่มตราสารหนี้ที่อนุญาตให้ผู้จัดการกองทุนสามารถลงทุนได้ (Securities Universe)
ในส่วนของการออกกองทุนตราสารหนี้ เนื่องจาก บริษัทฯ มีกองทุนตราสารหนี้ประเภท Rollover รองรับความต้องการ ของนักลงทุนอย่างน้อยเฉลี่ย 4 -5 กองทุนต่อเดือน จึงยังไม่มีความจำเป็น ในการออกกองทุนตราสารหนี้ใหม่ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างพิจารณา การนำเสนอกองทุนประเภทใหม่ๆ ที่สร้างโอกาสผลตอบแทนที่จูงใจแก่นักลงทุน โดยจะเสนอขายเมื่อจังหวะการลงทุนเหมาะสม
 นางสาวจารุลักษณ์ กล่าวเพิ่มอีกเติมว่า ในวันที่ 11 มีนาคม นี้ บริษัทฯ จะเปิดขายและรับซื้อคืนใหม่ กองทุนเปิดแอสเซทพลัสทวีเงินออม 3 (ASP-MMF3) โดยผลตอบแทนประมาณการขั้นต่ำที่ 2.20% ต่อปี จากการลงทุนในตั๋วแลกเงินอายุประมาณ 3 เดือน ที่ผู้ออกได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือตั้งแต่ A- ขึ้นไป เช่น  บมจ.เจริญโภคภัณฑ์ (CPF) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) บมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) บมจ.แลนแอนด์เฮาส์ (LH) และบมจ.มาบุญครอง (MBK) เป็นต้น
 สำหรับภาวะการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งปัจจุบันมีส่วนต่างผลตอบแทนตราสารหนี้เอกชน และพันธบัตรรัฐบาลสูงมาก โดยตราสารหนี้เอกชน อันดับความน่าเชื่อถือ A ที่มีอายุคงเหลือ 1 ปี มีส่วนต่างผลตอบแทน ณ เดือนกุมภาพันธ์ สูงถึง 299 basis point ซึ่งจังหวะนี้ถือเป็นจังหวะที่ดีในการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นๆ ที่มีผู้ออกตราสารเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง
กำลังโหลดความคิดเห็น