xs
xsm
sm
md
lg

ก.ล.ต.แจงสถานะกองทุนสำรองฯปี51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงาน ก.ล.ต. รายงานสถานะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพปี 2551 พบมีนายจ้างยกเลิกกองทุนไปทั้งสิ้น 10 ราย ในขณะที่จดทะเบียนจัดตั้งกองทุนใหม่อีก 12 กองทุน โดยส่วนใหญ่ เป็นกองทุน Pool Fund ให้ลูกจ้างเลือกลงทุนได้เอง ล่าสุดมีมูลค่ารวมแล้วกว่า 84,276.50 ล้านบาท จากจำนวน 71 กองทุน

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานการจดทะเบียนและการเลิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา โดยในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ประกาศการเลิกกองทุน ประกอบด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงาน เชริง (กรุงเทพฯ) และเชริง เคมีภัณฑ์ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท โอลิค (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เบ็นไลน์ ไทยแลนด์ กรุ๊ป ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ วงศ์ไพฑูรย์กรุ๊ป ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บีพีอี ซึ่งจดทะเบียนแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลุ่มแบริ่งส์ มินิแบ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท ไทยโฮยาเลนซ์ จำกัด ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2551 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมอร์ริล ลินซ์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2551

ในส่วนของกองทุนที่จดทะเบียนในปี 2551 ประกอบด้วย กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เอชเอสบีซีทวีทรัพย์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไทยพาณิชย์ทุนก้าวหน้า ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทหารไทย World Equity Index ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทหารไทย Emerging Markets Equity Index ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทหารไทย โกลด์ ฟันด์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลุ่มไทยแอร์เอเชีย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บัวหลวงทรัพย์มั่งคั่ง ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัท โฮมโปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2551 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กลุ่มซีพี ออลล์ ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ฟินันซ่า ไลฟ์ ไซเคิล ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2551

ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนที่จดทะเบียนในปี 2551 นั้น จะเห็นว่า มีการจัดตั้งกองทุนในลักษณะของ employee's choice รวมถึงกองทุน Pool Fund มากขึ้น เพื่อให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ส่งเงินสบทบเข้ากองทุนสามารถเลือกลงทุนได้เอง โดยตัวเลขเงินลงทุนล่าสุด ในระบบ Pool Fund มี มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 84,276.50 ล้านบาท จากจำนวนกองทุน 71 กองทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากวิกฤติการณ์ทางการเงินสหรัฐที่เกิดขึ้นจนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงไทยนั้น ได้ส่งผลกระทบทั้งต่อภาคการเงินและภาคการผลิตของประเทศ เป็นเหตุให้นายจ้างหลายราย ต้องการลดอัตราการนำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จนถึงอัตราต่ำสุด และยังมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถรักษาสถานะของบริษัทไว้ได้ ถึงขั้นหยุดนำส่งเงินและแสดงความประสงค์ที่จะเลิกกองทุนด้วย

โดยจากการเปิดเผยของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมบลจ.) ล่าสุด ณ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 มีจำนวนนายจ้างที่ประสงค์จะขอหยุดนำส่งเงินเป็นการชั่วคราวสูงถึง 150 นายจ้าง ทั้งในส่วนธุรกิจผลิตและขายส่ง ผลิตและแปรรูปสินค้าทางการเกษตร ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ขนส่ง ค้าปลีก อาหารและเครื่องดื่ม อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 3,462 ล้านบาท และจำนวนลูกจ้างที่อาจได้รับผลกระทบ 23,256 คน

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฉบับใหม่ (พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2550 (ฉบับที่ 3)) ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2551 ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่ออกจากงาน ไม่ว่าด้วยเหตุเปลี่ยนงานหรือเกษียณอายุ สามารถขอคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ ตามระยะเวลาที่ข้อบังคับของกองทุนนั้นๆ กำหนดไว้ โดยกรมสรรพากรได้มีหนังสือมายังสมาคมบลจ. ว่า เงินกองทุนที่สมาชิกกองทุนได้รับเมื่อออกจากงานไม่ว่าจะเป็นกรณีของสมาชิกที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือกรณีสมาชิกกองทุนเกษียณอายุ อาจยังคงได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นที่เคยได้รับเช่นเดิม ยกเว้นเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังนอกเหนือจากส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้ว จะต้องนำไปคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ จะเป็นผลดีต่อสมาชิกกองทุนที่เกษียณอายุ สามารถขอคงเงินไว้ในกองทุนต่อไปได้โดยไม่ต้องรีบถอนเงินออกจากกองทุนทันทีที่เกษียณ หรือถูกออกจากงานและยกเลิกกองทุน ซึ่งจะช่วยให้มีเวลาพักเงิน รอให้ภาวการณ์ลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนฟื้นตัวก่อน เพื่อให้มีโอกาสสร้างผลตอบแทนในระดับที่ดีขึ้นแล้วจึงค่อยถอนเงินออกไป
กำลังโหลดความคิดเห็น