xs
xsm
sm
md
lg

กองทุนเชื่อตลาดหุ้นจีนยังสดใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธนาคารเอชเอสบีซี เปิดเผยว่า ผลสำรวจความคิดเห็นบริษัทจัดการกองทุนชั้นนำทั่วโลกรอบล่าสุดพบว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มองตลาดหุ้นจีนสดใสขึ้นในไตรมาสแรกปีนี้ ร้อยละ 67 ของผู้จัดการกองทุนที่ร่วมการสำรวจให้น้ำหนักการลงทุนสูงขึ้น เทียบกับร้อยละ 50 ในการสำรวจเมื่อไตรมาส 4/2008 โดยไม่มีรายใดลดน้ำหนักการลงทุนเลย เทียบกับร้อยละ 38 ในการสำรวจคราวก่อน และร้อยละ 33 ยังคงความเห็นเป็นกลาง เพิ่มจากร้อยละ 13

ทั้งนี้ นายมิสบอนนี เท ผู้อำนวยการธุรกิจเอชเอสบีซี พรีเมียร์ การบริหารความมั่งคั่งและกลุ่มตลาดขนาดกลาง ฝ่ายบุคคลธนกิจ ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่มองตลาดหุ้นจีนว่ามีแนวโน้มสดใสมาก โดยคาดว่ารัฐบาลจีนกำลังเร่งออกมาตรการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายใน ประเทศ มุมมองดังกล่าวอาจเกี่ยวเนื่องกับแผนกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่คาดว่าจะให้ผลดีต่อเศรษฐกิจจีนด้วยก็ได้

นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ความเห็นของผู้จัดการกองทุนต่อการลงทุนในตลาดภูมิภาคต่างๆ ในไตรมาสที่ 1/2009 มีสาระสำคัญดังนี้

ตลาดหุ้นจีน (Greater China equities) และตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging markets equities): แม้ว่าผู้จัดการกองทุนจะเห็นว่าตลาดหุ้นจีนมีแนวโน้มสดใสขึ้นมาก แต่หลายคนยังคง “เมิน” ตลาดหุ้นเกิดใหม่ มีเพียงร้อยละ 38 เท่านั้นที่เห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน (ลดลงจากร้อยละ 56 จากการสำรวจคราวก่อน) ร้อยละ 38 เห็นว่าควรลดน้ำหนัก (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 33 ในการสำรวจคราวก่อน)

ตลาดหุ้นเอเชีย-แปซิฟิก (ไม่รวมตลาดญี่ปุ่น): ร้อยละ 44 ของผู้จัดการกองทุนเห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในไตรมาสนี้ (ลดลงจากร้อยละ 56 ในการสำรวจคราวก่อน) ร้อยละ 33 มีความเห็นเป็นกลาง (เทียบกับร้อยละ 22 ที่มีความเห็นเช่นนี้ในไตรมาสก่อน) ขณะที่ผู้จัดการกองทุนที่เห็นควรลดน้ำหนักการลงทุนมีจำนวนเท่ากับการสำรวจในไตรมาสก่อน คือร้อยละ 22

ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา: ผู้จัดการกองทุนที่ร่วมการสำรวจคราวนี้มีความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาแยกออกเป็น 3 กลุ่มโดยกลุ่มที่เห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนักการลงทุน คงน้ำหนักไว้เท่าเดิม และลดน้ำหนักการลงทุนลงมีจำนวนเท่ากัน (เทียบกับการสำรวจในไตรมาส 4/2008 ผู้จัดการกองทุนครึ่งหนึ่งเห็นว่าควรลดน้ำหนักการลงทุน ร้อยละ 30 เห็นว่าควรเพิ่มน้ำหนัก และร้อยละ 20 มีความเห็นเป็นกลาง)

มิสบอนนี เท ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “กองทุนหุ้นที่ลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ทั่วโลกยังคงมีปริมาณเงินทุนไหลออกสูงสุด เนื่องจากหลายฝ่ายยังกังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศที่พัฒนาแล้วอาจทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่หลายแห่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ตลาดพันธบัตรเกิดใหม่ก็ได้รับผลกระทบในทำนองเดียวกัน เพราะเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากปัญหาสินเชื่อตึงตัว ตลาดพันธบัตรยุโรปเป็นตลาดที่มีเงินทุนไหลเข้าสูงสุดในไตรมาส 4/2008 ส่วนหนึ่งมาจากการที่ธนาคารกลางของอังกฤษและอีกหลายประเทศในยุโรปได้ผ่อนคลายกฎระเบียบลงในหลายเรื่อง ส่วนตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา มีเงินทุนไหลเข้าพอสมควร อันเนื่องมาจากนโยบายกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกลางเริ่มประกาศใช้”

นอกจากนี้ ในการสำรวจเมื่อปลายปีที่ผ่านมายังพบว่า ผู้จัดการกองทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับการลงทุนในตลาดหุ้นเพราะราคาและมูลค่าหุ้นในช่วงดังกล่าวน่าสนใจกับการเข้าลงทุน โดยผู้จัดการกองทุนจะหันมาเน้นให้ความสำคัญกับคุณภาพเป็นหลัก ในภาวะที่ตลาดผันผวนและเศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน โดยเลือกลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เราคาดว่าลักษณะเชิงจิตวิทยานี้จะคงอยู่ต่อไปในระยะสั้นและกลาง

ทั้งนี้ บริษัทจัดการกองทุนชั้นนำของโลกรวม 12 แห่ง1 ที่ธนาคารเอชเอสบีซีจัดสำรวจความคิดเห็นเป็นรายไตรมาสนี้ ยังวิเคราะห์ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ (Fund under management: FUM) กระแสเงินลงทุนทั่วโลก (Global money flows) และความเห็นของผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับการลงทุนในตลาดตราสารต่างๆ โดยกระแสเงินลงทุนสุทธิ (Net money flow)2 คำนวณจากความเคลื่อนไหวของปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการ เปรียบเทียบกับความเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดตราสารประเภทเดียวกัน

โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2008 ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทจัดการกองทุน 12 แห่งที่ร่วมในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้อยู่ที่ 3.27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 17 ของประมาณการปริมาณเงินลงทุนที่มีอยู่ทั่วโลก (Total global FUM)3

ผลการสำรวจพบว่าเมื่อสิ้นไตรมาส 4/2008 ปริมาณเงินทุนภายใต้การบริหารจัดการลดลง 295 พันล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงคิดเป็นร้อยละ 8.26 จากไตรมาส 3/2008 โดยกองทุนหุ้นมีปริมาณเงินลดลงสูงสุดถึง 252 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่กองทุนที่ลงทุนในตลาดเงินกลับมียอดเงินสูงขึ้น 83.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และกองทุนพันธบัตรมียอดเงินเพิ่มขึ้น 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น