วานนี้ (4 มี.ค.) ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ได้อนุมัติกรอบการดำเนินการกู้จากต่างประเทศ ตามมาตรการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยขั้นตอนของการกู้เงินดังกล่าว จะยื่นเรื่องขอกู้จากสถาบันการเงินต่างประเทศ 3 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) และไจก้า ซึ่งเรื่องนี้ รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่กำหนดให้ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน
ตามรายงานข่าวระบุว่า กรอบวงเงินกู้ดังกล่าว คาดว่า ครึ่งหนึ่งจำนวน 1,000 ล้านดอลลาร์ จะมาจากธนาคารโลก โดยกระทรวงการคลังจะเริ่มเจรจาขอกู้เงินในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2552 เพื่อนำรายละเอียดกลับมาเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก่อนที่จะรวบรวมรายละเอียดเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ ในช่วงก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคม 2552 โดยคาดว่า สภาผู้แทนราษฎรจะผ่านการพิจารณาได้ในเดือนมิถุนายน 2552 หลังจากนั้น คาดว่า จะสามารถดำเนินการกู้เงินได้ในเดือนกันยายน 2552
ส่วนการกู้เงินจากเอดีบี และ ไจก้า แห่งละ 500 ล้านดอลลาร์ จะดำเนินการในเวลาใกล้เคียงกัน โดยเริ่มการเจรจาขอกู้เงินในเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2552 หลังจากนั้น จะนำรายละเอียดกลับมาเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุม ครม.และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 โดยคาดว่าจะผ่านการพิจารณาภายในเดือนสิงหาคม 2552 และจะสามารถเบิกจ่ายเงินกู้ได้ในเดือนกันยายน 2552
...และอีกมาตรการหนึ่งที่มีการพูดถึงคือ มาตรการการปรับลดภาษีสรรพสามิตลง 3% ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถูกเสนอเข้ามาในการประชุมครั้งนี้เช่นกัน...แต่ในที่สุดแล้ว ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจและนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วยตามข้อเสนอให้ลดภาษีสรรพสามิต 3% เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยมองว่าข้อมูลที่เสนอมายังไม่เพียงพอ จึงได้มอบหมายให้ภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำข้อมูลในภาคสินเชื่อของอุตสาหกรรม ความชัดเจนเกี่ยวกับข้อมูลที่จะช่วยจูงใจให้ประชาชนตัดสินใจซื้อรถยนต์ได้จริง เช่น ลดการวางเงินดาวน์
ซึ่งประเด็นนี้ หลายฝ่ายในที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีความเห็นว่าการที่รัฐบาลจะสนับสนุนภาคเอกชนโดยใช้มาตรการภาษีจะมีความเสี่ยงที่จะสร้างภาระหนี้สินให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น กระทบต่อประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นสัญญาณอันตราย เนื่องจากหากรัฐบาลรับภาระส่วนนี้ไปแล้ว ไม่สามารถประเมินตัวเลขได้ชัดเจนว่าจะมีประชาชนมีกำลังซื้อหรือผ่อนชำระได้มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายจะกระทบต่อวินัยการเงินการคลังและเป็นภาระต่อรัฐบาลได้อีก
...อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการไหนที่รัฐบาลจะเอาเข้ามาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ หากได้ผล แน่นอนว่าย่อมมีผลต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะคนจำนวน 100,599 คน ซึ่งเป็นตัวเลขคนว่างงานล่าสุดที่กระทรวงแรงงานเปิดเผยมา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ที่มีผู้ว่างงาน 5-6 หมื่นคน
เสียงสะท้อนจากนักลงทุน
ประภาส ตันพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยา จำกัด ให้มุมมองต่อแผนกู้เงิน 7 หมื่นล้านในครั้งนี้ว่า ในส่วนของผู้จัดการกองทุนเองไม่ได้ให้น้ำหนักกับข่าวนี้อย่างมีนัยสำคัญ เพราะวงเงินที่รัฐบาลกู้เอง ก็ไม่ใช้วงเงินที่มากพอที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้โดยเร็ว เพียงแต่จะพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุดหนักไปกว่านี้เท่านั้น ขณะเดียวกัน มาตรการนี้ถ้าจะเห็นผล คงเป็นช่วงไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 คงไม่ใช่ครึ่งปีแรกนี้
ส่วนการเสนอให้มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลง 3% นั้น ตนมองว่า รัฐบาลคงไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะส่งผลโดยตรงต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นเรื่องของความไม่มั่นใจ ไม่ใช่เรื่องราคา ดังนั้น ถึงแม้ว่าราคารถยนต์จะลดลงก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะแห่ไปซื้อรถ เพราะส่วนหนึ่งคนไม่มีเงินซื้อ บางคนตกงาน ดังนั้น การลดราคาก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนซื้อเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ ภาคเอกชนได้แสดงความเป็นห่วงเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรณีที่อุตสาหกรรมยานยนต์เสนอภาครัฐขอให้ปรับลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลง 3% นั้น อาจทำให้เกิดความไม่เสมอภาคและไม่เป็นธรรมระหว่างอุตสาหกรรมได้ เพราะวิกฤตครั้งนี้ ไม่ได้มีเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ
และหากรัฐบาลมีการลำเอียงลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ลง ก็เชื่อว่าจะมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ขอลดภาษีสรรพสามิตจากรัฐบาลเช่นกัน อาทิเช่น เครื่องปรับอากาศ และน้ำอัดลม ดังนั้น การลดภาษีรัฐบาลควรพิจารณาภาพรวมมากกว่ามุ่งช่วยเหลืออุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง
อรุณศักดิ์ จรูญวงศ์นิรมล CFA, ผอ.สายงานจัดการกองทุน บลจ.เอสวีบี ควอนท์ ให้ความเห็นว่า แผนกู้เงิน 7 หมื่นล้านในครั้งนี้ จะต้องดู่ก่อนว่ารัฐบาลจะเอาไปใช้ในส่วนไหน ถ้าอนุมัติเพื่อ**กระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ก็ถือว่าเป็นปัจจัยที่ดี และถ้าไปลงทุนให้เกิดการสร้างงาน ก็จะกระตุ้นกำลังพลิตในประเทศให้เงินเกิดการเคลื่อนไหว แต่หากใช้เงินดังกล่าว กับการลงทุนใโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟาสตรักเจอร์) ก็เท่ากับเป็นการใช้เงินไปซื้อของข้างนอก ไม่ใช้การกระตุ้นในประเทศ** อีกปัจจัยคือ ต้องดูว่าอนุมัติแล้วการเบิกจ่ายใช้เวลานานแค่ไหน ถ้าการเบิกจ่ายล่าช้าและใช้เวลานาน ก้อจะไม่เกิดประโยชน์เลย
ในขณะที่ มาตรการแจกเงิน 2,000 บาท ให้กับประชาชนผู้มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทนั้น มองว่า เป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล เพราะเป็นการใช้จ่ายอิสระของประชาชน ซึ่งสามารถนำไปซื้อของนำเข้า หรือของแบรนด์เนมก็ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ จะไม่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยเลย
ด้านสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า มาตรการที่เสนอให้รัฐบาลกู้เงินประกันสังคม เพื่อนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นการนำเงินที่ประกันสังคมมีให้รัฐบาลกู้ยืมไป แต่หลักการที่เราทำอยู่ คือ การลงทุนในพันธบัตรที่รัฐบาลเป็นผู้ออก ซึ่งในช่วงนี้เอง รัฐบาลก็มีพันธบัตรทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อระดมเงิน ซึ่งการที่เราซื้อพันธบัตรรัฐบาลเอง ก็เสมือนหนึ่งการให้รัฐกู้ยืมทางอ้อม ทั้งนี้ จากพอร์ตการลงทุนทั้งหมดประมาณ 500,000 ล้านบาท ของสำนักงานประกันสังคมในปัจจุบัน มีการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไปแล้วถึง 400,000 ล้านบาท และในปีนี้เอง สำนักงานประกันสังคมมี แผนลงทุนเพิ่มอีก 100,000 ล้านบาท ในส่วนนี้จะเป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลถึง 80,000 ล้านบาท ดังนั้น สิ่งที่เราทำให้ปัจจุบัน เท่ากับว่า สำนักงานประกันสังคมให้รัฐบาลกู้เงินอยู่แล้ว